“มัณฑนา ชอุ่มผล”

อาหารท้องถิ่น ไม่กินก็ลืม ไม่ทำก็หาย ยิ่งไม่ได้ถ่ายทอดไว้ให้คนรุ่นหลังก็ยิ่งถูกลืม วันนี้เด็กๆ ชาวเผ่าชอง ที่บ้านช้างทูน อ.บ่อไร่ จ.ตราด จึงมาเรียนรู้การทำขนมและอาหารกับ ป้าหนู อุทัย เปรื่องเวช ภูมิปัญญาชุมชนที่มาถ่ายทอดให้เด็กๆ ในชุมชน

“วันนี้มาทำขนมรกโค่ยค่ะ เป็นขนมของคนชอง แต่เดิมมีสีขาวสีเดียว แต่วันนี้ป้าหนูทำแบบสีเขียวจากใบเตย และสีเหลืองจากฟักทองเพิ่มค่ะ หนูเคยชิมแล้วอร่อยมาก แต่ยังไม่เคยทำเลย ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกเลยค่ะ” น้องหม่อน ด.ญ.ปัญญาพร พูลพิพัฒน์ เล่าประสบการณ์การได้กินขนมแสนอร่อยของบ้านตัวเองด้วยความดีใจว่าจะได้ลองทำเป็นครั้งแรก

ขนมรกโค่ยในภาษาชอง เป็นขนมที่มีชื่อเสียงแถบ จ.จันทบุรี และจ.ตราด หลายคนอาจไม่ทราบที่มาว่าเป็นขนมของคนเผ่าชองที่ทำไว้กินในงานมงคลต่างๆ เผ่าชองเป็นประชากรดั้งเดิมในท้องถิ่นแถบนี้ เมื่อผู้คนจากที่อื่นๆ หลั่งไหลเข้ามาขุดพลอยแถบจันทบุรีและตราด จึงเกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม และภาษาชองเป็นภาษาที่ไม่มีตัวหนังสือ จึงค่อยๆ หายไปจากชีวิตประจำวันของเด็กๆ ในยุคใหม่ แม้แต่ชาวชองในหมู่บ้านช้างทูนเองยังพูดภาษาชองไม่ได้แล้ว เพียงแต่ทราบว่าบรรพบุรุษของตนเองเป็นชาวชองเท่านั้น

“ขนมและอาหารชองหลายๆ อย่าง มันเริ่มๆ หายไปจากชุมชนเราแล้วค่ะ เด็กสมัยนี้จะปั้นขนมนี้ไม่เป็นแล้ว ชุมชนเราดึงภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพรและการพอกโคลนขาวจากแม่น้ำมาทำสปาเป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยว เลยอยากให้นำเรื่องอาหารเข้ามาเสริมด้วย เด็กๆ เหล่านี้จะได้ไม่ลืมค่ะ วันนี้ก็จะสอนทำขนมรกโค่ยและแกงไก่ใส่กล้วยพระค่ะ” ป้าหนู อุทัย เปรื่องเวช เล่าที่มาการนำภูมิปัญญามาถ่ายทอดให้เด็กๆ

วิธีทำขนมรกโค่ย ปั้นแป้งผสมข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ใส่น้ำเปล่าผสมเกลือนิดๆ บางสูตรก็ใส่น้ำกะทิ ปั้นเป็นแท่งยาวเล็กๆ จากนั้นจึงนำไปต้ม เมื่อสุกจะลอยขึ้นมา ตักมาพักให้เย็น คลุกด้วยมะพร้าว โรยด้วยงาคั่ว น้ำตาล เกลือเล็กน้อย ด้วย ส่วนผสมไม่กี่อย่างก็อร่อยได้ง่ายๆ จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชอง

 

“กล้วยพระต้องไปตัดที่เขาเกาะชู้ในชุมชนเราค่ะ มีขึ้นที่นั่นเยอะที่สุด และเป็นกล้วย ที่แปลกมากเพราะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ไม่ได้ขยายด้วยหน่อเหมือนกล้วยชนิดอื่นๆ เวลาแกงก็ใช้แต่แกนกลางหรือว่าหยวก กินกับข้าวเหนียวมูน อร่อยมากๆ ค่ะ” น้องหม่อน ด.ญ.ปัญญาพร พูลพิพัฒน์ เล่าขณะช่วยกันตำเครื่องแกงกับเพื่อนๆ โดยมีป้าหนูคอยแนะนำ

 

ชาวชองรุ่นใหม่ที่บ้านช้างทูน อ.บ่อไร่ จ.ตราด อาจจะเริ่มหลงลืมวัฒนธรรมบางอย่างของตนเองไปบ้างแล้ว แต่เมื่อหยิบยกมาเรียนรู้และถ่ายทอด พัฒนาชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นนี้ เด็กๆ ก็จะเริ่มเห็นคุณค่าภูมิปัญญาชุมชน บอกเล่าต่อได้อย่างภาคภูมิใจ อย่างน้อยๆ ก็มีความทรงจำถึงรสชาติแสนอร่อยของขนมและอาหารพื้นบ้านของตนเอง

 

ใครอยากชมการเรียนรู้ของเด็กๆ อยากดูหน้าตาขนมรกโค่ยและแกงไก่ใส่กล้วยพระว่าเป็นอย่างไร ติดตามในรายการ ทุ่งแสงตะวัน ตอน หรรษาประสาชอง วันเสาร์ที่ 6 ต.ค. นี้ ทางช่อง 3 ช่อง 33

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน