นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมิถุนายน 2561 ว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 48.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่อยู่ 47.7 ถือว่าเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยจะเห็นว่าภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ผลไม้ และการท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยค่าดัชนีภาคกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 50.8 และค่าดัชนีภาคตะวันออกอยู่ที่ 52.7 ซึ่งเป็น 2 ภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเกินระดับ 50 ส่วนภาคเหนืออยู่ที่ 46.8 ตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 46.7 ภาคกลางอยู่ที่ 47.6 และภาคใต้อยู่ที่ 49.9 จากค่าดัชนีที่ขยับดีขึ้นเกือบถึงระดับ 50 นั้น เป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีการฟื้นและกระจายตัวดีขึ้น โดยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนในไตรมาส 4 ของปีนี้
นายกลินท์ กล่าวว่า ปัญหาที่ภาคเอกชนยังเจออยู่ในปัจจุบันที่ต้องรอการแก้ไขจากภาครัฐ คือ การกระจุกตัวของระดับรายได้ ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการในหลายพื้นที่ยังชะลอตัว และขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในพื้นที่ยังค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อต่อยอดและเสริมสภาพคล่องธุรกิจ ซึ่งในภาคเอกชนก็เร่งดำเนินการช่วยเหลือในหลายโครงการ ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนและการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของพื้นที่ด้วย
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงดัชนีภาคบริการเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นการเปิดตัวครั้งแรก และสามารถตอบโจทย์เติมเต็มดัชนีภาคบริการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงพาณิชย์จัดทำให้สมบูรณ์ขึ้นว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 51.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการสำรวจในเดือนก่อนหน้าที่ 50.2 และคาดการณ์ว่าค่าดัชนีในอนาคต 6 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 51.5 เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากการปรับปรุงหลักเกณฑ์ช่องทางการให้บริการของสถาบันการเงิน การยกเลิกค่าธรรมเนียมในการให้บริการ และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง
นางเสาวณีย์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยลบต่อดัชนีภาคบริการ เป็นเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึง ต้นทุนราคาวัตถุดิบสูง ค่าครองชีพสูง การแข่งขันในการทำธุรกิจสูง และค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น เมื่อแยกเป็นรายสาขา พบว่า ค่าดัชนีบริการปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ในเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะภาคสถาบันการเงิน โรงแรมและภัตตาคาร การขนส่ง การศึกษา และการบริการสุขภาพ มีเพียงอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจนำเที่ยว กีฬาและนันทนาการ และบริการส่วนบุคคลยังต่ำกว่าระดับ 50 อยู่เล็กน้อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีภาคบริการตัวนี้จะมองในเชิงทฤษฎี 4 ตัวหลักต่อยอดขาย คำสั่งซื้อ การจ้างงานและราคา ซึ่งค่าดัชนีส่วนใหญ่ที่เกิน 50 นั้น แสดงถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจด้านภาคบริการในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่ออกมา เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากการส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้ภาคตะวันออกและกรุงเทพฯที่ผูกพันกับการส่งออก การท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน