ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมากรมการค้าภายในได้ออกประกาศผลการคัดเลือกผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ (ครั้งที่1) ปรากฏมีผู้มีเอกสารและคุณสมบัติครบถ้วนที่จะจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 24 ราย คิดเป็นปริมาณ 71,000 ตัน จะเริ่มส่งมอบวันที่ 26 มกราคมเป็นต้นไป
ในจำนวน 24 รายนี้มีผู้ได้รับการจัดสรรให้ขายน้ำมันปาล์มดิบเกินกว่า 4,000 ตันขึ้นไป ได้แก่ บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จังหวัดปัตตานี 10,000 ตัน, บริษัทเจริญน้ำมันปาล์ม จังหวัดชุมพร 8,000 ตัน, บริษัทจีรัลย์ปาล์ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4,000 ตัน, บริษัท ป.พาณิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2 จังหวัดกระบี่ 4,000 ตัน, บริษัทศรีเจริญปาล์มออยล์ จังหวัดกระบี่ 4,000 ตัน
ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินงบประมาณงบกลาง 525 ล้านบาท เพื่อให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังความร้อนโรงไฟฟ้าบางปะกงตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศเพื่อดึงราคาผลปาล์มของเกษตรกรชาวปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้นและแก้ปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มล้นก่อนหน้านี้ ซึ่งมีปริมาณ 350,000 ตัน หรือ “สูงกว่า” ระดับสต๊อกปกติที่ควรมีไม่เกิน 250,000 ตัน โดยมาตรการนี้จะส่งผลให้ช่วยดึงราคาผลปาล์มให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ราคา กก.ละ 3.20 บาท
ปาล์มพัฒนาฯคว้า 10,000 ตัน
ด้านแหล่งข่าวจากวงการโรงสกัดน้ำมันปาล์มตั้งข้อสังเกตกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า จากการตรวจสอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลจากเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน พบว่าผู้ชนะการประมูลปริมาณสูงสุด ได้แก่ บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด จากจังหวัดปัตตานี ได้ไปถึง 10,000 ตัน รองลงมาได้แก่ บริษัทเจริญน้ำมันปาล์ม จังหวัดชุมพร 8,000 ตัน ขณะที่เหลืออีก 23 รายได้ไปรายละ 2,000-4,000 ตัน ทั้ง ๆ ที่หลายรายล้วนเป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่ในวงการค้าน้ำมันปาล์มดิบ อาทิ บริษัทยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ได้ไปเพียง3,000 ตัน, บริษัททักษิณอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (1993) จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี 2,000 ตัน, บริษัทสุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จ.ชลบุรี 2,000 ตัน เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผู้มีรายชื่อขายน้ำมันปาล์มให้ กฟผ.ระดับ 10,000 ตันพบว่าบริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จดทะเบียนตั้งบริษัทในเดือนพฤศจิกายน 2552 ทุนจดทะเบียน 221,000,000 บาทที่ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แจ้งประกอบธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มดิบ มีผู้ถือหุ้น 5 คน ได้แก่ นายสมนึก มณีโชติ, น.ส.ณัฐศศิ มณีโชติ, นางอารีย์ มณีโชติ, นายธนากร มณีโชติ และ น.ส.ปภัสสร มณีโชติ
สต๊อกปลายปีพุ่ง 7 แสนตัน
ทั้งนี้ มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศมีขึ้นเพื่อพยุงราคาผลปาล์มให้สูงเกินกว่า 3 บาท/กก. ด้วยการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ราคารับซื้อ กก.ละ 18 บาท ระยะเวลาดำเนินการเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2562 รวม 6 เดือน โดย กฟผ.จะเป็นผู้รับภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้า
โดยราคาผลปาล์มเฉลี่ยรับซื้อจริงสัปดาห์นี้อยู่ที่ กก.ละ 2.70 บาท น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ กก.ละ 17 บาท และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ กก.ละ 19.63 บาท สาเหตุที่ราคาผลปาล์มยังไม่ขยับขึ้นทั้ง ๆ ที่มีการประกาศรายชื่อผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบให้กับ กฟผ.แล้วถึง 71,000 ตัน เป็นเพราะ 1) กฟผ.ยังไม่มีการทำสัญญากับผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบ
2)ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่จะรับซื้อจำนวน 160,000 ตันเป็นแค่ผลทางจิตวิทยาที่ตลาดรับรู้แล้ว ดังนั้นราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศจะขยับขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกที่ตอนนี้เริ่มมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นบ้างทำให้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 17 บาท
3) ในปี 2561 สามารถผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มได้ประมาณ 100,000 ตัน (มกราคม-มีนาคม 2561) หลังจากนั้นแทบจะไม่มีการส่งออกน้ำมันปาล์มอีกเลย แสดงให้เห็นว่า มาตรการผลักดันการส่งออกใช้ไม่ได้ผล และ
4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันฤดูกาลใหม่จะเพิ่มสูงจาก 15 ล้านตัน เป็น 16.7 ล้านตัน ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือจากระดับ 500,000-600,000 ตันในขณะนี้จะพุ่งขึ้นสูงถึง 700,000 ตัน เป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายปี 2562 ดังนั้นการใช้มาตรการปรับสมดุลหรือการเร่งผลิตน้ำมันดีเซล B20 จึงไม่สามารถดันราคาผลปาล์มมากกว่า 3 บาท/กก. เป็นการถาวรได้