เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

อาชีวะ จัด ‘ค่ายข้าว’ สร้างอนุชนชาวนา

รับเด็กมัธยม 3-5 ปวช. ปี 1-2 เข้าค่าย ใช้ ว.เกษตรฯ จัดกิจกรรมปั้นยุวทูตข้าว

ดร. สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันจัดค่ายข้าวขึ้น เพื่อปลุกจิตสำนึกและบ่มเพาะแนวคิดแก่เยาวชนลูกหลานชาวนา โดยค่ายนี้จะจัดขึ้น 4 ภาค ทั่วประเทศ และใช้สถานที่ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ดังนี้ ภาคกลาง จัดที่ ว.เกษตรฯ สิงห์บุรี ภาคเหนือ จัดที่ ว.เกษตรฯ พิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่ ว.เกษตรฯ ยโสธร และภาคใต้ จัดที่ ว.เกษตรฯ พัทลุง ทั้งนี้ ค่ายข้าวเป็นกิจกรรมในโครงการอนุชนชาวนาไทย : ความอยู่รอดของข้าวไทย เนื่องจากอาชีพชาวนาไทยปัจจุบันนี้อยู่ในสถานะขาดความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ไม่มีใครอยากทำอาชีพทำนา ลูกหลานชาวนาก็มีแนวโน้มที่จะไปประกอบอาชีพอื่นแทนการทำนาตามรอยพ่อแม่ ทำให้ประเทศขาดโอกาสที่จะมีชาวนารุ่นใหม่มาพัฒนาระบบการผลิตและการค้าข้าวที่มีประสิทธิภาพ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ก็น่าเป็นห่วงว่าชาวนาไทยจะต้องสูญเสียความภูมิใจในข้าวไทยที่มีชื่อเสียงมานานตั้งแต่อดีต

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า กิจกรรมค่ายข้าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา โดยรับสมัครเยาวชนที่เป็นลูกหลานชาวนา อายุระหว่าง 15-18 ปี กำลังศึกษาอยู่ระดับ ม.3-ม.5 หรือ ปวช. ปีที่ 1-2 มาเข้าค่าย ซึ่งมีครูของวิทยาลัยเกษตรเป็นวิทยากร มีนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเรียนรู้เรื่องข้าวอย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังให้เรียนรู้เรื่องของข้าวผ่านงานวิจัย และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาข้าวในปัจจุบันและอนาคตให้มีคุณภาพมากขึ้น ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงการค้าข้าว ซึ่งจะทำให้เยาวชนเห็นแนวทางในการพัฒนาข้าวไทย และอาชีพการทำนายุคใหม่ที่มีขีดการแข่งขันสูง อีกทั้งยังเป็นการปลุกจิตสำนึกและบ่มเพาะแนวคิดแก่เยาวชนลูกหลานชาวนา ให้ตระหนักถึงความสำคัญของข้าวต่อวัฒนธรรมสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญเป็นการจรรโลงอาชีพชาวนาไทยให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี

สำหรับค่ายข้าวในปี 2559 นี้ มีเยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 150 คน ชาย 51 คน หญิง 99 คน มาจาก 35 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ กำแพงเพชร ชลบุรี ชัยภูมิ เชียงราย ตรัง ตาก นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปทุมธานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ยโสธร ระนอง ลำปาง ศรีสะเกษ สกลนคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี ซึ่งหลังจากการคัดเลือก มีผู้ผ่านเกณฑ์ จำนวน 120 คน ชาย 35 คน และหญิง 85 คน ซึ่งได้กระจายไปเข้าค่ายตาลภาคต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 8 วัน

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าวส่งท้ายว่า หลังผ่านการเข้าค่ายข้าวแล้ว เยาวชนที่เข้าค่ายจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของเครือข่ายอนุชนชาวนาไทยระดับชาติ ทำหน้าที่เป็น “ยุวทูตข้าว” ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เรื่องข้าวแก่เยาวชนและสาธารณไทยในเวทีต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ชาวนาไทยได้อีกทางหนึ่ง

 

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด

Related Posts