อ่วมอรทัยไปตามๆ กัน กับสถานการณ์อุทกภัย ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา มีสถานการณ์น้ำท่วมเหลืออยู่จำนวน 23 จังหวัด ได้แก่ พะเยา พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย นครสวรรค์ พิษณุโลก ยโสธร ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ศรีสะเกษ มหาสารคาม อุบลราชธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ เลย หนองบัวลำภู ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี สุพรรณบุรี
รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ เกษตรกรรวม 182,885 ราย ได้แก่ ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 35 จังหวัด เกษตรกร 162,258 ราย พื้นที่ 1.45 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1.07 ล้านไร่ พืชไร่ 0.34 ล้านไร่ พืชสวนและอื่นๆ 0.04 ล้านไร่
ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 22 จังหวัด เกษตรกร 10,463 ราย บ่อปลา 12,318 ไร่ กระชัง 3,478 ตร.ม. ปศุสัตว์ ผลกระทบ 16 จังหวัด 10,164 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 325,404 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 26,037 ตัว สุกร 11,592 ตัว แพะ-แกะ 5,144 ตัว สัตว์ปีก 287,690 ตัว
ส่วนความคืบหน้าการช่วยเหลือเยียวยา ครัวเรือนละ 3,000 บาท 43 จังหวัด โดยเกษตรกรยื่นความจำนงแล้ว 1,864,965 ครัวเรือน ผ่านการพิจารณาระดับจังหวัด 1,661,318 ครัวเรือน วงเงิน 4,983.95 ล้านบาท หรือ 89% อนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกร 561,485 ครัวเรือน วงเงิน 1,684 ล้านบาท โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 538,011 ครัวเรือน 1,614 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง และกรมปศุสัตว์ จัดทำรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเน้นการสร้างอาชีพให้เกษตรกร
หลังสรุปยอดผลกระทบจากน้ำท่วมทั่วประเทศว่า ความเสียหายของพื้นที่และเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วมมีเท่าใด หากสรุปยอดทั้งหมด กระทรวงเกษตรฯจะรวบรวมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อของบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนพ.ย.2560 นี้
เบื้องต้นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการจ้างงาน 2.มาตรการเงินกู้ฉุกเฉิน 3.มาตรการส่งเสริมปัจจัยการผลิต รวมถึงเมล็ดพันธุ์ข้าว 4.มาตรการลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้ 5.มาตรการช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ หากหน่วยงานใด ดึงงบประมาณประจำเพื่อออกมาช่วยเหลือ ก็ให้ใช้งบ ดังกล่าวได้ทันที เพื่อช่วยเหลือได้ทันท่วงที หากมีงบ ไม่เพียงพอ ก็ขอครม.เพื่อขออนุมัติงบกลางต่อไป
ส่วนแนวทางช่วยเหลือของกระทรวงพาณิชย์ต่อภาคธุรกิจนั้น อยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจ การค้า ได้ออกมาตรการช่วยเหลือใน 19 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคกลาง และอีสาน รวมถึงเขตประสบพิบัติภัยน้ำท่วมอื่นๆ เพิ่มเติม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. – 31 ธ.ค. 2560
ประกอบด้วย 1.ผ่อนผันการแจ้งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบัญชี พ.ศ.2543 กำหนดให้แจ้งภายใน 15 วันนั้น ก็ผ่อนผันให้สามารถยื่นล่าช้า และสามารถใช้เป็นหลักฐานกรณีถูกเรียกตรวจบัญชีได้ ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถแจ้งบัญชีและเอกสารที่ใช้ลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permit) ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th
2.ผ่อนผันการยื่นจดทะเบียนของนิติบุคคล ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ยื่นล่าช้าได้ 3.ผ่อนผันการยื่นงบการเงินประจำปี สำหรับธุรกิจที่มีหน้าที่ต้องยื่นงบฯ ต่อสำนักงานกลางบัญชีในช่วงที่เกิดอุทกภัย โดยยื่นล่าช้าได้
4.จัดตั้งศูนย์บริการรับจดทะเบียน ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นขอจดทะเบียนให้กับนิติบุคคล ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ใน 19 จังหวัด ที่ประสบอุทกภัย
กรมการค้าภายในประสานห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ จัดหาสินค้าให้มีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน และกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง และให้มีการจำหน่ายสินค้าในราคาเดิม รวมทั้งพาณิชย์จังหวัดออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด
สำหรับมาตรการรองรับภายหลังน้ำลด ได้ประสานผู้ผลิตผู้จำหน่าย และผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ให้จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้มีการ กระจายสินค้าอย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการ และขอความร่วมมือห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ จัดกิจกรรมลดราคาสินค้าเป็นพิเศษในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม
นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูก เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย จึงได้เตรียมจัดรถจำหน่ายสินค้าธงฟ้าเคลื่อนที่ (Mobile Unit) เพื่อนำสินค้าอุปโภคบริโภค ไปจำหน่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลังน้ำลด
รวมทั้งในการกำกับดูแลสถานการณ์ราคาสินค้า โดยสั่งให้มีสายตรวจออกตรวจสอบประจำทุกสัปดาห์ เพื่อป้องปรามไม่ให้จำหน่ายราคาสูงเกินสมควร และให้ปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน
กระทรวงการคลังเสนอมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 เพิ่มเติมจากที่ผ่านมามีมาตรการ 2 มาตรการ คือ 1.การบริจาคที่ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้ 1.5 เท่าของเงินบริจาค ซึ่งเดิมมาตรการนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.2560 ก็ได้มีการขยายระยะเวลาออกไป จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2560
2.มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหา ริมทรัพย์ ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ในระหว่างวันที่ 5 ก.ค.2560 ถึง 31 ธ.ค.2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน 1 แสนบาท และมาตรการยกเว้นภาษี สำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติในระหว่างวันที่ 5 ก.ค.2560 ถึง 31 ธ.ค.2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 3 หมื่นบาท
ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยพบว่า มีพื้นที่ 23 จังหวัด แต่ในขณะนี้ได้คลี่คลายลงแล้ว 6 จังหวัด ยังเหลืออีก 17 จังหวัด ที่ยังประกาศให้เป็นเขตประสบสาธารณภัย
ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เตรียมวงเงิน 500 ล้านบาท สำหรับจัดทำโครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2560 จำนวน 6 มาตรการ เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคารถูกน้ำท่วม จะลดภาระดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ โดยปลอดดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 3 เดือนแรก
ส่วนลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่อาคารหรือบ้านได้รับความเสียหาย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมโดยคิดดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี เป็นต้น
ส่วนธนาคารออมสินดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยมาตรการบรรเทาภาระสินเชื่อให้ลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นกรณีเร่งด่วน 5,000 ล้านบาท 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.พักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี หรือ 2.พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยอีก 50% ไม่เกิน 3 ปี หรือ 3.พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามมาตรการหลักๆ ยังไม่ได้ออกมาให้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากนัก คงต้องรอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เริ่มลงไปสำรวจพื้นที่น้ำท่วม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นมาที่ นายกฯ หรือครม.
จากนั้นคงมีมาตรการช่วยเหลือแบบชุดใหญ่ ตามมา