ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 ได้มีมติสั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำอย่างเร่งด่วนภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะยางพาราที่ค้างอยู่ในสต๊อก 1 แสนตัน ให้นำไปใช้ในหน่วยงานรัฐให้มากขึ้น และจะไม่มีนโยบายนำยางที่ค้างสต๊อกมาขายแข่งในตลาดอย่างแน่นอน
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมสรุปการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ และปริมาณความต้องการใช้ยางปี 2561 แบ่งเป็นปริมาณการใช้น้ำยางข้นปี 2561 จำนวน 9,916.832 ตัน ปริมาณการใช้ยางแห้งปี 2561 จำนวน 1,132.39 ตัน รวมทุกงบประมาณทั้งสิ้น 11,589,115,494.57 บาท
ตัวเลขล่าสุดมีหน่วยงานราชการ 6 หน่วยงานนำไปใช้ ได้แก่ 1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปริมาณความต้องการใช้ยาง 709.76 ตัน 2. กระทรวงกลาโหม ปริมาณความต้องการใช้ยาง 1,472.73 ตัน 3. กระทรวงคมนาคม ปริมาณความต้องการใช้ยาง 8,351 ตัน 4. กระทรวงศึกษาธิการ ปริมาณความต้องการใช้ยาง 334.88 ตัน 5. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปริมาณความต้องการใช้ยาง 28.3745 ตัน 6. กรุงเทพมหานคร ปริมาณความต้องการใช้ยาง 152.45 ตัน รวมปริมาณความต้องการใช้ยาง 11,049.1945 ตัน
ดังนั้น จะเห็นว่าการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศน้อยมากเพียง 10% ขณะที่ กยท.ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30%
อย่างไรก็ตาม เพื่อกระตุ้นการใช้ยางพาราภายในประเทศ รัฐบาลมีนโยบายให้ส่วนราชการต่างๆ หันมาใช้ยางในหน่วยงานมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งงานให้สำนักงบประมาณเร่งรัดการใช้ยางในหน่วยราชการ โดยหากมีหน่วยงานใดต้องการจะใช้เงินเพิ่มในการซื้อยางให้เสนอมาได้ทันที ส่วนงบประมาณสำหรับภาคเอกชนที่จะนำไปแปรรูปยางนั้น ได้เสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% และขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างโรดโชว์รายภาคเพื่อกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้า ผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้มาเข้าร่วมโครงการใช้ยางในประเทศมากขึ้นด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 – วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2561