แม้จะมีพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน อำเภอเมือง และอำเภอธาตุพนม จากทั้งหมด 12 อำเภออยู่ติดกับแม่น้ำโขง แต่จังหวัดนครพนมยังได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค เนื่องจากพื้นที่บางส่วนไม่มีระบบชลประทาน รวมถึงระบบประปาหมู่บ้าน บวกกับปีนี้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ต่ำกว่าปี 2558 ที่ผ่านมา 30-40% ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทางจังหวัดจึงได้เร่งวางแผนเตรียมพร้อมรับมือทุกด้าน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ลำคลองธรรมชาติ ให้สามารถเก็บกักน้ำได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการพัฒนาระบบชลประทาน และประปาหมู่บ้าน
ขณะเดียวกัน พล.ต.ดร. อรรถ สิงหัษฐิต ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 นครพนม ได้ให้ความสำคัญขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้าในการรับมือแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภายใต้โครงการ “ประชารัฐร่วมใจสู้ภัยแล้ง” โดยร่วมกับจังหวัดนครพนม สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ในพื้นที่ 12 อำเภอ เดินหน้าโครงการนี้แบบเชิงรุกเข้าถึงชุมชนหมู่บ้าน โดยนำอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้านมาแก้ไขปัญหา ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งน้ำลำคลองต่างๆ
พล.ต.ดร. อรรถ เผยว่า ปัจจุบัน มีการพัฒนาใช้ภาชนะเก็บกักน้ำในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย แต่ทาง มทบ. 210 นครพนม เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาชาวบ้านอาชีพปั้นโอ่ง จึงเริ่มจากนำวิทยากรปั้นโอ่งมาฝึกสอนแนะนำกำลังพลทหารรวมถึงผู้นำชุมชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนงบประมาณตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะได้นำไปเก็บกักน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน เน้นเป้าหมายหมู่บ้านชุมชนที่ไม่มีแหล่งน้ำระบบชลประทาน
“จากนั้นนำร่องปั้นโอ่งซีเมนต์ ขนาด 2,000 ลิตร นำออกไปแจกจ่ายชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือกนำไปใช้ในครอบครัว แก้ปัญหาขาดแคลนภาชนะเก็บกักน้ำในการอุปโภคบริโภค และเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเข้าถึงชุมชน อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือร่วมใจ ความสามัคคีในชุมชน ในการร่วมกันปั้นโอ่งซีเมนต์ไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านฟรีถึงครัวเรือน ไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่าย เพราะมีต้นทุนต่ำ ใบละ 200-300 บาท เท่านั้น แต่สามารถใช้ประโยชน์เก็บกักน้ำได้ทนทานคุ้มค่า”
พล.ต.ดร. อรรถ ระบุว่า ถือเป็นโครงการสำคัญในการแก้ภัยแล้งเชิงรุก ปัจจุบัน โอ่งซีเมนต์ที่ปั้นแล้วเสร็จ จำนวน 5,847 ใบ เตรียมพร้อมออกไปแจกจ่ายฟรีทุกครัวเรือนที่มีความต้องการ เดือดร้อนจากปัญหาขาดภาชนะเก็บกักน้ำ ซึ่งมีผู้นำชุมชนเป็นผู้คัดเลือก พร้อมวางแผนดำเนินโครงการต่อเนื่องให้เพียงพอกับความต้องการของชาวบ้าน ควบคู่กับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ให้ชาวบ้านมีน้ำเพียงพอในการอุปโภคบริโภค รวมถึงการทำการเกษตรตลอดปี
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน