ส่องวิว-มองชีวิต เมืองงามมัณฑะเลย์

ส่องวิว-มองชีวิต เมืองงามมัณฑะเลย์“ด๊าตโป่งไย่โละยะมะลา” เด็กน้อยชาวพม่าหันมายิ้มให้ เมื่อถามว่า “ขอถ่ายรูปหน่อยได้ไหม” พวงแก้มหนูน้อยเป็นลายพร้อยด้วย ทาสมุนไพรทานาคา

ชาวเมียนมา ถ้าไม่ประทินผิวด้วยทานาคาก่อนออกจากบ้าน เวลาเข้าวัดก็มาเสริมสวยเสริมหล่อกันได้ ที่ซุ้มซึ่งมีแท่งหินสำหรับฝนแท่งทานาคาพร้อมกระจก และยังมีแปรงเอาไว้จุ่มทานาคาประแก้ม

เมืองงามมัณฑะเลย์

ทานาคา

เมืองงามมัณฑะเลย์

แหล่งปลูกต้นตะนะคา หรือทานาคาอยู่ทางตอนกลางของประเทศ รวมทั้งมัณฑะเลย์ จึงพบเห็นร้านขายท่อนทานาคาและทานาคารูปแบบต่างๆ ทั้งผง ครีมและโลชั่นได้ทั่วไป

นักท่องเที่ยวบางคนทาทานาคา ผู้ชายนุ่งโลงจี (ผ้าโสร่ง) ผู้หญิงนุ่งทะเมง (ผ้าซิ่น) แปลงโฉมให้เข้ากับบรรยากาศราชธานีเก่า

เมืองงามมัณฑะเลย์

ทิวทัศน์มองจากเขามัณฑะเลย์

สำนักงานการท่องเที่ยว เขตมัณฑะเลย์ระบุว่าตลอดปี 2561 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนพม่ากว่า 3,500,000 คน ในจำนวนนี้ มีนักท่องเที่ยวมามัณฑะเลย์เกือบ 500,000 คน

นักท่องเที่ยวที่หนาตาขึ้นมากตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว คือ นักท่องเที่ยวจีน เพราะได้รับสิทธิจากพม่าให้ขอรับการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางมาถึงประเทศได้ ทำให้ชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวในเอเชียกลุ่มใหญ่ที่สุด รองลงมาคือนักท่องเที่ยวไทย

เมืองงามมัณฑะเลย์

พระราชวัง

สถานที่สำคัญที่ต้องแวะมาเช็กอิน คือ “พระราชวังมัณฑะเลย์” ราชธานีสุดท้าย ก่อนถึงกาลอวสานในรัชสมัยพระเจ้าสีป้อ กษัตริย์องค์สุดท้ายราชวงศ์คองบอง

หลังจากกองทัพอังกฤษทิ้งระเบิดถล่มพระราชวังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะกองทัพญี่ปุ่นตั้งศูนย์บัญชาการรบ ทำให้พระราชวังไม้สักที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียถูกเพลิงเผาเป็น หน้ากลอง หลงเหลือเพียงกำแพงวังและคูน้ำรอบพระราชวัง

ทุกวันนี้ สิ่งปลูกสร้างภายในพระราชวังทั้ง 114 หลังเป็นของจำลองขึ้นมา รัฐบาลพม่าใช้ต้นแบบจากหลักฐานภาพถ่ายของชาวอังกฤษในช่วงยึดครองพม่ามาสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด

เมืองงามมัณฑะเลย์

วิหารชเวนันดอว์

ส่วน วิหารชเวนันดอว์ เป็นอาคารหลังเดียวที่เหลือรอดจากการทำลายในช่วงสงคราม ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมฝีมือช่างไม้ที่แกะสลักไม้สักทองอย่างวิจิตรบรรจง แม้ผ่านกาลเวลามาถึง 115 ปีแล้วก็ตาม

เดิมที วัดชเวนันดอว์เคยตั้งอยู่ในเขตพระราชวัง แต่เมื่อพระเจ้ามินดงประชวรหนัก และนั่งสมาธิกระทั่งสิ้นพระชนม์ในวิหารนี้ พระเจ้าสีป้อเกรงกลัววิญญาณของพระบิดา จึงสั่งให้รื้อถอนและย้ายมาตั้งนอกเขตพระราชวัง

วัดกุโสดอ เป็นอีกวัดหนึ่งที่คงความสวยงามข้ามกาลเวลา และมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 5 และเป็นการสังคายนาครั้งแรกในรอบ 2,000 ปี ในสมัยของพระเจ้ามินดง

