เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

ชธ.เตรียมพร้อมรีวิวแก๊สแพลน รอแผนพีดีพี-2 แหล่งก๊าซชัดเจน หลังปี’79 ต้องนำเข้า LNG ถึง 90%

กรมเชื้อเพลิงรอความชัดเจนแผนพีดีพีและผลประมูล 2 แหล่งก๊าซในอ่าวไทยก่อนทบทวนแผนบริหารจัดการก๊าซ 20 ปีใหม่ รองรับกำลังการผลิตในประเทศลดต้องพึ่งพาแอลเอ็นจี เผยหลังปี 2579 ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีถึง 90%

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ 20 ปี (แก๊สแพลน 2015) ที่จะต้องมีการปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต่างๆ ให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการใช้ในอนาคต โดยจะต้องรอผลสรุปและความชัดเจนของการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2015) ก่อน จึงจะเดินหน้าปรับแก๊สแพลนต่อไป ขณะเดียวกันต้องรอความชัดเจนจากผลการประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย คือ เอราวัณและบงกช ว่าผู้ชนะการประมูลจะสามารถรักษากำลังผลิตก๊าซไว้ที่ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามเดิมได้หรือไม่

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามความต้องการใช้พลังงานในอนาคตจะเปลี่ยนไปตามกระแสของโลก โดยความต้องการใช้พลังงานจากฟอสซิล (อีอี) มีแนวโน้มลดลง ขณะที่การใช้พลังงานทดแทน (อาร์อี) จะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงด้วย โดยเฉพาะไทยที่ก๊าซในประเทศมีปริมาณลดลงทำให้ต้องหันไปพึ่งแอลเอ็นจี คาดว่าช่วงปลายแผนพีดีพีคือ พ.ศ.2579 สัดส่วนการผลิตจากก๊าซธรรมชาติของไทยจะแค่ 10% และต้องนำเข้าแอลเอ็นจีถึง 90% หรือคิดเป็น 35 ล้านตันต่อปี ทำให้ภาครัฐต้องจัดทำแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้นและต้องจัดทำแผนเปิดเสรีการนำเข้า

“จากการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการก๊าซจะต้องสอดคล้องกับมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้เหมาะสมด้านราคาและปริมาณ รองรับการแข่งขันในกรณีที่มีผู้จัดหาและผู้นำเข้าหลายราย โดยแผนเร่งด่วนมาก คือภายในปีนี้จะแต่งตั้งบุคลากรเพื่อบริหารจัดการแอลเอ็นจีอยู่ภายใต้การทำงานของ ชธ.” นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปจะมีทั้งแผนเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว โดยในระยะเร่งด่วน คือภายในปี 2561 จะกำหนดสัดส่วนของระยะสัญญาแอลเอ็นจีในประเทศไทย เพื่อพิจารณาราคาที่เหมาะสม เกิดความมั่นคงและสนับสนุนการเปิดเสรี กำหนดเพดานราคาการจัดหาแอลเอ็นจีระยะสั้น (สปอต) ทดแทนการอ้างอิงราคาน้ำมันเตา กำหนดหลักเกณฑ์เปรียบเทียบเพื่อให้มีการอนุญาตนำเข้าสปอตในกรณีที่มีผู้นำเข้าหลายราย กำหนดเพดานราคาควบคุมในการนำเข้าแอลเอ็นจีและกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาและเปรียบเทียบในการนำเข้าแบบสัญญาระยะกลางและระยะยาว ส่วนแผนระยะกลาง ภายในปี 2563 กพช. ตั้งเป้าว่า จะต้องมี พ.ร.บ.บริหารจัดการแอลเอ็นจี พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการจัดตั้งแอลเอ็นจี และจัดตั้งกองบริหารจัดการแอลเอ็นจีภายใต้ ชธ.ให้แล้วเสร็จต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน

Related Posts