ท่องชุมชนดูศิลปะ ร้อยเอ็ดสารคาม

ท่องชุมชนดูศิลปะ ร้อยเอ็ดสารคาม – การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยกคณะเดินทางลัดเลาะไปในแคมเปญเมืองรองต้องลองทริปนี้ไปภาคอีสาน ตะวันออกเฉียงเหนือที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ และมนต์เสน่ห์แห่งวัฒนธรรมลุ่มน้ำภาชี

ใครที่หลงใหลในงานศิลปะมีชีวิตไม่ควรพลาดชมกลิ่นอายความอาร์ต และกิจกรรมที่จะมาเพิ่มสีสันให้ชีวิตจากความเป็นอยู่ของชุมชนที่.ร้อยเอ็ดและ.มหาสารคาม

พระอุโบสถเรืออนันตนาคราช วัดหนองหูลิง

สถานที่พักผ่อนและศูนย์รวมเรื่องเล่าของวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมจนถึงสมัยใหม่ ทั้งงานหัตถกรรม ประติมากรรม ภาพวาด ให้นักท่องเที่ยวได้ปลดปล่อยอารมณ์ความอาร์ต และใกล้ชิดกับเจ้าของชุมชนในท้องทุ่งสีทองตะวันออกเฉียงเหนือ

เริ่มต้นไปชมความอลังการสุดประณีตที่วัดบูรพาภิรามตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เดิมชื่อวัดหัวรอแต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดบูรพาภิราม เพราะตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเมือง

วัดบูรพาภิราม

เมื่อมาถึงต้องเข้าไปกราบสักการะพระพุทธรูปรัตนมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางประทานพร ที่สูงที่สุดในประเทศไทย วัดจากฐานพระพุทธรูปถึงยอดเกศ มีความสูง 67 เมตร

ชาวร้อยเอ็ดถือว่าหลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง คอยปกป้องคุ้มครองชาวร้อยเอ็ดให้มีชีวิตความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข และด้วยความสูงขององค์พระ ทำให้เกิดความเชื่อว่าหากได้มากราบไหว้ จะได้อานิสงส์สูงเทียมเมฆเทียมฟ้า ทำสิ่งใดจะสำเร็จผลด้วยประการทั้งปวง

จากนั้นไปต่อกันที่ชุมชนกู่กาสิงห์.เกษตรวิสัย เดิมเป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อเนื่องมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ในสมัยวัฒนธรรมขอม

เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีโครงสร้างเครือญาติแน่น แฟ้น จนกล่าวได้ว่าเป็นญาติกันทั้งหมู่บ้านพบการต้อนรับเคล้าเสียงแคนสนุกสนานและรอยยิ้มจากชาวบ้านกู่กาสิงห์ ฟังบทผญา หรือกลอนพื้นบ้าน ชมโบราณสถานขอมกู่กาสิงห์ ผ่านการเล่าขานจากมัคคุเทศก์น้อยประจำชุมชน

โดยสิ่งที่น่าสนใจในโบราณสถานขอมกู่กาสิงห์ คือรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาท หรือเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 16 ตามแบบอิทธิพลวัฒนธรรมขอม เพื่ออุทิศแด่พระอิศวรในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ด้านในมีปราสาทอิฐ 3 หลังตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสร่วมทำกิจกรรมกับชาวบ้านในชุมชน กู่กาสิงห์ เรียนรู้วิถีชีวิต ภูมิปัญญา อัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านการเวิร์ก ช็อปทำหุ่นไล่กา ทอผ้าไหม และทำเข็มกลัดเมล็ดข้าว พร้อมนำกลับไปเป็นของฝากน่ารักๆ ด้วย

และเส้นทางความอาร์ตสมัยใหม่ที่ดึงดูดชาวฮิปสเตอร์ให้หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บริเวณถนนคูเมืองทิศตะวันตก หน้าสวนเฉลิมพระเกียรติภูมิพลมหาราช ภาพกราฟิตี้ สตรีตอาร์ต บนกำแพงยาวกว่า 200 เมตร สร้างสรรค์จากศิลปินกว่า 50 ชีวิตทั่วภูมิภาค

สะท้อนมุมมองความคิดที่มีต่อ จ.ร้อยเอ็ด จนกลายเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องแวะมาถ่ายรูปเก็บภาพเท่ๆ ไว้เป็นที่ระลึก

เต็มอิ่มกับสีสัน จ.ร้อยเอ็ด เสร็จแล้ว มาต่อกันที่.มหาสารคามชมความงดงามของธรรมชาติที่ผสมผสานกับวิถีชีวิตเรียบง่าย สถานที่ผ่อนคลาย เหมาะแก่การเดินทอดน่องชมธรรมชาติพร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ บนสะพานไม้แกดำสะพานไม้ทอดยาวอายุกว่า 100 ปี ที่หนองแกดำ อ.แกดำ หนองน้ำใหญ่โอเอซิสอีสานหล่อเลี้ยงทุกชีวิตมาอย่างยาวนาน

นายทองอยู่ บุติมนตรี อดีตครูโรงเรียนแกดำนุสรณ์ เล่าว่าอดีตหนองน้ำแกดำเป็นแค่ลำห้วย เมื่อถึงฤดูกาลน้ำหลาก ลำห้วยขยายใหญ่ ชาวบ้านเลยพร้อมใจกันหาเสาหาไม้มาช่วยกันสร้างสะพานที่ยาวเกือบ 1 .. ใช้แผ่นไม้สร้างทั้งหมด 1,757 แผ่น เชื่อมต่อหมู่บ้านริมน้ำแกดำ 2 หมู่บ้าน และวัดดาวดึงษ์

เป็นความร่วมมือร่วมใจกันจนเกิดเป็นธนาคารไม้ที่เก็บไว้ใช้ซ่อมบำรุงสะพานให้ แข็งแรง จากสะพานธรรมดาตามวิถีชีวิตชาวบ้าน ตอนนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดมหาสารคามไปแล้ว

นอกจากนี้ยังได้ชมการแสดงเซิ้งกระโจมเป็นประเพณีการขอฝนเก่าแก่สืบทอดมานาน จากชุมชนบ้านหัวขัว กิจกรรมปั่นจักรยานรอบหมู่บ้านหนองแกดำ

ก่อนมาแวะชมศิลปะวิจิตรแปลกตาหาดูได้ยากที่วัดหนองหูลิงโดดเด่นด้วยรูปทรงอุโบสถ สร้างเป็นเรืออนันตนาคราช อุโบสถรูปเรือหมายถึงเรือบุญ เมื่อจะเข้าอุโบสถต้องลอดใต้พระราหู เพื่อให้พระราหูกลืนกินสิ่งไม่ดี

ประตูทางเข้าที่เล็กและต่ำ ทำให้ต้องรู้จักนอบน้อมถ่อมตน และเมื่อเงยหน้าขึ้นก็จะเห็นพระประธานปางปฐมเทศนา ศิลปะแบบทวารวดี อยู่ตรงหน้าพอดี

อีกทั้งยังมีปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมรอบอุโบสถอีกมากมาย นับเป็นศิลปะที่ให้คุณค่าแก่จิตใจได้สงบร่มเย็น สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมหาสารคาม

การท่องเที่ยวในชุมชนด้วยการสัมผัสกับศิลปะที่มีชีวิต แลกเปลี่ยน พูดคุยและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นเป็นเรื่องราวที่ไม่นิ่งเฉย ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวใหม่ๆ เปลี่ยนมุมมองการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อค้นพบความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

โดย นิชานันท์ นิวาศะบุตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน