อาหารไทยส่วนใหญ่มักมีกระเทียมเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำพริกต่างๆ หมูทอดกระเทียมพริกไทย ผัดผักไฟแดง นอกจากนี้ เรายังนิยมใส่กระเทียมเจียวเพื่อเพิ่มความหอมแก่อาหาร เมื่อเราเคี้ยวกระเทียมจะทำให้เกิดกรดอะมิโน ชื่อ แอลลิซิน ซึ่งเมื่อเจอกับแบคทีเรียในช่องปากจะก่อให้เกิดสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ ได้แก่ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ มีเทนเอทิออล แอลลิลเมอแคปแทน แอลลิลเมทิลซัลไฟด์ แอลลิลไดซัลไฟด์
จากการศึกษาโดยวัดปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ด้วยเครื่องฮาลิมิเตอร์ พบว่า กระเทียมทำให้เกิดปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่า และคงอยู่นานกว่า 45 นาทีจึงจะกลับสู่ภาวะปกติ
นึกภาพว่า เราอยู่ในงานเลี้ยงและรับประทานอาหารที่มีกระเทียมเป็นส่วนประกอบ รู้ตัวว่าเกิดภาวะกลิ่นปากเหม็นชั่วคราวอยู่ แต่จำเป็นต้องพบปะพูดคุยกับคู่สนทนา คงไม่สะดวกที่จะลุกไปแปรงฟัน บ้วนปาก หรือใช้ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นปาก หรืออาจไม่ได้เตรียมอุปกรณ์เหล่านี้มา
เราสามารถหาวิธีง่ายๆ ที่กระทำได้ระหว่างร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับผู้อื่น โดยการดื่มน้ำ เคี้ยวผักหรือผลไม้ที่มีเส้นใย เช่น แตงกวา ฝรั่ง ซึ่งอาหารเหล่านี้หาได้ง่าย และมักมีการจัดวางไว้เสมอบนโต๊ะอาหาร
จากการศึกษาเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพระหว่างการดื่มน้ำ การเคี้ยวฝรั่ง และการเคี้ยวแตงกวา ในการลดภาวะกลิ่นปากเหม็นชั่วคราวที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรับประทานกระเทียม โดยให้กลุ่มตัวอย่างเคี้ยวกระเทียมกลั้วให้ทั่วช่องปากเป็นเวลา 1 นาที แล้วกลืน จากนั้นกลุ่มที่ 1 หุบปากไว้เฉยๆ กลุ่มที่ 2 ให้ดื่มน้ำเปล่า 1 แก้ว กลุ่มที่ 3 ให้เคี้ยวฝรั่ง 2 ชิ้น และ กลุ่มที่ 4 ให้เคี้ยวแตงกวา 1 ผล เปรียบเทียบปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 4 กลุ่มการทดลอง พบว่า การดื่มน้ำ เคี้ยวฝรั่ง และเคี้ยวแตงกวา มีปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้น้อยกว่ากลุ่มที่หุบปากไว้เฉยๆ ร้อยละ 41.54, 49.04 และ 47.57 ตามลำดับ และน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากการศึกษาพบว่า เราสามารถลดความรุนแรงของกลิ่นกระเทียมได้ด้วยการดื่มน้ำ หรือเคี้ยวฝรั่ง 2 ชิ้น และเคี้ยวแตงกวา 1 ผล ซึ่งที่กำหนดปริมาณเท่านี้เนื่องจากเป็นปริมาณที่กลุ่มตัวอย่างสามารถเคี้ยวได้หมดภายใน 1 นาที ในทางปฏิบัติ หากเราต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดกลิ่นกระเทียมอาจทำโดยการดื่มน้ำ ร่วมกับการเคี้ยวผักหรือผลไม้ที่มีเส้นใยในปริมาณที่มากขึ้น หรือใช้เวลาในการเคี้ยวนานขึ้นเพื่อให้เส้นใยในผัก ผลไม้ได้ทำความสะอาดผิวฟัน เพิ่มอัตราการไหลของน้ำลายเพื่อ ชะล้างกลิ่น ซึ่งเป็นการกระทำที่แยบคายในการลดภาวะกลิ่นปากเหม็นชั่วคราวขณะเข้าสังคม
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ทพญ. สุคนธา เจริญวิทย์