ทำเอง-เล่นได้ สื่อในพิพิธภัณฑ์

โดย วสวัณณ์ รองเดช

ในยุคเริ่มต้น ชื่อของพิพิธภัณฑ์เล่นได้ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย สร้างความสงสัยชวนให้ใครๆ อยากมาเยือนและพิสูจน์ความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ “เล่นได้”

ยี่สิบปีผ่านมา…ถึงยุคนี้พิพิธภัณฑ์เล่น ได้เป็นที่รู้จักไปทั่ว ขยับมาเป็นโรงเล่น กว้างขวาง อิสระ เด็กๆ จะสนุกกับการเล่นและของเล่นบรรดามี เรียนรู้จากการเล่น ฝึกทักษะหลายๆ ด้านจากการเล่นลงมือปฏิบัติเมื่อ มาที่นี่

แรกเริ่มเดิมทีที่ชวนชุมชนทำพิพิธภัณฑ์เล่นได้ วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้ประสานงานและดูแล เล่าว่า “เราไม่ได้ชวนชุมชนทำพิพิธภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว ไม่ได้ทำเพื่อคนอื่น แต่ทำให้กับชุมชน คนอื่นเข้ามาเป็นผลพลอยได้ แต่ 5 ปีหลังมานี้ร้อยละ 90 ของคนที่เข้ามาเป็นคนต่างถิ่น” ไม่เพียงเท่านั้น โรงเล่นยังผลิตสื่อและของเล่นที่พร้อมสัญจรไปทั่วทุกที่

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล แห่งโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ เชียงราย กล่าวด้วยว่า “จุดเริ่มต้นของการผลิตของเล่นของเราคือสองมือและความตั้งใจ ถ้าเรารออุปกรณ์พร้อม วันนี้คงไม่เกิดของเล่น ไม่มีคำว่าพร้อม มีแค่ว่าเราจะเริ่มทำหรือเปล่า”

ของเล่นและสื่อต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์เล่นได้ เกิดจากการลงมือทำ ทั้งจากคนเฒ่าคนแก่และคนรุ่นใหม่ หนึ่งในนั้นคือ แปลน และ ปูน รามิล และ นาฬา กังวานนวกุล ลูกชายของ วีรวัฒน์ กังวานนวกุล เด็กชายทั้งสองเติบโตท่ามกลางการเล่นและของเล่น เรียนรู้จากการเล่นและลงมือทำ จนวันหนึ่งหยิบจับของเล่นรูปแบบเดิมมาต่อยอด สร้างสรรค์การเรียนรู้ใหม่เพิ่มขึ้นในพิพิธภัณฑ์เล่นได้อีกหลายอย่าง ของเก่าก็ยังอยู่ ที่เพิ่มเติมคือน่าสนใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม

จากเด็กชายเล็กๆ แปลน รามิล กังวานนวกุล โตเป็นหนุ่ม อายุ 16 ปี เริ่มผลิตสื่อในพิพิธภัณฑ์โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในขณะที่ ปูน นาฬา กังวานนวกุล อายุ 11 ขวบ สร้างชิ้นงานตามความสนใจและความถนัดของตัวเอง ปูนถนัดงานฝีมือ เย็บ ปัก ถัก ทอ ก็คิดทำของเล่นสร้างจินตนาการไม่รู้จบ เช่น ชุดฟาร์มที่สร้างไว้ถึง 9 แบบ เป็นการเล่นที่ฝึกการวางแผนสร้างรูปแบบฟาร์มของตัวเองไม่ต่างจากที่ผู้ใหญ่วางแผนเมื่อเริ่มลงมือทำการเกษตรบนพื้นที่ตัวเองอย่างเป็นขั้นตอน

ปูนเล่าว่า “ไปเห็นฟาร์มของลุง ก็เลยอยากทำฟาร์มของตัวเองบ้าง ฟาร์มทั้ง 9 ถ้าเอามาต่อกันก็จะเป็นฟาร์มใหญ่ มีบึงน้ำ แปลงผัก สัตว์เลี้ยงต่างๆ มีหญ้า มีอาหารสัตว์” ส่วนจะต่อกันแบบอยากจะให้อะไรอยู่ตรงไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะออกแบบฟาร์มของตัวเองอย่างไร

ส่วนพี่แปลน พี่ชายของปูน หยิบจับความรู้ทางเทคโนโลยีที่ตัวเองสนใจมาสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่ เรียกว่า “โฮโลแกรม” สื่อ 3 มิติ ทำให้กับพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ โรงเล่น เชียงราย

สื่อในพิพิธภัณฑ์สร้างสรรค์โดยเด็ก มีพ่อแม่เป็นดังโค้ช พอรักหรือชอบอะไรก็ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ จึงสามารถพัฒนาออกมาเป็นชิ้นงานของตัวเองอย่างน่าชื่นชม คุณพ่อวีรวัฒน์ แปลน และปูน ได้รับเชิญจากมิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “สื่อในพิพิธภัณฑ์ทำเองได้” ที่เพิ่งผ่านไปเร็วๆ นี้ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สนใจสร้างสื่อในพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเองได้เป็นอย่างดี

ติดตามความคิดสร้างสรรค์ ร่วมชื่นชมสื่อฝีมือเด็ก ผลงานการสร้างสื่อในพิพิธภัณฑ์เล่นได้ของแปลนและปูน ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ปู่นปู๊น @ มิวเซียมสยาม เสาร์ที่ 13 ตุลาคมนี้ ช่อง 3 และช่อง 33 เวลา 06.25 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน