เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
News

เกษตรฯ พิสูจน์แล้ว ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินช่วยลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่ม

นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้สานต่อนโยบายการลดต้นทุนการผลิตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยส่งเสริมการให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ผ่าน“ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.)” จำนวน 882 ศูนย์ทั่วประเทศ บริหารจัดการโดยเกษตรกร เป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ การจัดการดินปุ๋ยที่ถูกต้อง ช่วยยกระดับความรู้เรื่องดินและปุ๋ยให้แก่เกษตรกรที่มีต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของศูนย์ฯ จะทำกิจกรรมตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการปลูกพืชหรือก่อนการใส่ปุ๋ย ใช้เทคโนโลยี  การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัดร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อสามารถจัดการเรื่องดินและใช้ปุ๋ยเคมีตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่และความต้องการของพืช ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตจากปุ๋ยเคมี และเพิ่มเติมอินทรียวัตถุให้ดิน นอกจากวิเคราะห์ธาตุ N P K ในดินแล้ว เกษตรกรยังมีการตรวจค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH ) เพื่อให้ทราบว่าดินมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชหรือไม่ โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านดินปุ๋ย จะมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลคอยเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลและให้คำแนะนำแก่เกษตรกร

อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวน 17,640 ราย เป็นสมาชิกศูนย์จัดการ  ดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำการวิเคราะห์ดินก่อนการปลูกพืชช่วยให้เกษตรกรสามารถ ลดต้นทุนค่าปุ๋ยในภาพรวมได้กว่า 38 ล้านบาท (จากพื้นที่การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 109,312 ไร่) คิดเป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลงได้ร้อยละ 26.20 และช่วยเพิ่มผลผลิตได้ ร้อยละ 10.10 จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรายอื่นๆ ควรนำไปปฏิบัติใช้ในการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนทำการเพาะปลูก          ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถรับบริการตรวจวิเคราะห์ดินโดยใช้ชุดตรวจสอบ N P K ในดินแบบรวดเร็วได้ที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนใกล้บ้าน ใช้เวลาเพียง 30 นาที ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้องตามค่าวิเคราะห์ดิน/ปุ๋ยสั่งตัดเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตและช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

Related Posts