EAเปิดบ้านโซลาร์ฟาร์ม ควบคู่ท่องเที่ยวเมืองลำปาง : หลาก&หลาย

โดย…ปฤษณา กองวงค์

EAเปิดบ้านโซลาร์ฟาร์ม ควบคู่ท่องเที่ยวเมืองลำปาง : หลาก&หลาย – บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำธุรกิจพลังงานทางเลือก ได้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม โดยในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 แห่ง คือ จ.ลพบุรี จ.นครสวรรค์ จ.พิษณุโลก และ จ.ลำปาง เมืองน่าอยู่

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ชักชวนคณะสื่อมวลชนหลายสิบชีวิต เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม ที่ติดตั้งระบบหมุนตามดวงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และมีประสิทธิภาพสูง ที่ จ.ลำปาง ปลายทางฝัน พร้อมพาไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวของเมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา

บ้านโซลาร์ฟาร์ม

แม้ลำปางหรือเขลางค์นคร จะเป็น 1 ใน 55 เมืองรอง แต่เป็นหนึ่งในเมืองต้องห้ามพลาด

ไม่ว่าจะเป็น วัดพระธาตุลำปางหลวง นั่งรถม้าชมเมืองสัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายของผู้คน ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง ที่สะท้อนถึงแรงศรัทธาอันแรงกล้าของผู้คน หรือเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ซึ่งรวบรวมเรื่องราวการค้นพบดินขาว การก่อตั้งโรงงานเซรามิกและที่มาของ “ชามไก่”

ชมความงามของ “บ้านหลุยส์” บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ อายุ 112 ปี ที่ท้าทายกาลเวลามีมาตั้งแต่ยุคที่ลำปางรุ่งเรืองช่วงที่มีการสัมปทานป่าไม้ ของนายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ที่ปัจจุบันได้มีการบูรณะให้สง่างามและเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลัง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และได้เชื่อมร้อยวิถีชีวิตของคนชุมชนท่ามะโอ โดยทุกเสาร์ที่ 3 ของเดือนจะมีงาน ‘ท่ามะโอ เรโทร แฟร์’ รอบบ้านหลุยส์

บ้านหลุยส์

ไม่เท่านั้นลำปางมีน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน และมีเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หมุดหมายสำคัญคือการเยือนโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งไม่ได้เปิดให้ชมกันง่ายๆ ถือเป็นครั้งแรกที่ อีเอ เปิดบ้านต้อนรับ

พระธาตุลำปางหลวงวัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง

บนพื้นที่กว้างขวาง 2,354 ไร่ ใน อ.ห้างฉัตร และ อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อขับรถเข้าไปในพื้นที่ ขึ้นๆ ลงๆ เนิน เหลียวมองสองข้างทาง ทัศนียภาพโดยรอบ ที่มีแต่แผงโซลาร์เซลล์ กว่า 424,000 แผง เรียงรายยาวสุดลูกหูลูกตา แต่เจ้าบ้านบอกว่าใช้พื้นที่เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น อีก 40 ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า

มีอาคารทรงกล่องแบบสมัยใหม่ และหอสูงยิ่งทำให้มองเห็นพื้นที่โดยรอบได้กว้างไกลยิ่งขึ้น

โซลาร์ฟาร์มแห่งนี้มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ จ่ายไฟให้กับประชาชนได้ 60,000 ครัวเรือน ต่อปี เริ่มขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วันที่ 17 ..2558

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล-น.ส.ออมสิน ศิริ

..ออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร กล่าวว่า บนพื้นที่กว่า 2 พันไร่ เรียกได้ว่าในประเทศไม่มีใครใหญ่เท่าที่นี่ ถ้าเป็นระดับอาเซียนเราเป็นรองจากประเทศฟิลิปปินส์เท่านั้น ด้วยประสิทธิภาพเชื่อว่าเราไม่แพ้ใคร ด้วยกำลังผลิตไฟฟ้าที่หล่อเลี้ยง 6 หมื่นครัวเรือน โดยไม่ต้องใช้พลังงานจากฟอสซิล ที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม คือจุดเด่นของอีเอ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าที่อิงกับธรรมชาติเหล่านี้ขยายเวลาบริการประชาชนให้นานขึ้น

ธุรกิจขั้นถัดไปซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอีเอที่จะลงทุนระดับแสนล้านบาทจะเป็นแบตเตอรี่ เมื่อแบตเตอรี่มารองรับโรงไฟฟ้า รถยนต์ และเราจะได้เห็นรถยนต์สัญชาติไทย ภายใต้ยี่ห้อ MINE คิดโดยทีมงานไทย บนเส้นทางการเติบโตที่เกาะติดอยู่กับพลังงาน ที่ใช้เทคโนโลยีที่นำปาล์มมาทำไบโอดีเซล เอาแสงแดดและลม มาทำ ไฟฟ้า เอาแบตเตอรี่มาเซอร์วิสได้นานขึ้น ทำรถไฟฟ้า สถานีชาร์จ ต่อยอดขึ้นไปเป็นทิศทางในอนาคตที่อีเอไดรฟ์ไปข้างหน้า

ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร กล่าวต่อว่า ภาพรวมที่ลำปางเป็นเมืองพลังงาน ที่นี่มีพลังงานถ่านหินที่มีมายาวนาน มี โรงไฟฟ้าที่อิงกับธรรมชาติที่โตอย่างแข็งแรงในอนาคต ถ้าเราติดแบตเตอรี่ได้ เมืองเล็กๆ แห่งนี้ จะเป็นเมืองแห่งพลังงาน มีเทคโนโลยี อากาศที่เหมาะสม วัฒนธรรมกึ่งโบราณกึ่งสมัยใหม่ อาหารอร่อย บรรยากาศดี

เดิมพื้นที่นี้ชาวบ้านทำการเกษตรแต่ดินไม่สมบูรณ์ และอยู่ใต้สายส่ง เราพยายามแก้ปัญหาดิน ปลูกข้าวโพดมีแต่ซัง ฟันหลอ ปลูกเสาวรสเปลือกก็หนาอย่างกะส้มโอ แต่เราคือโรงไฟฟ้า ซึ่งอยู่กับธรรมชาติ เราอยากพยายามคืนพื้นที่สู่ภาคการเกษตรแต่มีข้อจำกัด ที่นี่คุณภาพดินมีปัญหา ควบคุมระบบน้ำยาก ดินไม่อุ้มน้ำ ต่อให้สร้างแหล่งเก็บน้ำ อาจเป็นอุปสรรคต่อการเกษตรในอนาคตได้ ก็พยายามปลูกผัก ใต้แผงโซลาร์ สู่ตลาดจริง เป็นภาพรวมทั้งหมด บนวิชั่นที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ที่เหมาะที่สุดของลำปางคือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็โปรโมตลำปาง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองที่น่าสนใจไม่น้อยหน้าเชียงใหม่ ที่มีการผสมผสานเทคโนโลยี วัฒนธรรม อาหาร อากาศ แล้ว 10 นาทีจากตัวเมืองถึงสนามบิน เดี๋ยวเราค่อยๆ ดิเวลอป ดูความพร้อมแล้วค่อยๆ เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พลังงานแห่งอนาคต ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่เหมาะสม เราเป็นโรงไฟฟ้าต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย”..ออมสินกล่าว

ด้าน นายอมร กล่าวด้วยว่า ถ้าคนที่ไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าจะเห็นได้ว่า โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่จะไม่ตั้งแผงสูง อันนี้เป็นความตั้งใจ เราตั้งแผงสูงจากพื้น 15 เมตร ตั้งใจให้พื้นที่ข้างล่างทำการเกษตร ตรงไหนทำได้ทำ เราตั้งใจจะบอกว่า โรงไฟฟ้าไม่ได้แย่งพื้นที่การเกษตร เรายอมเสียเงินเรื่องฐานรากอีกหลายร้อยล้าน เพื่อยกแผงให้สูงกว่าปกติ เพื่อให้เกิดการใช้งานจริง

พิพิธภัณฑ์ธนบดี

ผมทำธุรกิจแต่ไม่ได้มุ่งทำยอดสูงสุด ลำปางเงินลงทุนเกือบ 8 พันล้าน ส่วนที่งอกขึ้นมาจริงๆ ไม่ต้องทำก็ได้ แต่ต้องการทำให้เห็นว่า การทำธุรกิจที่ยั่งยืน มันต้องอยู่กับชุมชน เราต้องโตไปกับเขา วันหลังเราไปอยู่ตรงไหนเขาก็รัก ความเจริญกับวิถีชีวิตมันอยู่ด้วยกันได้ เราพยายามดีไซน์ตรงนั้น เราตั้งใจทำ สิ่งที่เราทำเป็นความคิดตั้งแต่แรก คนที่มาดูอาจแปลกใจ ในแง่วิศวกรรมมันตลก จะทำ ทำไมไม่แม็กซิไมซ์โปรเจ็กต์ แต่เขาไม่ทราบว่าเราทำเพื่ออะไร” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ไม่เท่านั้น นายอมรแย้มถึงแผนการรองรับเพื่อการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับเมืองว่า จะตัดถนนเข้าพื้นที่ พร้อมปลูกต้นไม้สวยๆ สองข้างทาง ทำจุดแวะพัก เมื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อนชาวบ้านก็จะมีรายได้ โดยจะเปิดเป็นบางช่วงของปี เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน

แต่ขอเวลาอีกสักปี ไว้ปีหน้ามาอัพเดตกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน