ประชาชนปลื้มปีติ-เฝ้ารับเสด็จ

พระเทพฯ-องค์หญิงสิริวัณณฯ

เมรุมาศจำลอง-เสร็จแล้ว100%

ประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ทรงร่วมซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เตรียมความพร้อมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เริ่มตั้งแต่เชิญพระบรมโกศลงจากพระที่นั่งดุสิตฯ เชิญขึ้นสู่ ‘พระมหาพิชัยราชรถ’ เป็นริ้วขบวนที่งดงามอลังการใหญ่ที่สุด ใช้ผู้ร่วมขบวนมากกว่า 3,000 คน ก่อนเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ พระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศ กลางมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ท่ามกลางประชาชนเฝ้าชมพิธีซ้อมอย่างเนืองแน่น ส่วน ‘พระองค์หญิง’ ทรงม้านำขบวน ร่วมซ้อมริ้วขบวนเชิญพระบรมราชสรีรางคาร

‘พระเทพฯ’ทรงซ้อมริ้วขบวน

เมื่อเวลา 06.49 น. วันที่ 15 ต.ค. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงร่วมซ้อมในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่คณะกรรม การอำนวยการร่วมพระราชพิธี จัดการซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 1, 2, 3 และ 6 ในพื้นที่จริงเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

โดยมีพระวงศานุวงศ์ ราชสกุล พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ, นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ, นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม พร้อมด้วยทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ กำลังพลจากกรมสรรพาวุธ กองทัพภาคที่ 1 นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และข้าราชบริพาร เข้าร่วมซ้อมกว่า 4,000 คน

2นพ.ประคองพระบรมโกศ

พิธีซ้อมเริ่มเวลา 07.00 น. เจ้าพนักงานเปลื้องพระลองออกจากพระโกศทองใหญ่ แล้วเชิญพระลองลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เทียบที่เกยลา และประกอบพระโกศทองใหญ่ ก่อนประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน เป็นยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ทำด้วยไม้จำหลักลวด ลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน

เวลา 07.59 น. เจ้าพนักงานเชิญพระบรมโกศออกทางประตูศรีสุนทร เป็นประตูชั้นใน และประตูเทวาภิรมย์ เพื่อตั้งริ้วขบวนบนถนนมหาราช โดยมี รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผอ.โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นผู้ประคองพระบรมโกศออกมาทางประตูศรีสุนทร และประตูเทวาภิรมย์ เมื่อพระบรมโกศถึงยังถนนมหาราชแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระมหาเศวตฉัตรกางกั้นพระบรมโกศ ต่อมา ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นไปประคองพระบรมโกศบนพระยานมาศสามลำคาน

เชิญขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถ

ต่อมาเวลา 08.10 น. เมื่อเจ้าพนักงานรัวกรับเป็นสัญญาณครบ 3 ครั้งแล้ว วงมโหระทึกเริ่มบรรเลง ริ้วขบวนที่ 1 จึงเริ่มเคลื่อนตามสัญญาณกลอง ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระดำเนินตามพระโกศทองใหญ่ โดยริ้วขบวนเคลื่อนไปตามถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชย ซึ่งริ้วขบวนที่ 1 โดยหลักประกอบด้วย เสลี่ยงพระนำทหารกองเกียรติยศ เครื่องราชอิสริยยศ ทหารม้านำ 2 ม้า ทหารม้าตาม 4 ม้า ข้าราชบริพาร

เวลา 08.40 น. ริ้วขบวนที่ 1 มารวมกับริ้วขบวนที่ 2 เป็นริ้วขบวนพระมหาพิชัยราชรถ ตั้งอยู่บริเวณหน้าหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน จากนั้นเจ้าพนักงานเชิญพระโกศทองใหญ่เทียบเกรินบันไดนาค ขึ้นประดิษฐานบนบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ หมายเลข 9780 เป็นราชรถทรงบุษบกทำด้วยไม้แกะสลัก ทั้งองค์ลงรักปิดทองประดับกระจกมีเกริน ลดหลั่นกัน 5 ชั้น

พระเทพฯทรงพระดำเนินตาม

จากนั้นเวลา 09.24 น. ริ้วขบวนพระมหาพิชัยราชรถ และราชรถพระนำ เริ่มเคลื่อนขบวน โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระดำเนินหลังพระมหาพิชัยราชรถ และร.อ.จิทัศ ศรสงคราม พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้เชิญเครื่องทองน้อย และข้าราชบริพารในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้เชิญเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภค

พร้อมสมาชิกราชสกุล ประกอบด้วย หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ตามลำดับ โดยในริ้วขบวนนี้มีหม่อมเจ้าเพียง 4 พระองค์ คือ พล.ท.ม.จ.เฉลิมศึก ยุคล, ร.อ.ม.จ.นวพรรษ์ ยุคล, ม.จ.หญิง ศรีสว่างวงศ์ ยุคล (บุญจิตราดุลย์) และ ม.จ.หญิง นภดลเฉลิมศรี ยุคล นอกจากนั้นเป็นหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ตามลำดับ

ประดิษฐาน ณ พระจิตกาธาน

โดยมี พล.ต.อเนก กล่อมจิตร เป็นผู้กำกับพระมหาพิชัยราชรถ และ พ.อ.พสิษฐ์ ภูวัตณัฐสิทธิ เป็นผู้ควบคุมฉุดชากราชรถ และ พ.ท.สวรจน์ สุภเวชย์ เป็นผู้ควบคุมฉุดชักหลัง ริ้วขบวนนี้มีความงดงามมากที่สุด เนื่องจากใช้ผู้ร่วมขบวนมากกว่า 3,000 คน และใช้จังหวะการเดินแบบเดินเปลี่ยนเท้า โดยริ้วขบวนเคลื่อนไปบนถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน ผ่านหน้ากระทรวงกลาโหม ศาลหลักเมือง และศาลฎีกา เข้าสู่ท้องสนามหลวง โดยใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง

เมื่อเข้าสู่ถนนท้องสนามหลวงฝั่งหน้าศาลฎีกา เหล่าขบวนทหารขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนราชรถ ปืนใหญ่ที่จัดสร้างขึ้นใหม่ เพื่อตั้งริ้วขบวนที่ 3 โดยมีราชสกุลทุกมหาสาขา ตั้งแถวรอภายในราชวัติพระเมรุมาศ

จากนั้นเชิญพระโกศพระบรมศพโดยราชรถปืนใหญ่เวียนรอบพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ 3 คือ เวียนซ้าย 3 รอบ ระยะทาง 260 เมตรต่อรอบ มีพระประยูรญาติร่วมเดินในริ้วขบวนด้วย จากนั้นเจ้าพนักงานเทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศ เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐาน ณ พระ จิตกาธาน ประกอบพระโกศจันทน์บนพระเมรุมาศ เป็นอันเสร็จพิธีเชิญพระบรมศพออกสู่พระเมรุมาศ

‘พระองค์หญิง’ทรงร่วมซ้อม

เมื่อเวลา 12.39 น. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จมาทรงร่วมซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 6 เป็นริ้วขบวนสุดท้ายที่จะเชิญพระบรมราชสรีรางคาร ในวันที่ 29 ต.ค โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ฉลองพระองค์สีขาว พระสนับเพลา สีเทาเข้ม และพระมาลาสีดำ ประดับพู่สีฟ้า ทรงม้านำขบวน ตามด้วยขบวนกองทหารม้าจำนวน 77 ม้า

โดยใช้กำลังจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ และกำลังพลจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล เชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดา ราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร ไปยังพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสบรรจุลงในถ้ำศิลา และเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปยังบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ และบรรจุลงในถ้ำศิลา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ 21 ต.ค.ซ้อมใหญ่พื้นที่จริง

สำหรับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 6 ใช้เส้นทางออกประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวขวาไปตามถนนหน้าพระลาน แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนสนามไชย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนกัลยาณไมตรี ข้ามสะพานช้างโรงสี เลี้ยวขวาเข้าถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายเทียบที่เกยหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จากนั้นออกจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานช้างโรงสีไปตามถนนกัลยาณไมตรี เลี้ยวขวาถนนสนามไชยเข้าสู่ถนนราชดำเนินใน ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา ไปตามถนนราช ดำเนินกลาง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ไปเทียบหน้าประตูวัดบวรนิเวศวิหาร

และในวันที่ 21 ต.ค. จะซ้อมใหญ่ในพื้นที่จริงอีกครั้ง เป็นการซ้อมริ้วขบวนที่ 1-3 และในวันที่ 22 ต.ค. เป็นการซ้อมริ้วขบวน ที่ 4-6 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริ วัณณวรีนารีรัตน์ จะมาทรงร่วมซ้อมริ้วขบวนที่ 6 เป็นริ้วขบวนกองทหารม้าเชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากพระศรีรัตนเจดีย์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และขบวนกองทหารม้าเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ไปบรรจุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ประชาชนปีติ-เฝ้าชมพิธีซ้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 05.00 น. เจ้าหน้าที่เปิดประตูจุดคัดกรอง 9 จุด ประกอบด้วย 1.บริเวณแยกสะพานมอญ 2.ท่าช้าง 3.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4.แม่พระธรณีบีบมวยผม 5.ถนนกัลยาณไมตรี 6.แยกสะพานช้างโรงสี 7.แยกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร 8.ท่าพระจันทร์ และ 9.ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยมีประชาชนจากทั่วสารทิศแต่งกายด้วยชุดสีดำสุภาพทยอยเดินทางมาเข้าชมความงดงามของริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ และจับจองที่นั่งบนทางเท้าตั้งแต่เช้ามืดจนเต็มพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้เปิดให้ประชาชนชมการซ้อมริ้วขบวน บริเวณถนนมหาราช ตั้งแต่ท่าช้างถึงท่าเตียน ถนนราชดำเนินใน ตั้งแต่วงเวียน รด. ถึงโรงแรมรัตนโกสินทร์ และฝั่งตรงข้ามมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

เมื่อขบวนพระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนผ่าน พสกนิกรยกมือขึ้นไหว้ บางคนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความอาลัย และในเวลา 11.00 น. ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระดำเนินผ่าน พสกนิกรต่างยกมือขึ้นไหว้ด้วยความปลาบปลื้มปีติ และเปล่งเสียงทรงพระเจริญ พร้อมนำกล้องถ่ายภาพและโทรศัพท์มือถือเก็บภาพแห่งความประทับใจ

มาปักหลักร่วมพิธีวันที่ 26 ต.ค.

น.ส.นาฏยา ไพจิตจินดา อายุ 45 ปี ชาว จ.สตูล ที่ย้ายมาพักอยู่กรุงเทพฯ กล่าวด้วยสีหน้าปลื้มปีติว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มาชมการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ สมพระเกียรติมาก รู้สึกดีที่ได้มาชม โดยไม่ทราบมาก่อนว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ มาทรงร่วมซ้อมด้วย ตื้นตันใจและเป็นบุญมาก และตั้งใจว่าจะเดินทางมาปักหลักตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 25 ต.ค. เพื่อร่วมแสดงความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 26 ต.ค.

ส่วนน.ส.จารุณี นุชสุดสวาท อายุ 37 ปี อาชีพรับราชการ ชาว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม กล่าวว่า ติดตามข่าวงานพระราชพิธีมาโดยตลอด ตั้งใจมาชมการซ้อมริ้วขบวนทุกครั้ง และครั้งที่ 2 แล้ว ที่ผ่านมาได้เข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพจำนวน 113 ครั้ง รอนานที่สุดคือช่วงใกล้ปีใหม่ ใช้เวลา 15 ชั่วโมงโดยไม่รู้สึกเหนื่อย หรือท้อใดๆ สำหรับการซ้อมใหญ่วันที่ 21 ต.ค.นี้ ตั้งใจมารอล่วงหน้าตั้งแต่คืนวันที่ 20 ต.ค. และวันงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะมารอตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.

ตกแต่ง‘เมรุมาศจำลอง’ทั่วปท.

วันเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยกล่าวว่า การก่อสร้างพระเมรุมาศจำลอง 76 แห่งทั่วประเทศ และรอบกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ขณะนี้เสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว หลังจากนี้จะปรับภูมิทัศน์โดยรอบพระเมรุมาศจำลอง รวมทั้งเตรียมเต็นท์บริการ ห้องน้ำ และจุดบริการอื่นๆ ให้แก่ประชาชนที่ไปร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

รมว.มหาดไทยกล่าวว่า นอกจากนี้ยังสั่งให้เตรียมซักซ้อมการปฏิบัติเพื่อจัดงานพระราชพิธี ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งพระเมรุมาศจำลอง และซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ อีก 802 แห่งในทุกอำเภอ และขณะนี้ในส่วนภูมิภาคของทุกพื้นที่ อยู่ระหว่างการอบรมจิตอาสา เพื่อคอยอำนวยความสะดวก ทั้งด้านการจราจร การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และ การดูแลความปลอดภัย รวมทั้งด้านอื่นๆ เพื่องานในส่วนภูมิภาคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

อุบลฯ บวช-สตูลรำถวายอาลัย

ขณะเดียวกัน ที่วัดมณีวนาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผวจ.อุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีปลงผมและบรรพชาอุปสมบทพระสงฆ์และสามเณร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ โดยมีพนักงาน ลูกจ้าง ข้าราชการ และประชาชนร่วมบรรพชาและอุปสมบทที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดมณีวนาราม และวัดป่าไทรงาม รวมทั้งสิ้น 378 รูป จำพรรษาเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-30 ต.ค.

ที่หน้าลานพระเมรุมาศจำลอง ศาลากลางจังหวัดสตูล นายธงไชย สารอักษร วัฒนธรรม จ.สตูล นำจิตอาสาจำนวน 167 คน ฝึกซ้อมร่ายรำถวายความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นซักซ้อมเสมือนจริง โดยนางโสภาวรรณ รัตนดิก ณ ภูเก็ต อายุ 50 ปี กล่าวว่าเป็นตัวแทนของนางรำทั้ง 167 ชีวิต และดีใจที่มารำถวายความอาลัย และเป็นส่วนหนึ่งในวันที่ 26 ต.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน