พระนอน-พนมกุเลน

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรม

โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

พระนอน-พนมกุเลน – ขอไปเล่าถึงพระนอนองค์ใหญ่ที่น่าสนใจองค์หนึ่งที่พนมกุเลน (เขาลิ้นจี่) ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูชา ซึ่งเดิมบริเวณนี้อยู่ในความครอบครองของพระเจ้าแผ่นดินเขมร ไม่มีเขตแดนประเทศที่ชัดเจน ความแตกต่างของกลุ่มชนก็คือ ภาษาและวัฒนธรรม

พระนอน-พนมกุเลน

พนมกุเลนปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ คือ พื้นที่เทือกเขาที่สลับซับซ้อนกลางดินแดนที่เรียกกันว่า เขมร หรือ ขอม ในอดีต ที่มีศรัทธาในศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า ไศวนิกาย ที่มีอิทธิพลและคติของการก่อสร้างเป็นปราสาทหินเพื่อบูชาแก่พระศิวะ เทพผู้มีอำนาจสูงสุด

พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ประมาณ พ.ศ. 1345) ผู้สถาปนาศูนย์กลางแห่งอำนาจที่เมืองหริหราลัย ใช้เป็นฐานกำลังและการบัญชาการ การขยายตัวหรือพัฒนาการงานทางสถาปัตยกรรมที่บูชาพระศิวะ ในยุคนี้เป็นการก่อสร้างด้วยอิฐและพัฒนาต่อเป็นการใช้หินทรายก่อสร้างเป็นปราสาทหรือวิหาร ซึ่งมีอิทธิพลต่อมาจนถึงนครวัด กระทั่งหมดอิทธิพลลงประมาณปี พ.ศ.1900

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางงานสถาปัตยกรรมของศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในปลายสมัยของพระเจ้า ชัยวรมันที่ 4 ที่ใช้หินทรายเป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้มีงานสถาปัตยกรรมฝ่ายเถรวาท คือ พระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระนครธมบนภูเขาพนมกุเลน (หรือภูเขาลิ้นจี่) เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่แกะเป็นภาพนูนสูงจากหินก้อนใหญ่

พระพุทธไสยาสน์นี้ยาวประมาณ 10 เมตร สูง 3 เมตร พระเศียรประทับอยู่บนแขนที่วางราบ ซึ่งดูจะร่วมสมัยกับสมัยอยุธยาตอนกลาง

อ่าน : คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย : เจดีย์ภูเขาทอง อยุธยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน