วิถีแห่งคลองใหญ่ส่อง‘บ่อญวน-หาดทรายสองสี’

วิถีแห่งคลองใหญ่ส่อง‘บ่อญวน-หาดทรายสองสี’ : ในช่วงหน้าผลไม้ของตะวันออก ททท.หลายจังหวัดต่างเชื้อเชิญ นักข่าวจากส่วนกลางไปลองลิ้มชิมรสผลไม้ของแต่ละพื้นที่ อย่างเมื่อไม่นานมานี้ทางททท.สำนักงานตราดชวนไปร่วมบุฟเฟต์สวนผลไม้ในจ.ตราด ซึ่งทุกสวนพร้อมใจกันกำหนดราคาเท่ากันหมดคืออิ่มละ 250 บาท

วิถีแห่งคลองใหญ่ส่อง‘บ่อญวน-หาดทรายสองสี’

เปรียบเทียบให้เห็นทรายสองสี

แต่ก่อนจะถึงสวนผลไม้ที่ว่า อยากฟื้นภาพคลองใหญ่ในอดีตให้ฟังก่อน

หลายคนคงเคยไปอ.คลองใหญ่กันมาแล้ว ย้อนไปในอดีตสมัยสงครามเขมร อันประกอบไปด้วย คอมมิวนิสต์เขมรเฮง สัมรินหนึ่ง คอมมิวนิสต์เขมรแดงหนึ่ง เขมรเสรีอีกหนึ่ง คลองใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายแดนด้านเกาะกง ประเทศกัมพูชา

ที่นี่เคยเป็น 1.ที่ซื้อขายสมบัติเก่าเก็บจากผู้อพยพที่ฝังซ่อนเอาไว้ในสมัยเขมรแดงเรืองอำนาจ ทุกคนต้องใส่ชุดสีดำทั้งประเทศ ไม่มีเครื่องประดับตกแต่ง ไม่มีเงินทอง ประชาชนจึงแอบเอาไปฝังดินไว้และขุดเอามาขายให้กับคนไทยชายแดนเพื่อแลกกับอาหาร ยาและเครื่องนุ่งห่มในราคาถูก

วิถีแห่งคลองใหญ่ส่อง‘บ่อญวน-หาดทรายสองสี’

เรือประมงในคลองใหญ่เหลือไม่มาก

2.เป็นที่ลำเลียงท่อนซุงนับหมื่นนับแสนต้นจากการสัมปทานป่าไม้เขมรอันอุดมสมบูรณ์ 3.เคยเป็นแหล่งลักลอบหนีภาษีชายแดนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก 4.คือที่พักเรือประมงไทยจำนวนมากที่แอบลักลอบเข้าไปทำประมงทั้งในเขมรและเวียดนาม หลังสงครามสงบคลองใหญ่จึงมีเศรษฐีสงครามเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ

คลองใหญ่ในอดีตเคยมีเรือประมงเป็นกองทัพ วันนี้กลายเป็นชุมชนประมงเล็กๆ ท่าเทียบเรือขนาดใหญ่กลางทะเลร้างเรือ แม้คนงานกัมพูชาแข็งแรงตัวดำจากการเผาของแดด ยังคงจัดการกับแหอวนให้นายจ้างไทย แต่ก็น้อยลงจนน่าใจหาย มันแทบจะร้างผู้คนไปในช่วงเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตามช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนในท้องถิ่นแปลงอาชีพดั้งเดิมให้กลายเป็นที่ท่องเที่ยววิถีคลองใหญ่ขึ้นมา ชาวบ้านเหน่อสำเนียงตราดยังได้นั่งแกะกั้ง ซึ่งหาได้ง่ายเอามากิน พร้อมกับบริการให้นักท่องเที่ยวไปด้วย และแม้ปลาแห้ง กุ้งแห้งจะไม่มากเท่าสมัยก่อน แต่ก็ยังมีตากให้เห็น รวมไปถึงมีก๋วยเตี๋ยวกั้งราคาท้องถิ่นมาให้ได้ชิมกัน

วิถีแห่งคลองใหญ่ส่อง‘บ่อญวน-หาดทรายสองสี’

ก๋วยเตี๋ยวกั้งชามละ 50 พิเศษ 70 บาท

ที่สำคัญอาหารจากทะเลสำเร็จรูปยังอร่อยเหมือนเดิม ผู้อาวุโสรายหนึ่งเคยออกเรือหาปลาวันโน้นพ่ายแพ้ต่อสังขาร กลายเป็นผู้ผลิตปลาเค็มตากแห้งส่งขายทั่วประเทศ ขณะที่คนหนุ่มสาวออกไปร่ำเรียนและทำงานในเมืองหลายคน หันกลับคือบ้านเดิมและมีความสุขกับการทำโรงแรม ร้านอาหารที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายทิ้งไว้ให้เป็นมรดก

นอกจากชุมชนประมงบ้านคลองใหญ่ที่แวะไปชมวิถีชีวิตของพวกเขาแล้ว ยังได้ไปเยือนวิถีชุมชนประมงบ้านไม้รูดด้วย

ต.ไม้รูด ถือเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์การสู้รบสมัยสงคราม อินโดจีน รวมถึงการสู้รบในกัมพูชาในระหว่างปีพ.ศ. 2518 ถึงพ.ศ.2522 ปัจจุบันได้รับการประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ อ.คลองใหญ่

บ้านนี้เด่นตรงสะพานข้ามน้ำแทบจะทุกสะพานเขาทาสีสวยแบบสีรุ้งเลย ที่น่าสนใจอีกอย่างคือชายทะเลบ้านไม้รูดมีทรายสองสีในพื้นที่เดียวกันคือ ทั้งสีทองและสีขาวนวล ฝั่งซ้ายเป็นทรายขาวส่วนฝั่งขวาเป็นทรายสีแดงที่เกิดกระแสน้ำพัดพาดินจากภูเขามาผสมกับทรายขาวจนเกิดเป็น “หาดทรายสองสี” และในพื้นที่ใกล้เคียงยังเป็นที่ชายทะเลที่มีน้ำจืดไหลซึมลงมาในแอ่งอีกด้วย พอเห็นบ่อน้ำจืดซึมก็นึกถึงหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดของจังหวัดภาคใต้ทันที เหมือนเป็นตาน้ำซึมลงมาจากป่านั่นเอง

วิถีแห่งคลองใหญ่ส่อง‘บ่อญวน-หาดทรายสองสี’

ที่นี่เขาเรียกว่า “บ่อญวน” หรือ “บ่อเวียด” ที่เรียกว่า “บ่อญวน” ก็เพราะในสมัยที่คณะคนญวนกู้ชาติที่เกิดในลาวจะเข้าไปร่วมกับ(กองทัพ)เวียดมินห์ปฏิวัติเวียดนามในยุคปี 2470-72 สมัยโฮจิมินห์ (ชื่อจัดตั้ง “เถ้าจิ๋น”) นั้น พวกเขาต้องขนอาวุธสนับสนุนการปฏิวัติผ่านบ้านไม้รูดเพื่อไปสนับสนุนการรบยังดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและเกาะ ฟูก๊วก (แต่เดิมเป็นของกัมพูชา)

ระหว่างการเดินทางก็ต้องอาศัยน้ำจืดเพื่อกินเพื่อใช้ด้วย และที่บ้านไม้รูดในสมัยโน้นกว่าจะขึ้นบนฝั่งไปหาน้ำจืดได้ก็ต้องขึ้นไปบนสันเขาซึ่งไกลมาก ผู้เชี่ยวชาญในการเดินเรือสังเกตว่าบริเวณชายป่าริมเขาติดทะเลน่าจะมีน้ำ เลยเอาชามข้าวคว่ำลงและทิ้งไว้ 1 คืน เมื่อหงายชามที่คว่ำขึ้นมาก็เห็นว่ามีน้ำเกาะอยู่ จึงบอกว่าบริเวณนี้มีน้ำจืด พร้อมขุดเป็นแอ่งนำมาดื่มกิน จนท้ายที่สุดชาวประมงไทยก็ได้ใช้น้ำนี้เวลาไปหาปลา

ผู้ที่เข้าร่วมในการขุดบ่อน้ำในครั้งนั้น (ตอนอายุ 19) เหลือ 2 ท่านคือเหวียน วันวิง และเหวียน กงแงะ คนหลังก็เคยมาเยือนบ้านไม้รูดและมายังบ่อแห่งนี้ด้วยตัวเองเมื่ออายุได้ 91 ปีแล้ว

เป็นอีกเรื่องเล่าที่น่าจะนำมาถ่ายทอดกันต่อไป นอกเหนือจากการมากินก๋วยเตี๋ยวกั้งราคาถูกที่คลองใหญ่ ซึ่งในส่วนของอบต. ไม้รูด มีผู้บรรยายสนุกและได้สาระอย่าง คุณหม่อง หรือ คุณไพศาล เจริญศรี (โทร.08-7136-6375)

หลังจากบรรดานักข่าวช่างภาพต่างสนุกกับการถ่ายภาพ และชื่นชมวิถีชีวิตที่ผันแปรจากเมืองสงคราม-ประมง และการลักลอบหนีภาษีแห่งนี้ จากนั้นรถตู้ก็นำมาแวะที่สวนไพทูรย์

ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ทุเรียนที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุดของตราดก็คือทุเรียนชะนีเกาะช้าง ซึ่งผู้คนสั่งจองเอาไว้จนนักท่องเที่ยวไม่มีสิทธิ์กิน ทุเรียนชะนีเกาะช้างเป็นทุเรียนที่เหนียว หวาน มัน อร่อย และสุกก่อนทุเรียนอื่นๆ ในประเทศไทยตามช่วงฝนที่ตกไล่เรียงไป

สวนที่ทางททท.สำนักงานตราดชวนไปกินนั้นเขาเปิดให้นักท่องเที่ยวไปชิมด้วยหัวละ 250 บาท จะกินทุเรียน มังคุด สละ เงาะ อะไรก็ตามสบาย กินให้พุงกางกลับบ้านไปเลย ซึ่งถ้าอยากจะกินให้คุ้มหรือเกินคุ้ม คนที่นั่นเขาแนะนำว่าให้เริ่มจากการกินทุเรียนก่อน ตามด้วยมังคุดเพื่อกันร้อนใน แล้วต่อด้วยเงาะหรือลองกองตามใจชอบ

เจ้าของสวนไพทูรย์คือ “คุณไพทูรย์ วานิชศรี” มีพื้นที่ 300 ไร่ มีต้นทุเรียนกว่า 5 พันต้น เป็นการปลูกแบบผสมผสานเพราะมีผลไม้หลากหลาย แต่เน้นทุเรียนเป็นหลัก นอกจากเขาจะคุมการจำหน่ายทุเรียนเป็นตันๆ ในแต่ละวันแล้ว ยังออกมาต้อนรับแขก ปอกทุเรียนให้แขกเองในบางครั้งอีกด้วย

วิถีแห่งคลองใหญ่ส่อง‘บ่อญวน-หาดทรายสองสี’

วรรณประภา สุขสมบูรณ์ ผอ.ททท.ตราด กับ ไพทูรย์ วานิชศรี

สวนนี้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับสำนักงาน ททท.ตราด คนหนึ่งผลิตทุเรียนขาย อีกส่วนหนึ่งมีหน้าที่ขายการท่องเที่ยว วินๆ ด้วยกันทั้งคู่

เท่าที่สอบถามได้ความว่า เกษตรกรมักชอบปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นทุเรียนที่มีเนื้อหนา และไม่ค่อย จะมีไส้ซึมแบบชะนี ก้านยาวหรือสายพันธุ์อื่นๆ เวลาเจอฝน ทั้งต่างประเทศก็นิยมกินอีก ต่างหาก

ช่วงนี้ยังมีผลไม้นานาชนิดให้ได้ลิ้มชิมรสกัน ซึ่งมีหลายสวนเปิดบุฟเฟต์ไว้บริการในราคาสบายกระเป๋า หากมีเวลาขอแนะนำให้พักค้างคืนเพื่อสัมผัสวิถีชุมชนที่นั่น แล้วจะรู้ว่า “ตราด” มีอะไรดีอีกเยอะ

สร้าง บุญสอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน