เบิ่งถ้ำผู้นำลาว ฐานที่มั่นเวียงไซ : หลากหลาย

ฐานที่มั่นเวียงไซ – ในช่วงนี้ที่ลาว ประเทศเพื่อนบ้านดูคึกคักไม่น้อย ตั้งแต่เมืองหลวงนครหลวงเวียงจัน เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันเพ็ญเดือนสิบสอง งานบุญใหญ่ระดับชาติบุญธาตุหลวง เฉลิมฉลองพระธาตุหลวงเวียงจัน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจชาวลาว

จัดเป็นประจำทุกปี นอกจากชาวเวียงจันแล้ว ยังมีประชาชนจากเมือง และแขวงต่างๆ มุ่งหน้ามาร่วมงานบุญอย่างล้นหลาม

แม้แต่คนไทยเองจำนวนไม่น้อย ก็ข้ามน้ำข้ามแดนไปเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญกุศล

ในทุกปีพอเสร็จบุญธาตุหลวงที่ลาวจะมีงานวันชาติ 2 ธันวาคม รำลึกวันครบรอบก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ..2518

เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชอาณาจักรลาว เข้าสู่ลาวยุคใหม่ภายใต้การนำพาของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

ทว่ากว่าลาวจะมาถึงวันนี้ได้ ที่เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ฐานที่มั่นสำคัญของพรรคและกองทัพประชาชนลาว ที่ต่อสู้กู้ชาติปลดปล่อยจนมาเป็น สปป.ลาว ในวันนี้

มีวาระสำคัญ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ..2511 รัฐบาลสปป.ลาวจึงจัดเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกันที่เวียงไซ ในวันที่ 28-30 ..2561

อนุสาวรีย์แก้วหลักเมือง เมืองซำเหนือ

อนุสาวรีย์นักรบนิรนาม เมืองเวียงไซ

มีบุคคลสำคัญของประเทศมาร่วมงานกันคึกคัก

เวียงไซ เป็นเมืองหนึ่งของแขวงหัวพัน ห่างจากซำเหนือเมืองเอกของแขวงไปทางตะวันออก 30 กิโลเมตร ห่างจากชายแดนเวียดนามเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตรเท่านั้น

นอกจากเป็นฐานที่มั่นแห่งการปฏิวัติลาวแล้ว ยังถูกยกย่องเป็นดินแดนวีรชนกล้าหาญ

หนังสือเสียงเอิ้นจากเวียงไซ เรื่องราวต่างๆ จากเมืองลับแล จัดพิมพ์โดยองค์การท่องเที่ยวแห่งชาติ สปป.ลาว รวบรวมเหตุการณ์ที่เมืองเวียงไซเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

โดยระบุว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเข้าแทรกแซง และก่อสงครามลับในลาว เกิดการสู้รบ และขยายไปหลายสมรภูมิทั่วประเทศ

กลุ่มผู้นำปฏิวัติลาวในขณะนั้น นำโดย ไกสอน พมวิหาน และ เจ้าสุพานุวง หรือ เจ้าชายแดง พร้อมสหายพรรคพวกหลบหนีจากเวียงจัน ไปตั้งฐานที่มั่นในแขวงเชียงขวาง ทุ่งไหหิน เมืองแปก เมืองคูน

สหรัฐส่งยนต์ หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดบอมบ์ฐานที่มั่นต่างๆ ในแขวงเชียงขวางและพื้นที่ใกล้เคียง ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย บ้านเมืองเสียหายย่อยยับจากระเบิด กลายเป็นสนามรบดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งในขณะนั้น

ราวปีพ..2507 กลุ่มผู้นำลาวตัดสินใจย้ายออกจากเชียงขวาง ขยับขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างฐานที่มั่นแห่งใหม่ที่เมืองเวียงไซ

ถ้ำช้างลอด ศูนย์บัญชาการทหารสูงสุด

ที่นี่สภาพภูมิประเทศและชัยภูมิเหมาะสมกว่าเชียงขวาง นอกจากอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนสูงชัน

สำคัญคือเต็มไปด้วยถ้ำน้อยใหญ่กว่า 400 ถ้ำ ใช้เป็นที่หลบภัยระเบิด หรือจรวดจากโจรอากาศ เครื่องบินศัตรู

นอกจากนี้ เวียงไซยังอยู่ติดเวียดนาม เปรียบเสมือนเป็นหลังพิง การส่งเสบียง เครื่องอุปโภคบริโภค รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากมิตรประเทศอุดมการณ์เดียวกันจึงค่อนข้างสะดวก

เมืองเวียงไซจึงเป็นฐานที่มั่นอันมั่นคงแข็งแกร่งมาตลอด 9 ปี ช่วงพ.. 2507-2516

ในช่วงนั้นบรรดาผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น ไกสอน พมวิหาน, เจ้าสุพานุวง, หนูฮัก พูมสะหวัน, พูมี วงวิจิด, คำไต สีพันดอน และผู้นำคนอื่นๆ ต้องอาศัยอยู่ภายในถ้ำ

นอกจากใช้หลบภัยแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่พักอาศัย ห้องทำงาน ห้องประชุม โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแสดงศิลปวัฒนธรรม ธนาคาร สถานที่วางแผนสั่งการบัญชาการต่างๆ รวมถึงกองกำลังทหาร และประชาชนด้วย มีผู้คนรวมกันประมาณ 20,000 คน

ทางเดินภายในถ้ำ

ประชาชนเองก็ต้องอาศัยอยู่ในถ้ำ เนื่องจากด้านนอกเป็นสมรภูมิ อันตรายจากจรวด ลูกปืน ลูกระเบิดจากเครื่องบินสหรัฐและพันธมิตร ประมาณกันว่าช่วงปีพ..2507-2516 สหรัฐและพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่ประเทศลาว จำนวนมหาศาลกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งขณะนั้นลาวมีพลเมือง 2 ล้านกว่าคน เฉลี่ยแล้วระเบิด 1 ตันต่อพลเมืองลาว 1 คน

หลังจากเซ็นสัญญาหยุดยิงเมื่อปีพ..2516 มีความปลอดภัยมากขึ้น จึงเริ่มขยับขยายออกมาตั้งฐานที่มั่นภายนอกถ้ำ จนกระทั่งปลดปล่อยตั้ง สปป.ลาว ได้สำเร็จในอีก 2 ปีถัดมา

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาวลาว หรือ ชาวต่างประเทศ เมื่อมาซำเหนือ แขวงหัวพัน ต่างมาเที่ยวชมเมืองเวียงไซ ซึ่งทางการลาวปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงอดีตผู้นำ วีรชนนักรบ เป็นบทเรียนจากการต่อสู้ และสงครามอันยาวนาน

โดยเปิดให้เข้าชมทั้งหมด 7 ถ้ำ เรียงลำดับจากถ้ำไกสอน พมวิหาน, ถ้ำหนูฮัก พูมสะหวัน, ถ้ำสุพานุวง, ถ้ำพูมี วงวิจิด, ถ้ำคำไต สีพันดอน, ถ้ำปืนใหญ่ และถ้ำ ช้างลอด

บัตรเข้าชมราคา 10,000 กีบลาว หรือราว 40 บาท จะมีพนักงานนำชมพร้อมอธิบายความเป็นมา ลักษณะเด่นแต่ละจุด แต่ละถ้ำ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง

เริ่มจาก ถ้ำไกสอน พมวิหาน อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคนแรก นายกรัฐมนตรีลาวคนแรก และประธานประเทศคนที่ 2 ก่อนข้ามไปฝั่งตรงข้าม ถ้ำหนูฮัก พูมสะหวัน อดีตประธานประเทศคนที่ 3

ต่อด้วยถ้ำสุพานุวง ประธานประเทศคนแรกของลาว หลังปลดปล่อยประเทศสำเร็จ และใกล้กันเป็นถ้ำพูมี วงวิจิด อดีตรักษาการประธานประเทศ

ก่อนข้ามไปอีกฟากของเมือง ถ้ำคำไต สีพันดอน อดีตประธานประเทศคนที่ 4 ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบคุมกองกำลังทหารทั้งหมด ติดกันเป็นถ้ำปืนใหญ่ เป็นจุดสังเกตการณ์ข้าศึก ติดตั้งปืนกล และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน

กระทั่งไปจบที่ถ้ำช้างลอดอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน เป็นกองบัญชาการทหารสูงสุด

ทั้งถ้ำคำไต ถ้ำปืนใหญ่ และถ้ำช้างลอด เป็นค่ายทหาร จึงเป็นถ้ำใหญ่ที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกโจมตีทิ้งระเบิดมากที่สุด เพราะเป็นที่ตั้งทางทหาร

บริเวณปากถ้ำและโดยรอบถ้ำ จึงเต็มไปด้วยขุมระเบิดหรือ หลุมระเบิด ทั้งหลุมเล็กใหญ่เต็มไปหมด ถ้ำอื่นๆ ก็เช่นกัน แต่ไม่มากเท่า อย่างถ้ำสุพานุวงก็มีหลุมระเบิด แต่ภายหลังปรับปรุงเป็นบ่อปลาเลี้ยงสวยงาม

สิ่งหนึ่งที่ทุกถ้ำเหมือนกัน คือบริเวณทางเข้าและรอบถ้ำจะมีต้นฮ่อมไผ่เป็นไม้ล้มลุก ใบและก้านสีแดงเลือด พนักงาน ผู้นำชมอธิบายว่า เปรียบเสมือนเลือดเนื้อชีวิตประชาชนชาวลาว ที่ต่อสู้ต้านทานต่อตีผู้รุกราน

ภายในแต่ละถ้ำมีสิ่งที่เหมือนกัน คือห้องนอน ห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องอาบน้ำ ห้องส้วม ห้องครัว ห้องนั่งเล่นพักผ่อน ห้องทหารอารักขา รวมถึงห้องนอนของลูกๆ ผู้นำแต่ละคนด้วย

อย่างถ้ำไกสอน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเลขา ธิการใหญ่ศูนย์กลางพรรค ผู้นำสูงสุดแห่งขบวนการปฏิวัติลาว จะมีห้องประชุมสำหรับกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค หรือโปลิต บูโร 7 คน หรือ 7 สหายในขณะนั้นด้วย

โดยนายไกสอน เลขาธิการใหญ่นั่งประธานหัวโต๊ะ ถัดไปเป็นเจ้าสุพานุวง, หนูฮัก พูมสะหวัน, พูมี วงวิจิด, คำไต สีพันดอน, พูม สีปะเสิด และ สีสมพอน ลอวันไซ

แต่ที่พิเศษและน่าสนใจสำหรับผู้เที่ยวชม คือบริเวณติดกับห้องนอนของผู้นำแต่ละคน เป็นห้องป้องกัน สารพิษเคมี ผนังห้องเป็นปูนคอนกรีตอย่างหนา พร้อมประตูเหล็กอย่างหนาเช่นกัน มีไว้สำหรับหลบภัยฉุกเฉิน กรณีถูกโจมตีด้วยระเบิดเคมี

ในห้องมีเครื่องกรองอากาศพิษ และระบบถ่ายเทอากาศ อุปกรณ์เหล่านี้สหภาพโซเวียต ยักษ์ใหญ่ผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ในขณะนั้นส่งมาให้ และทหารช่างเวียดนามเป็นผู้ก่อสร้างติดตั้ง

เจดีย์ธาตุลูกชายประธานสุพานุวง

นาน 9 ปี ต้องใช้ชีวิตและปฏิบัติภารกิจส่วนใหญ่ในถ้ำ ครั้นปีพ..2516 พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเซ็นสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลราชอาณาจักรลาว บรรดาผู้นำและหน่วยงานต่างๆ จึงเริ่มขยับขยายออกมา นอกถ้ำ

โดยผู้นำแต่ละคนก่อสร้างเรือนพักไว้บริเวณปากถ้ำ ปลูกต้นไม้ปกคลุมร่มรื่น แต่ที่ถ้ำสุพานุวงพิเศษตรงที่มีเจดีย์ธาตุของอะลิยะทำมะสิน สุพานุวงบุตรชาย เจ้าสุพานุวง ที่เสียชีวิตจากการสู้รบ ประธานสุพานุวงสร้างไว้เป็นที่ระลึก

ทุกครั้งที่ชาวลาวมาเยี่ยมชมถ้ำนี้ จะจุดธูปไหว้เคารพอาลัย อธิษฐานรำลึกถึงบุญคุณของท่านที่ร่วมปกปักรักษาประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัย

ขณะที่บริเวณตัวเมืองเวียงไซเอง ก็ปรากฏร่องรอยจากสงครามหลงเหลืออยู่ อย่างบ่อน้ำขนาดใหญ่หลายจุดกลางเมือง ไม่ใช่หนองน้ำธรรมชาติ หรือถูกขุดขึ้นเอง แต่เกิดจากการทิ้งระเบิดถล่มจนกลายเป็นหลุมขนาดใหญ่

มาบัดนี้เวียงไซครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งฐานที่มั่นแห่งการปฏิวัติลาว อีกเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติลาว เป็นฐานที่มั่น จุดเริ่มต้น รากฐานความเป็นมาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวหรือลาวยุคใหม่ หลังปลดปล่อย

เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เมื่อมาซำเหนือ หัวพัน มักแวะมาชมถ้ำอนุสรณ์สถาน ดูร่องรอยบทเรียนจากสงครามการต่อสู้กู้ชาติ และเรื่องราวต่างๆ ในสมัยนั้น

คนลาวเองก็เช่นกัน ทั้งคณะใหญ่ คณะเล็ก ต่างไม่พลาดมาเยี่ยมยาม ทั้งยังเป็นการรำลึกถึงอดีตผู้นำ และเหล่าวีรชนนักรบผู้พลีชีพ

ธีระยุทธ ยุวนิมิ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน