เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 16 ต.ค.2560 กรมชลประทานจะหารืออร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำ รวมทั้งกทม.เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำ ที่ขณะนี้ในส่วนของกรมชลประทานดูแลในเรื่องน้ำในเขื่อน แต่ในส่วนของฝนตกที่ก่อปัญหาอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องของพื้นที่ที่จะรับมือ ในส่วนของกรมชลประทาน ศักยภาพของการระบายน้ำที่ไหลผ่านเจ้าพระยายังมีอยู่มาก
ปัจจุบันความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเกิดจากน้ำรอระบาย โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. เครื่องมือในการระบายน้ำมีน้อยและไม่เพียงพอ และยืนยันหากฝนตกหนักก็จะเป็นเพียงน้ำรอระบาย เพราะระบายไม่ทัน จะไม่ท่วมขังเหมือนปี 2554 เพราะปริมาณน้ำปีนี้แตกต่างจากปี 2554 อยู่มาก
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์ปัจจุบัน กรมชลประทานยังคงการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ไม่เกิน 2,600 ลบ.ม./วินาที หากไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มเติมจะเริ่มลดปริมาณการระบายลงตามลำดับ
โดยปริมาณน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง คลองบางบาลอำเภอบางบาล อำเภอเสนา แม่น้ำน้อย อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 0.50 ถึง 1.00 เมตร
ส่วนในลุ่มน้ำป่าสัก มีระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในอัตราวันละ 30 ล้านลบ.ม. ซึ่งเมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสักแล้ว จะทำให้ปริมาณน้ำให้ไหลผ่านลงสู่ท้ายเขื่อนพระรามหก ประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที
ลักษณะเช่นนี้จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.80 – 1.20 เมตร ทั้งนี้ กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยงข้องในพื้นที่ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
สภาพน้ำในลุ่มน้ำยม ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ Y.37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ วัดได้ 467 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.90 ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และที่สถานีวัดน้ำ Y.14 อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย วัดได้ 459 ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.12 ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานีวัดน้ำ Y.4 อ.เมือง จ.สุโขทัย 231 ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.34 ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สภาพน้ำในลุ่มน้ำชี ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ E.18 อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด วัดได้ 1,085 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.66 ม. มีแนวโน้มทรงตัว และ ที่สถานีวัดน้ำ E.20A อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร 1,434 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.49 ม. มีแนวโน้มทรงตัว
สภาพน้ำในลุ่มน้ำมูล ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ M.182 อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ วัดได้ 1,133 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.25 ม. มีแนวโน้มทรงตัว และที่สถานีวัดน้ำ M.7 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,720 ลบ.ม./วินาที (ความจุลำน้ำ 2,300 ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.70 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว
สภาพน้ำในลุ่มน้ำน่าน ที่สถานีวัดน้ำ N.5A อ.เมือง จ.พิษณุโลก ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.15 ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และที่ สถานี N.7A อ.เมือง จ.พิจิตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.33 ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ N.8A อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.12 ม. มีแนวโน้มทรงตัว