สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้กับกลุ่มพี่เลี้ยงที่จะเป็นผู้ดูแลหมอจิ๋ว ในโครงการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยหมอจิ๋ว จังหวัดสระแก้ว
ดร.ศศินันท์ วาสิน พยาบาลชำนาญการพิเศษ สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน เผยว่า การอบรมในครั้งนี้มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้อาสาสมัครผู้ดูแลและส่งเสริมสุขภาพประชาชนในชุมชน ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลหมอจิ๋ว ในโครงการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยหมอจิ๋ว ซึ่งพี่เลี้ยงหมอจิ๋วจะมีบทบาทในการออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชนร่วมกับหมอจิ๋วและพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คอยให้ความช่วยเหลือ แนะนำ และประเมินผลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน และสำหรับพื้นฐานของการสร้างสุขภาพที่ดีก็คือเรื่องของอาหารการกิน
“กินเท่าไหร่ถึงพอดี” ขั้นตอนแรกต้องจัดตัวเองว่าอยู่ในคนกลุ่มใดก่อน เพื่อดูว่าควรกินอาหารให้ได้รับพลังงานทั้งวันในปริมาณเท่าใด 1. พลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี สำหรับเด็ก หญิงวัยทำงาน และผู้สูงอายุ 2. พลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี สำหรับวัยรุ่น และชายวัยทำงาน 3. พลังงาน 2,400 กิโลแคลอรี สำหรับผู้ที่ใช้พลังงานมาก เช่น นักกีฬา เกษตรกร กรรมกร ต่อจากนั้นมาดูว่ากินอย่างไรให้สมดุล ปริมาณพอดี ซึ่งต้องดูจากปริมาณอาหารในแต่ละกลุ่ม 1. กลุ่มข้าว-แป้ง ควรได้รับวันละ 8 – 12 ทัพพี แต่ต้องกินให้เหมาะกับความต้องการพลังงานของตัวเอง เช่น หญิงวัยทำงาน วัยทอง หรือสูงอายุ ควรกินวันละ 8 ทัพพี ชายวัยทำงานวันละ 10 ทัพพี และถ้าใช้พลังงานมากก็กินได้ถึงวันละ 12 ทัพพี อาหารกลุ่มนี้รวมถึง ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน ขนมปังและขนมทั้งหลายที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ 2. กลุ่มผัก ผู้ใหญ่ควรกินผักวันละ 6 ทัพพี เด็กวันละ 4 ทัพพี ควรหมุนเวียนชนิดของผักและเลือกกินผักที่ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง 3. กลุ่มผลไม้ ควรทานผลไม้หลังอาหารทุกมื้อและระหว่างมื้อเมื่อหิว รวมแล้วควรได้ผลไม้วันละ 3 – 5 ส่วน ของอาหารต่อวัน 4. กลุ่มเนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง ควรเลือกทานเนื้อสัตว์เล็ก เช่น ปลา ไก่ เพราะไขมันต่ำปริมาณอาหารกลุ่มนี้คือ 6 – 12 ช้อนกินข้าวต่อวัน ปริมาณอาหารที่เทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ 1 ช้อนกินข้าว คือ เต้าหู้ขาวแข็ง ¼ ก้อน เต้าหู้ขาวหลอด ½ หลอด ไข่ ½ ฟอง ปลาทู ½ ตัว เป็นต้น 5. นม เด็กๆ ควรดื่มนมจืดวันละ 2 – 3 แก้ว สำหรับผู้ที่ไม่ดื่มนมวัวควรดื่มนมถั่วเหลืองเพราะให้ปริมาณโปรตีนใกล้เคียงกัน แต่ควรเพิ่มการบริโภคปลาเล็กปลาน้อยและผักใบเขียวเข้มเพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ
นอกจากอาหารกลุ่มหลักแล้วควรควบคุมปริมาณเครื่องปรุงรส เช่น ปริมาณน้ำตาลต่อวันไม่เกิน 4 ช้อนชาสำหรับเด็ก และ ผู้ใหญ่ 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 65 กรัมหรือไม่เกิน 16 ช้อนชา น้ำปลา เกลือ(โซเดียมให้รสเค็ม) 2,300 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา