นับเป็นปีที่ 3 ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน จังหวัดสตูล ในการจัดกิจกรรม “วางซั้งกอ” สร้างบ้านให้ปลา อ่าวปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ รณรงค์ให้ชุมชน ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันบริหารจัดการรักษาทรัพยากรชายฝั่งและรักษาความมั่นคงทางอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นมาตรการอนุรักษ์สัตว์น้ำทะเลที่ดำเนินการในช่วงมรสุม ซึ่งเป็นฤดูที่ฝูงสัตว์ทะเลอันดามันเข้ามาวางไข่บริเวณอ่าวปากบารา โดยปีนี้กิจกรรมวางซั้งกอ จัดขึ้นที่ท่าเรืออ่าวนุ่น เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล
“การวางซั้งกอ” หรือบ้านปลา เป็นกิจกรรมที่ชุมชนให้การยอมรับ สามารถเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ป้องกันการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่รุกเข้ามาในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นที่หลบภัยสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ กิจกรรมครั้งนี้ใช้เวลาวางซั้งกอ 1 สัปดาห์ จากซังกอ 200 ต้น วางใน 3 จุด ในทะเลนับจากตะรุเตาเข้ามาฝั่งแผ่นดินใหญ่ ใช้วัสดุธรรมชาติคือไม้ไผ่และทางมะพร้าวโดยมีชาวชุมชน สมาคมประมงพื้นบ้าน ตำบลปากน้ำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานราชการ เอกชน นักเรียน นักวิชาการ กลุ่มรีฟการ์เดียน และกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวทีวิชาการ เสวนา “ซั้งกอ” แนวทางการจัดการทรัพยากรทะเลสตูลให้ยั่งยืน ตามรอยพ่อ ตลอดจนกำหนดมาตรการ กติกา การเฝ้าระวัง ศึกษา สำรวจการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร ทั้งก่อนและหลังการวางซั้งกอ
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การวางซั้งกอ สร้างบ้านให้ปลาเป็นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและเพื่ออนุรักษ์ เป็นเสมือนการทำปะการังเทียมให้ปลาวางไข่ ได้เพาะสัตว์น้ำวัยอ่อน
อัสรีย์ หมีนหวัง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำ อำเภอละงู กล่าวว่า การรวมตัวกันทำซั้งกอ สร้างบ้านให้ปลา เนื่องจากพี่น้องชาวประมงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรจะเดินหน้าร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่นับวันจะเหลือน้อยลง จึงร่วมมือกับหลายฝ่ายสร้างบ้านให้ปลาขึ้น โดยทำ 3 จุดใหญ่ คือ บริเวณเกาะเขาใหญ่ ซึ่งมีปลาชุกชุม และเป็นที่วางไข่ของปลาหลากชนิด โดยซั้งกอที่สร้างขึ้นมีส่วนประกอบหลักที่ขาดไม่ได้ 3 อย่าง คือ ไม้ไผ่ เชือก และถุงทราย หรือแท่งปูน และทางมะพร้าว โดยเฉพาะ “ทางมะพร้าว” เป็นองค์ประกอบสำคัญ เมื่อทิ้งลงทะเล ต้นไผ่และทางมะพร้าวจะดิ่งจมลงใต้ทะเล และตั้งขึ้นนเป็นต้นไม้ใต้น้ำ
“ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรม ส่วนหนึ่งมาจากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 4 แสนบาท สร้างความตื้นตันใจแก่เราชาวประมง ที่พระองค์ต้องการให้พวกเราช่วยกันปกป้องและสร้างแหล่งอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์ยั่งยืน”
ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน
ขอบคุณภาพจาก maptaphutport.com