เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

‘นมเปรี้ยว’ เพิ่มภูมิคุ้มกันหวัดใหญ่เสริมการใช้วัคซีน 100 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่สถาบันโภชนาการ ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม  อาจารย์ประจำหลักสูตรพิษวิทยา และโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ผลการศึกษานมเปรี้ยวมีผลต่อการเสริมภูมิต้านทานโรคไข้หวัดใหญ่หรือไม่” ว่า  โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก ซึ่งการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้น องค์การอนามัยโลกประกาศออกมาว่า แนวทางป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การใช้วัคซีน โดยวัคซีนหลักๆมีอย่างน้อย 3 ชนิด คือ 1.ป้องกันชนิด A สายพันธุ์ H1N1 2. H3N2  และ3.ไวรัสชนิด B  ซึ่งแต่ละปีจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนเหล่านี้จะป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ก็ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งในสหรัฐอเมริกา มีการติดตามผลผู้ที่ได้รับวัคซีนว่า มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทราบว่ามีปัจจัยหลายชนิดมีผลต่อการตอบสนองหลังการรับวัคซีน ทั้งปัจจัยด้านโภชนาการ การสูบบุหรี่ การใช้ยาสเตียรอยด์

ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาอัตราการตอบสนองจากวัคซีน แต่ก็มีคำถามว่า หากผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์จะมีวิธีไหนที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคร่วมกับการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้บ้าง  สถาบันโภชนาการ ได้ศึกษา โพรไบโอติกส์ (probiotics)  ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ พบในอาหารหลายชนิด เช่น นมเปรี้ยว         โยเกิร์ต (yogurtและ เนยแข็ง   เป็นต้น ซึ่งประโยชน์ของโพรไบโอติกส์มีหลายอย่าง ทั้งการปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ กระตุ้นการขับถ่าย ตลอดจนเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งโพรไบโอติกส์ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์ หากมีตรา อย.ถือว่าผ่านการรับรอง

ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวว่า  ทีมนักวิจัยจาก  สถาบันโภชนาการ คณะเวชศาสตร์เขตร้อนและศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ทำการศึกษาวิจัยในคนเกี่ยวกับประสิทธิผลของนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์คือจุลินทรีย์แลกโตบาซิลัส พาราคาเซอิ 431 (Lactobacillus Paracasei 431) ต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ไข้หวัดใหญ่ และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยแล้วในวารสาร Journal of Functional Food ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่เผยแพร่งานวิจัยด้านอาหารสุขภาพโดยผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากนักวิชาการ โดยทีมวิจัยได้ทดลองทางคลินิก ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ทำการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 60 คน  อายุตั้งแต่ 18-45  ปี    แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 30 คน โดยกลุ่มหนึ่งได้รับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ อีกกลุ่มได้รับนมแต่งกลิ่นรสที่ไม่มีโพรไบโอติกส์ ซึ่งอาสาสมัครจะไม่ทราบว่าได้รับนมกลุ่มไหน

อาจารย์สถาบันโภชนการ กล่าวอีกว่า โดยการวิจัยครั้งนี้ เพื่อต้องการศึกษาว่า หากดื่มนมโพรไบโอติกส์เพิ่มเติม นอกเหนือจากการรับวัคซีนจะยิ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้มากขึ้นหรือไม่ โดยทีมวิจัยให้อาสาสมัครรับประทานนมตามกลุ่มที่แบ่งไว้ 2 ช่วง คือ ให้ดื่มนมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนรับวัคซีน และให้รับประทานต่ออีก 4 สัปดาห์หลังรับวัคซีน โดยให้รับประทานนมเปรี้ยวทุกวัน วันละ 1 ขวดในปริมาณ 150 ซีซี   โดยระหว่างนี้อาสาสมัครทุกคนงดรับประทานอาหารอื่นที่มีโพรไบโอติกส์   ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการเจาะเลือดเพื่อวัดภูมิคุ้มกันตั้งแต่ก่อนรับนมเปรี้ยว หลังรับนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์ (ก่อนรับวัคซีน) หลังรับวัคซีน 4 สัปดาห์ และหลังหยุดรับนมเปรี้ยว 2 สัปดาห์  เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยการตรวจภูมิคุ้มกันได้ส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเทคนิค hemagglutination inhibition (HI)

“ จากผลการวิจัยพบว่า ในอาสาสมัครที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (ค่า HI titer น้อยกว่า 40) หากได้รับวัคซีนร่วมกับรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ จะมีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ (seroconversion rate) ต่อเชื้อ H1N1 และ H3N2 สูงกว่ากลุ่มที่รับนมที่ไม่มีโพรไบโอติกส์ นอกจากนี้ สำหรับเชื้อ H3N2 ซึ่งมักพบว่า วัคซีนไม่ค่อยได้ผลนั้น การวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ในคนที่มีภูมิอยู่แล้ว การรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ช่วยให้อัตราการตอบสนองต่อวัคซีนต้านไวรัส H3N2  เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า อีกด้วย  อย่างไรก็ดี เนื่องจากอาสาสมัครกลุ่มนี้มีการตอบสนองต่อวัคซีนต้านไวรัส Flu-B สูงอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการได้รับหรือไม่ได้รับโพรไบโอติกส์ต่อภูมิคุ้มกันต้านไวรัสชนิด B” ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า อาสาสมัครที่รับนมเปรี้ยวร่วมกับการฉีดวัคซีนทั้ง 3 ชนิดมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นทั้งหมดในอัตราเท่าไหร่ ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวว่า  สำหรับกลุ่มที่รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด H1N1 ที่รับนมเปรี้ยวไม่มีโพรไบโอติกส์ มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ถึงร้อยละ 60 แต่กลุ่มที่รับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันสูงกว่าร้อยละ 80  ส่วนกลุ่มที่รับวัคซีนที่ต่อต้านเชื้อ H3N2 ที่รับนมเปรี้ยวแบบไม่มีโพรไบโอติกส์มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ  60 เปอร์เซ็นต์ แต่หากรับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์จะมีอัตราการตอบสนองหรือการสร้างภูมิคุ้มกันสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์  แต่น่าสนใจว่า สำหรับกลุ่มที่ก่อนฉีดวัคซีนไม่มีภูมิคุ้มกัน และเมื่อรับนมเปรี้ยวและฉีดวัคซีน จะมีภูมิเพิ่มขึ้น  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จะได้ผลดีกับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน   ส่วนชนิด B พบมากในประเทศไทย ซึ่งการฉีดวัคซีนอย่างเดียวค่อนข้างได้ผลดี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับโพรไบโอติกส์ก็ไม่แตกต่างมาก แสดงว่ากลุ่มนี้มีภูมิมาก่อน จึงเสริมกับผลการศึกษาที่เป็นไปได้ว่า หากมีภูมิคุ้มกันก่อนอาจไม่สร้างเพิ่มมากนัก แต่หากไม่มีภูมิคุ้มกันจะช่วยเพิ่มภูมิใหม่ได้ดีกว่า

อาจารย์สถาบันโภชนาการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีรายงานการวิจัยในต่างประเทศซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติพบว่า โพรไบโอติกส์จุลินทรีย์ชนิดอื่น เช่น Lactobacillus acidophilus NCFM และ Bifidobacterium animalis subsp lactis Bi-07 ก็ให้ผลช่วยลดอาการไข้ คัดจมูก และลดจำนวนวันที่ป่วยด้วยไข้หวัดในเด็กและผู้ใหญ่สุขภาพดีได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระวัง คือ โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตจึงอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยหนักเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือคนที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ และโรคเอดส์ระยะที่แสดงอาการ และไม่ควรใช้เลี้ยงทารก

 

ที่มา : มติชนออนไลน์

Related Posts