“กฤษฎา” ดันขายยางพาราตลาดใหม่ ยุโรป-อเมริกาใต้ ลุ้นออเดอร์ซื้อยาง 300,000 ตัน พร้อมหนุนไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยาง (OEM) ตามความต้องการผู้ประกอบการจากทั่วโลก ขณะที่ กยท. เตรียมเปิดตลาดรับซื้อยางราคาเดียว ดันราคายางครึ่งปีหลังขึ้น10%
นายกฤษฎา บุญราช รมว. เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในฐานะประธานพิธีเปิดงานโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยว่า เพื่อส่งเสริมการตลาดยางพารา โดยเฉพาะประเทศคู่ค้ายางรายใหม่ๆ กระทรวงเกษตรฯ ได้เชิญผู้ประกอบการกว่า 50 บริษัท จาก 10 ประเทศ ที่มีการนำเข้ายางเพื่อใช้ในประเทศปริมาณมาก เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เม็กซิโก อิหร่าน เป็นต้น และผู้ประกอบการแถบยุโรปและอเมริกาใต้ที่ยังไม่นำเข้ายางจากไทย ซึ่งมีความต้องการยางสูงถึง 65% หรือประมาณ 2-3 ล้านตัน รวมทั้งยังได้เชิญคณะทูตานุทูตที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทย 20 คน จาก 15 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ายางปริมาณไม่มากนัก อาทิ รัสเซีย ตุรกี ฟินแลนด์ เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น มาชี้แจงนโยบาย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และศึกษาดูงานการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ตั้งแต่ วันที่ 28-30 มิ.ย. นี้ โดยหวังว่าการพูดคุยครั้งนี้จะผลักดันให้เกิดการซื้อขายยางไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัน และเมื่อรวมกับผู้ประกอบการที่แจ้งความประสงค์จะซื้อยางโดยตรงจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 100, 000 ตัน รวมทั้งหมดคาดว่าจะเกิดการซื้อขายยาง 300, 000 ตัน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเปิดกว้างในการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าการตลาดยางพาราระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันสร้างให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้รับจ้างผลิต ในรูปแบบ Original Equipment Manufacturer (Oem) หรือการรับจ้างผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนให้กับแบรนด์ต่างๆ ตามแบบ โดยไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางในการรับผลิตยางพาราตามความต้องการของผู้ประกอบการยางพาราและ ผู้นำเข้ายางจากทั่วโลก
ทั้งนี้ เพื่อผลักดันการส่งออกยาง ประเทศไทยจึงมีการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยางพารา โดยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือ Rubber City ขึ้น ที่ จ.สงขลา พื้นที่ 1,218 ไร่ ที่มีศักยภาพพร้อมรับการลงทุนทั้งอุตสาหกรรมนวัตกรรมยางพารา อุตสาหกรรมจากน้ำยางข้น อุตสาหกรรมยางคอมปาวด์ หรือยางที่มีส่วนผสมสารเคมี ใช้ผลิตยางล้อรถยนต์ เป็นต้น
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ จะเป็นวันแรกของการเปิดตลาดรับซื้อยางราคาเดียว ในตลาดกลางของ กยท. ทั้ง 6 แห่ง ทั่วประเทศ อาทิ ตลาดยางพาราจังหวัดสงขลา เป็นต้น โดยอ้างอิงราคาจากต้นทุนของเกษตรกร ซึ่งจะมีราคาเปิดเท่ากันทั่วประเทศและเปิดให้ผู้ซื้อประมูลโดยราคาจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาเปิดตลาด ทั้งนี้ กยท. ยืนยันว่า หากไม่มีผู้ซื้อ กยท. จะเข้ารับซื้อเองผ่านโรงงานและตลาดกลางสหกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อนำไปแปรรูปและส่งออก ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะทำให้ราคายางครึ่งปีหลังปรับตัวสูงขึ้น ไม่ต่ำกว่า 10% และมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านตัน สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 3.8 ล้านตัน
สำหรับการดูแลเกษตกรสวนยาง กยท. เตรียมแผนที่จะตั้งฝ่ายพัฒนาชาวสวนยางและสวัสดิการชาวสวนยาง ให้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนอัตราการจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักร (เงินเซส) มากขึ้น เพื่อให้ชาวสวนยางมีเงินทุนสำรองชะลอการนำยางออกมาขายในช่วงราคาตกต่ำ และสำหรับเกษตรกรที่ทำสวนยางในพื้นที่ป่า เตรียมจะเสนอแผนให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณา ให้เกษตรกรสามารถเช่าพื้นที่ในการทำสวนยางได้อย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 ล้านไร่
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์