เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

นำร่องแยกทิ้ง 5 ขยะอันตราย เก็บ-กำจัดเป็นที่เป็นทางปลอดภัย

ประชารัฐร่วมใจแยกทิ้งขยะอันตราย “แบตเตอรี่มือถือ ซากโทรศัพท์มือถือ ถ่านไฟฉาย หลอดฟลูออเรสเซนต์ และภาชนะปนเปื้อน” คพ.จับมือ กทม.-เอกชน อำนวยความสะดวกเพิ่มช่องทางแยกทิ้ง

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คพ.ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยนายชาตรี วัฒนเขจร รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกันเปิดตัวโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แนวทาง “ประชารัฐร่วมใจแยกทิ้งขยะอันตราย” และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน ณ อุทยานเบญจสิริ กรุงเทพมหานคร

นางสุณีกล่าวว่า โครงการ “ประชารัฐร่วมใจ แยกทิ้งขยะอันตราย” เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เช่น ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเป้าหมายในการเพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ กทม.สามารถแยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชน ซึ่งนำร่อง 5 ประเภท ได้แก่ แบตเตอรี่มือถือ ซากโทรศัพท์มือถือ ถ่านไฟฉาย หลอดฟลูออเรสเซนต์ และภาชนะปนเปื้อนที่เป็นอันตราย อาทิ กระป๋องสเปรย์และนำไปทิ้งที่จุดทิ้งของเสียอันตราย เพื่อให้ กทม.เก็บรวบรวมนำไปกำจัดอย่างถูกต้องซึ่งขยะอันตรายเหล่านี้ หากทิ้งรวมกับขยะทั่วไปและได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกวิธีและเกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม อาจส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นางสุณีกล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย 1. คพ. 2. กทม. และ 3. หน่วยงานภาคเอกชน 11 องค์กร ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด, บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และสมาคมศูนย์การค้าไทย

อธิบดี คพ.กล่าวว่า นโยบายในด้านการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน หลักการจัดการคือ ขยะอันตรายต้องมีการเพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการแยกทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชน ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการตั้งแต่การแยกทิ้ง ไม่ทิ้งรวมกับขยะทั่วไป มีจุดรับทิ้งของเสียอันตรายมีการรวบรวม ขนส่ง และนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนในการบริหารจัดการของเสียอันตราย ขยายจุดทิ้ง (Drop off) ในปีต่อๆ ไปและครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินโครงการตามแนวทาง “ประชารัฐร่วมใจ แยกทิ้งขยะอันตราย” ได้เริ่มต้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผู้ที่ประสงค์จะแยกทิ้งขยะอันตราย สามารถนำของเสียอันตรายไปทิ้งได้ ณ จุดที่กำหนด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2560

Related Posts