บริเวณโดยรอบวัดร่มรื่นด้วยเงาต้นพิกุลขนาดใหญ่ รายล้อมไปด้วยมณฑปสีขาวที่ครอบแผ่นศิลาจารึก 729 แผ่น วัดแห่งนี้จึงมีความศักดิ์สิทธิ์และสวยงาม จนกลายเป็นสถานที่นิยมถ่ายรูปพรีเวดดิ้ง สำหรับว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวชาวพื้นเมืองไปเสียแล้ว

จุดชมวิวที่บรรยากาศดีงามยามพระอาทิตย์อัสดง มองลงไปเห็นเมืองได้ 360 องศา ต้องนั่งรถสองแถวขึ้นไปบนเขามัณฑะเลย์ ซึ่งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวนิยมมาชมทิวทัศน์ รวมทั้งพระและเณรที่ขึ้นเขามาที่นี่ทุกเย็น เพื่อฝึกภาษาฟุดฟิดฟอไฟกับนักท่องเที่ยวตะวันตก

เณรน้อยบอกว่าเรียนภาษาอังกฤษที่วัด โดยมีครูเป็นอาสาสมัครชาวต่างชาติจากทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และมาฝึกพูดกับชาวต่างชาติเพื่อพัฒนาทักษะภาษาเป็นประจำ

กิจกรรมไฮไลต์ของพุทธศาสนิกชนที่ควรมาเห็นสักครั้งหนึ่งเมื่อมาเยือนมัณฑะเลย์ เป็นการร่วมพิธีกรรมล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพม่า

เมืองงามมัณฑะเลย์

พระหยกมูลค่า 15 ล้านบาท

ผู้มีจิตศรัทธาต้องตื่นตั้งแต่ตีสามเพื่อร่วมพิธีซึ่งจะมีขึ้นในเวลาตี 4 ชาวพม่าเชื่อว่าพระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต มีลมหายใจ จึงต้องล้างพระพักตร์ทุกวัน

ตามตำนานเล่าขานกันว่าพระพุทธเจ้าประทานลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์เข้าไปใน พระวรกายของพระพุทธรูป ส่วนตำราประวัติศาสตร์ระบุว่าพระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์แห่งเมืองธรรมวดี แคว้นยะไข่ สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ ขึ้นเมื่อพ.ศ.689

ต่อมา พ.ศ.2327 พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าไปตีเมืองยะไข่ และอัญเชิญพระพุทธมหามัยมุนีมาประดิษฐานที่มัณฑะเลย์ เมื่อถึง พ.ศ.2422 สมัยพระเจ้าสีป้อ ก่อนเสียเมืองให้อังกฤษ เกิดไฟไหม้ ทองคำเปลวที่ปิดไว้ละลาย ชาวพม่าจึงปิดทองคำเปลวจนพอกพูนทำให้พระวรกายตะปุ่มตะป่ำ ยกเว้นพระพักตร์ ที่เว้นการปิดทองคำเปลว

จึงได้รับการขนานนามว่า “พระพุทธทองคำเนื้อนิ่ม” แต่ผู้ที่เข้าไปปิดทองคำเปลวได้ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ส่วนผู้หญิงต้องฝากให้ผู้ชายไปปิดทองคำเปลวแทน

เมื่อล้างพระพักตร์เสร็จแล้ว ชาวพม่าจะมาต่อแถวรอรับน้ำอบน้ำปรุงกลิ่นหอมที่ใช้ล้างพระพักตร์กลับไปบูชาที่บ้าน เพื่อเป็นสิริมงคล

ก่อนกลับออกจากเมืองมัณฑะเลย์ไปยังสนามบิน แวะไปสักการะพระเวรสนาเจดีย์ เป็นเจดีย์หยกแห่งเดียวในโลกที่เมืองอมรปุระ เมืองหลวงเก่าอีกแห่งหนึ่งของพม่า

องค์พระเจดีย์ก่อสร้างจากหยกสีสันต่างๆ มูลค่าราว 495 ล้านบาท ประดิษฐานพระพุทธรูปหยกปางต่างๆ เป็นการยืนยันได้ว่าพม่าเป็นประเทศที่ผลิตหยกคุณภาพดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

มัณฑะเลย์ยังมีวัดอีกหลายแห่งให้เที่ยวชม รวมทั้งร้านขายหยกเกรดดีที่น่าซื้อหาเป็นของฝาก ก่อนลาจากราชธานีเก่า “อะติดตุ๊ย” แล้วพบกันใหม่

ปารณีย์ จันทรกุล

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน