เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

“กฤษฎา”จูนภารกิจรับผิดชอบ”บิ๊กขรก.เกษตร”ให้ถือปฏิบัติเคร่งครัด ชัดเจน มีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) ได้ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ด่วนที่สุด ถึงปลัดกษ.และผู้บริหารทุกกรมรวมทั้งรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในสังกัดกษ.ทุกแห่ง เรื่องการมอบหมายภารกิจในการทำงานของ กษ.ให้เกิดความชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

ตามที่กษ.ได้จัดแบ่งส่วนราชการในส่วนกลางออกเป็น 14 กรม 4 รัฐวิสาหกิจและ 3 องค์การมหาชน นั้น

เนื่องจากลักษณะงานของ กษ. มีทั้งงานเชิงบริหารจัดการงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมซึ่งอยู่ในพื้นที่ภูมิภาค และงานที่ต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการเฉพาะด้านมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งในการปฏิบัติงานทั้ง 2 ลักษณะดังกล่าวของหน่วยงานในสังกัด กษ. บางกรณีหรือบางภารกิจก็มีการคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกันหลายหน่วย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติ จึงจำเป็นต้องมีการมอบหมายภารกิจที่ชัดเจนให้แก่หน่วยงานต่างๆ ว่าภารกิจใด เรื่องอะไร ใครหรือหน่วยใดจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก อันจะนำไปสู่การทำงานอย่างเป็นระบบ มีเอกภาพ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนสามารถติดตาม เร่งรัดการปฏิบัติงานของ กษ. ในการพัฒนางานด้านการเกษตรกรรมและแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้อย่างรอบด้าน และทันต่อสถานการณ์

จึงขอทบทวนการมอบหมายความรับผิดชอบงานในกษ.ดังนี้

1.มอบหมายให้ปลัดกษ.เป็นผู้กำกับและเร่งรัดการปฎิบัติงานของ กษ. ในด้านต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยมีรอง ปลัด กษ. ทั้ง 4 ท่านเป็นผู้รับผิดชอบกำกับการทำงานของกรม รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบตามกลุ่มงานภารกิจ (Cluster) ทั้ง 3 กลุ่มภารกิจหลัก คือ 1) กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต 2) กลุ่มบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต 3) กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรและระบบสหกรณ์และ และ 1 ด้านอำนวยการ รับผิดชอบภารกิจด้านอำนวยการทั่วไปของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานระดับกรมที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มภารกิจหลัก

2.เมื่อมีงานหรือปัญหาต่างๆให้อธิบดีของแต่ละกรมเป็นผู้รับผิดชอบตามภารกิจและอำนาจหน้าที่(Function) โดยตรงต่องานการแก้ไขปัญหานั้นๆ เช่น การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เป็นหน้าที่ของกรมชลประทานและกรมฝนหลวงเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการหรืองานการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านสัตว์ทุกประเภทยกเว้นสัตว์น้ำให้เป็นหน้าที่กรมปศุสัตว์ ในกรณีเป็นงานการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านประมงทุกชนิดให้เป็นหน้าที่ของกรมประมง หรืองานการพัฒนาแก้ไขปัญหาด้านพืชให้เป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับกรมอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องด้วยรวมทั้งในทุกกรณีที่ต้องเร่งรัดดำเนินการโดยไม่ชักช้า และครบกระบวนการจนถึงขั้นตอนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนก็ให้เป็นหน้าที่ของกรมหลักนั้นๆด้วย อย่างไรก็ตามในกรณีเกษตรกรมีความเดือดร้อนและมีการรวมตัวชุนนุมเรียกร้อง

ของกลุ่มเกษตรกรต่างๆ(Mob)ที่ไม่มีหน่วยงานในกษ.รับผิดชอบโดยตรงก็ขอมอบหมายให้ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบประสานงานการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอก กษ.ด้วย

 

3.กรณีเป็นงานการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันมากกว่า 1 กรมนั้น ให้กรมตามที่กฎหมายกำหนดเป็นภารกิจหน้าที่ (Function) เป็นเจ้าภาพหลักและมีกรมที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยสนับสนุนภายใต้การกำกับของปลัด กษ.หรือ รองปลัด กษ. หัวหน้ากลุ่มภารกิจ (Cluster) เช่น เรื่องข้าว กรมการข้าว ต้องเป็นหน่วยรับผิดชอบเป็นกรมหลัก โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมอื่นๆเป็นหน่วยสนับสนุน ภายใต้การกำกับ อำนวยการของ รองปลัด กษ. หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต

4.การจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรในภาพรวมของประเทศ (รายปี/ฤดูกาลผลิต) มอบหมายเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการภายใต้กฎหมายที่กำหนด

5.ในกรณีเป็นงานด้านการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ (ส่วนภูมิภาค) คือ
5.1งานแก้ไขปัญหาหรือการบริการให้กับเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปที่ต้องอาศัยวิธีการทางวิชาการหรืองานเฉพาะด้าน ดังเช่น 1) กรณีเกิดโรคระบาดพืชให้กรมส่งเสริมการเกษตร (กษ.อำเภอ/จังหวัด) ประสานกรมวิชาการเกษตรทราบ และเพื่อหาวิธีในการแก้ไข สำหรับโรคระบาดในปศุสัตว์หรือสัตว์น้ำ ก็เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ หรือ กรมประมงแล้วแต่กรณี ๒) กรณีการขอจดทะเบียนรับรองมาตรฐานการผลิต กรมผู้ผลิตรับผิดชอบโดยตรงหรือประสานกับกรมวิชาการหรือหน่วยตรวจรับรองอื่นๆ
5.2 กรณีงานจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรหรือแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด (ระดับจังหวัด)นั้น ให้ สศก.ร่วมอำนวยการภายใต้กลไกของ อ.พ.ก. จังหวัด และ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด( CoO)และคณะทำงานขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับอำเภอ(OT)โดยมีหน่วยผลิตหรือรับผิดชอบสินค้านั้นๆ เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนข้อมูล เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและหรือจัดทำแผนการผลิตร่วมกับกรมต่างๆที่มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และหน่วยงานอื่นๆ (นอกสังกัด กษ.) ในพื้นที่
5.3 การปฏิบัติการ และรายงานผลการปฏิบัติการ ให้เป็นไปตามแนวทางของคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 341/2561 ลงวันที่ 20 เมษายน 2561 เรื่อง มอบหมายการปฏิบัติราชการของบุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัด เพื่อสนองนโยบายการบูรณาการงานภาคเกษตรของจังหวัดอย่างยั่งยืน

6.งานนโยบายของรัฐบาลหรือรัฐมนตรีและหรืองานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของ กษ.ที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรหรือความเดือดร้อนของประชาชนในวงกว้าง นั้น ให้หัวหน่วยงาน กษ.ในพื้นที่เกิดเหตุหรือทราบเหตุรีบเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยไม่ชักช้าแล้วรายงานให้นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าหน่วยงาน กษ.ในส่วนกลางรวมทั้ง รมช.กษ.และ รมว.กษ.ตามสายงานทราบโดยด่วน สำหรับงานในรูปคณะกรรมการตามที่ กม.หรือรัฐบาลกำหนดหรือแต่งตั้ง ก็ให้กรมหรือส่วนราชการที่ได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบดำเนินงานนั้น

จึงขอให้ทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจรวมทั้งองค์การมหาชนในสังกัด กษ.ได้ถือปฎิบัติตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นโดยเคร่งครัดเพิ่มเติมจากคำสั่งมอบหมายงานทั่วไปที่ได้กำหนดไว้แล้วด้วย.

ที่มา : มติชนออนไลน์

Related Posts