เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่โรงละครแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซ้อมประโคมดนตรีในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยวันนี้ซักซ้อมในส่วนวงบัวลอยและวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่

นายปี๊บ คงลายทอง ผู้ชำนาญการด้านดนตรีไทย กล่าวว่า การบรรเลงที่ทดสอบในวันนี้นั้นในส่วนของชุดนางหงส์ที่จะบรรเลงในงานออกพระเมรุ เริ่มต้นด้วยการบรรเลงเทพนิมิตแล้วจะออกวิธีการเล่นในลักษณะของนางหงส์ส่วนวงบัวลอยประกอบพระราชพิธีขณะถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยในส่วนของวงปี่พาทย์นางหงส์มาจากวงปี่พาทย์ไม้แข็ง แสดงได้ 3 ด้าน หน้าทับนางหงส์ ปี่พาทย์นางหงส์ ส่วนเพลงที่ประโคมนั้น เพลงที่กำหนดมาแต่โบราณ การฝึกซ้อมในครั้งนี้ผู้ร่วมวันตัวเองทุกคนมีความตั้งใจ และซักซ้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความผิดพลาดน้อยที่สุดและทำให้ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดวงประโคมสี่มุม ดังนี้ วงบัวลอย 4 มุม ตั้งอยู่ด้านหน้าบริเวณศาลาลูกขุนทั้ง 4 หลัง วงประโคม 4 วง บริเวณทับเกษตร ประกอบด้วย วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ 2 วง วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ 2 วง สำหรับวงประโคมมี 2 ชุดๆละ 4 วง นอกจากบุคลากรจากกระทรวงวัฒนธรรมแล้วยังมีวงประโคมของทั้ง 4 เหล่าทัพเข้ามาช่วยในการบรรเลง

สำหรับการประโคมนั้นแบ่งออกเป็น 2 ช่วงประกอบด้วย ช่วงที่หนึ่งประโคมขณะที่ริ้วกระบวนอัญเชิญพระโกศทองใหญ่เวียนพระเมรุมาศ 3 รอบและประโคมอีกครั้งขณะถวายพระเพลิงพระบรมศพช่วงที่ 2 หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วเสร็จจะมีเฉพาะวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ แล้ววงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ประโคมตลอดเวลา จนถึงเวลา 06.00 น.

ขณะที่น.ส.วันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้ชำนาญ ด้านนาฏศิลป์ไทยและผู้กำกับการแสดงละครเรื่องพระมหาชนก กล่าวว่า ภาพรวมการแสดงมีความพร้อมร้อยละ 90 เพราะแต่ละฝ่ายที่ได้รับมอบหมายได้แยกย้ายกันไปซ้อมเป็นที่เรียบร้อย ก่อนจะมารวมตัวซ้อมกัน ในวันนี้เป็นครั้งที่ 4 ส่วนอีกร้อยละ 10 เหลือซ้อมการแสดงในสถานที่เวทีจริง ในวันที่ 22 ต.ค.60 ขณะที่เนื้อหายังคงเป็นไปตามบทพระราชนิพนธ์ แต่เนื่องจากตามบทพระราชนิพนธ์เป็นหนังสือ จึงนำบทละครของอาจารย์เสรี หวังในธรรม ที่ได้รับพระบรมราชาอนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาจัดทำเป็นรูปแบบละครชาดก ซึ่งทุกฉากล้วนสำคัญทั้งหมด แต่ฉากที่โดดเด่นคือตอนที่พระมหาชนก แหวกว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทร และสนทนาธรรมกับนางมณีเมขลา

รวมถึงฉากที่พระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรต้นมะม่วงที่อุทยาน ถือเป็นฉากสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องพระมหาชนกขึ้น เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสดับพระธรรมเทศนา จากวัดราชผาติการาม ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ทรงเทศนาในตอนนี้ ที่พูดถึงต้นมะม่วง 2 ต้นที่มีผลรสดีถูกข้าราชบริพารดึงกินจนโค่นล้ม กับอีกหนึ่งต้นที่ไม่มีผลแต่กับตั้งตระหง่า ทำให้เห็นว่าสิ่งใดดีมีคุณภาพจะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและเป็นอันตราย ท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัย ถึงสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ จึงทรงค้นคว้าเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษลงจากพระมหาชนกชาดกตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ทรงดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น พร้อมทั้งในการแสดงครั้งนี้ได้สอดแทรกระบำเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดความสวยงาม

ขณะที่เครื่องแต่งกายของผู้แสดง ยังคงเป็นจินตนาการมาจากอาจารย์เสรี หวังในธรรม เช่นเดียวกัน ที่ได้จัดแสดงมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 ซึ่งแสดงเป็นปฐมฤกษ์ในวันข้าราชการพลเรือน โดยมีทางการแต่งแบบยืนเครื่องแบบพระมหากษัตริย์และแต่งแบบลำลอง ส่วนระยะเวลาในการแสดงครั้งนี้ใช้ระยะเวลาแสดง 1.30-1.40 นาที โดยอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของบทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงให้คำสอนไว้มากมาย ทุกฉากต่างประกอบไปด้วยคติสอนใจคุณธรรมต่างๆ

น.ส.วันทนีย์ กล่าวต่อว่า การได้ทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในครั้งนี้ เป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในบทพระราชนิพนธ์ ที่พระองค์ได้ทรงสอดแทรกคำสอน เหมือนกับพ่อสอนลูก สอนคนไทยทุกคน ทั้งความพากเพียรพยายาม ความรักความเสียสละ ที่มีให้เห็นทุกฉากในละครเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับพระมหาชนกเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นละครที่นำมาจัดแสดงในงานสำคัญต่างๆ รวมถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จัดแสดงในเวทีที่ 2 ของวันที่ 26 ต.ค.2560 ร่วมด้วยการแสดงละครอื่นๆ และหุ่นหลวง หุ่นกระบอก โดยเริ่มในเวลา 18.00-06.00 น. วันที่ 27 ต.ค.2560 เนื้อเรื่องจะเน้นให้ถึงความสำเร็จในความเพียรอย่างมีสติ และความเสียหายที่เกิดจากการขาดสติไตร่ตรอง ใช้ผู้แสดง ทีมงานจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จำนวนประมาณ 150 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน