ม.หอการค้าไทย เปิดผลสำรวจการใช้จ่ายช่วงวันมาฆบูชา เงินสะพัด 2.5 พันล้านบาท ติดลบครั้งแรกในรอบ 3 ปี ชี้กิจกรรมเดินทาง ท่องเที่ยว กลับบ้านลดลง เนื่องจากไม่หยุดต่อเนื่องหลายวัน ส่วนยอดทำบุญสูงสุดรอบ 8 ปี เชื่อส่งสัญญาณกำลังซื้อจะฟื้นตัวดีไตรมาส 2 และชัดเจนครึ่งปีหลัง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 1 มีนาคม 2561 โดยสำรวจประชาชน 1,232 ราย ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 75.6% เห็นว่ากิจกรรมวันมาฆบูชาปีนี้ความคึกคักไม่เปลี่ยนแปลง อีก 14% เห็นว่าคึกคักมากขึ้น เนื่องจากมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น มีสถานที่จัดงานมากขึ้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐและเศรษฐกิจแย่คนเลยทำบุญ ขณะที่ 10.4% เห็นว่าคึกคักน้อยลง เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจแย่ลง ราคาสินค้าแพงขึ้น มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มีหนี้สินเพิ่มขึ้น และขาดสภาพคล่องทางการเงิน
นายธนวรรธน์กล่าวว่า โดยประเมินว่าการใช้จ่ายวันมาฆบูชาต่อคนอยู่ที่ 1,625 บาท และมูลค่าเงินสะพัดรวมของกิจกรรมวันมาฆบูชา รวม 2,587 ล้านบาท ติดลบ 18.67% ซึ่งติดลบครั้งแรกในรอบ 3 ปี แต่อย่างไรก็ตาม หากแยกเป็นกิจกรรมพบว่า การทำบุญ จะมีเงินสะพัด 2,070 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี จากที่ได้ทำสำรวจมา และขยายตัว 4.79% แต่กิจกรรมเดินทาง/ท่องเที่ยว/กลับบ้าน สะพัด 214.42 ล้านบาท และติดลบ 74.17% และกิจกรรมอื่นๆ สะพัด 302 ล้านบาท ติดลบ 19.40%
“สาเหตุที่กิจกรรมท่องเที่ยวและอื่นๆ ลดลงเนื่องจากวันมาฆบูชาปีนี้มีวันหยุดแค่ 1 วัน และไม่หยุดต่อเนื่องเหมือนปี 2559 และ 2560 ที่มีเงินสะพัดเป็นบวก 39.14% และ 19.41% ดังนั้นหากมีวันหยุดยาวต่อเนื่องเหมือน 2 ปีก่อน จะเกิดบรรยากาศท่องเที่ยวและใช้จ่ายเงินมากกว่าขึ้น จึงไม่เห็นสัญญาณการติดลบเป็นเรื่องผิดปกติ แต่สะท้อนว่าคนเริ่มมองเศรษฐกิจดีขึ้นดูจาก 80% ระบุใช้จ่ายเงินซื้อของทำบุญ เชื่อว่ากำลังซื้อจะฟื้นตัวดีในไตรมาส 2 และชัดเจนในครึ่งปีหลัง ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ 4.4% และการใช้จ่ายโตได้ 4.8%” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า กิจกรรมที่ประชาชนตั้งใจทำในปีนี้ อันดับแรกคือ ไม่เกินเนื้อสัตว์ ปฏิบัติวิปัสสนา และไม่ฆ่าสัตว์ ส่วนกิจกรรมที่จะทำในวันมาฆบูชา อันดับแรกคือ ทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน ซึ่งปีนี้นิยมไปวัดอรุณราชวรารามฯพุทธมณฑล และวัดพระปฐมเจดีย์ พระธาตุดอยสุเทพ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพนัญเชิง วัดกลาง เป็นต้น รวมถึงยังคงซื้อสังฆภัณฑ์ ซึ่งพบว่าแหล่งซื้อปีนี้สั่งผ่านออนไลน์และค้าปลีกขนาดใหญ่มากขึ้น จากปีก่อนจะซื้อในบริเวณวัด และตลาดทั่วไป
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เมื่อได้สอบถามถึงความคิดต่อศาสนาของไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนแสดงความเป็นห่วงสิ่งแรกในเรื่องเป็นการพาณิชย์มากขึ้น และเริ่มเสื่อมถอยลง แต่อย่างไรก็ตาม คนไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงที่จะทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา รวมถึงเห็นว่าหลักสูตรการเรียนให้ความสำคัญกับวิชาพุทธศาสตร์แค่ระดับปานกลางและผู้ปกครองใช้หลักธรรมสอนลูกหลานระดับปานกลาง จึงอยากให้เพิ่มการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน