นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองตาพลาย อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ว่า อ.สอยดาว ประกอบด้วย 5 ตำบล มีพื้นที่รวม 770 ตร.กม. ประชากร 65,000 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำสวนลำไย นอกจากนี้ ยังมีการขุดหลุมขนมครกในพื้นที่เกษตรกรรมของแต่ละครัวเรือนปัญหาที่พบคือ ยังขาดแคลนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในการอุปโภคบริโภค โดยในปี 2559 อ.สอยดาว ประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองตาพลาย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของประชาชนในเขต อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ตั้งแต่ ปี 2540 แต่เนื่องจากพื้นที่โครงการมีน้ำท่วมบางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวซ้อนทับป่าสงวนแห่งชาติเขาสอยดาว กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ของโครงการ ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าว โครงการอ่างเก็บน้ำคลองตาพลายมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2549
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ขอใช้พื้นที่เพื่อเข้ากันเขตเมื่อปี 2555 พร้อมยื่นคำขอใช้พื้นที่ป่า แต่เนื่องด้วยรายงาน IEE ที่ได้จัดทำไว้เป็นเวลานานแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงขอให้ทบทวนการจัดทำรายงาน IEE อีกครั้ง
สำหรับในปี 2561-2562 กรมชลประทานได้มีการวางแผนทำการศึกษา IEE อีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง โดยจะบูรณาการทำงานร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อผลักดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (ปี 2563-2565) ดำเนินการก่อสร้างที่หมู่ 1 ต.ประตง และ หมู่ 5 ต.ทรายขาว อ.สอยดาว มีพื้นที่ใช้ก่อสร้างโครงการทั้งหมดประมาณ 510 ไร่ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติเขาสอยดาว 470 ไร่ ซึ่งจะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ 5.09 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภค และส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก 2,000 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด ให้ประชาชนทำการประมงเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย
ที่มา : มติชนออนไลน์