ลัดเลาะบางรัก ยํ่าถิ่นเจริญกรุง

ลัดเลาะบางรัก ยํ่าถิ่นเจริญกรุง – เมืองหลวงกรุงเทพมหานครมีตรอกซอกซอยมากมายให้ลัดเลาะเข้าไปเยี่ยมชมเปลี่ยนบรรยากาศ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี นำคณะสัมผัสเรื่องราววิถีถิ่นเจริญกรุงบางรัก ในทริปรู้จักบางรัก หลงรักเจริญกรุง

เข้าสู่ย่านบางรัก ติดกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานตากสิน เริ่มต้นกันที่ศาลเจ้าบางรักหรือศาลเจ้าเจียวเองเบียว อายุเก่าแก่กว่า 150 ปี เป็นศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงโศกนาฏกรรมนักเดินทางชาวจีน 108 คน ที่ล่องเรือสำเภามาค้าขายย่านบางรัก แต่โดนฆาตกรรมที่เวียดนาม เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโจรสลัด

ยํ่าถิ่นเจริญกรุง

ร่วมสักการะเทพเจ้า 108 พี่น้อง เจ้าแม่ทับทิม ไฉ่ซิงเอี๊ยะ บู๊นท๋ากง เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีน พ่อค้าแม่ขายในละแวกนี้ และเหล่านักเดินทางที่มาขอพรให้เดินทางปลอดภัย

จากนั้นอีกชั่วอึดใจใน 10 นาที ถัดจากโรงแรมแชงกรีล่าไป 3 ซอย พบกับวัดสวนพลูวัดชุมชนที่มีเอกลักษณ์และสีสันไม่ซ้ำใคร ชมงานปูนปั้นของพระอุโบสถที่ตกแต่งประดับกระจกสวยงาม แปลกตา เรือนไม้กุฏิพระสงฆ์ที่โดดเด่นด้วยลายไม้ฉลุเรียกว่าหมู่กุฏิขนมปังขิง

ยํ่าถิ่นเจริญกรุง

ศาลเจ้าบางรัก

ลักษณะ 2 ชั้น ทาด้วยสีน้ำตาลแดงตัดกับสีขาวสวยเด่นเห็นแต่ไกล ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นมรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย จากสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อปี ..2545

ข้ามถนนลัดเลาะไปไม่เกิน 10 นาที ในซอยเจริญกรุง 43 ลึกเข้าไป 200 เมตร เป็นบ้านหลังใหญ่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ เป็นพื้นที่สีเขียวที่ยังมีชีวิตพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ อันกว้างไกลของ อาจารย์วราพร สุรวดี เจ้าของผืนดิน ผู้บริจาคทรัพย์สินทั้งหมดให้กรุงเทพ มหานคร และอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้จวบ วาระสุดท้าย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ด้วยวัย 82 ปี

ยํ่าถิ่นเจริญกรุง

ท่านมอบบ้านและทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้รับมรดกจาก นางสอาง สุรวดี (ตันบุญเล็ก) ผู้เป็นแม่ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้ศึกษาเรื่องราวชีวิต และสภาพความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลาง ในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวของที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของที่เคยใช้งานจริงของอาจารย์และครอบครัว

ป้าต่ายสุดสายทิพย์ อาสนจินดา เล่าว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นบ้านหลังเล็กๆ ที่รวมเอาชีวิตของคนกรุงเทพฯ สมัยก่อนเก็บไว้ในสภาพที่ดีที่สุด ทั้งหมด 4 อาคาร ของทุกชิ้นที่นี่ต่างมีเรื่องราวในตัวเอง และพร้อมบอกเล่าให้คนรุ่นหลังฟังอย่างค่อยเป็นค่อยไป

หลังจากซึมซับประวัติศาสตร์ในบ้านสวนไม้ร่มรื่นแล้ว มุ่งสู่เจริญกรุง 36 ศุลกสถานตั้งเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารเก่าแก่สำคัญในประวัติศาสตร์ ด่านศุลกากรที่ถือเป็นประตูสุดแดนพระนครใต้ สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางรัก เพื่อเก็บภาษีจากพ่อค้าวาณิชที่เดินทางเข้าออกประเทศ

ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไทยเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดไปเป็นการค้าเสรี เมื่อเรือสินค้าเข้ามาจากปากแม่น้ำก็ต้องผ่านจุดตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่าภาษีร้อย ชักสามรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอปัลลาเดียน ศิลปะโรมันคลาสสิค อายุกว่า 120 ปี หน้าจั่วยอดสามเหลี่ยมมีนาฬิกาติดอยู่ ด้านหน้าหันเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งสถานีดับเพลิงบางรัก

แม้ว่าสีตัวอาคารด้านนอกหลุดล่อน และหน้าต่างไม้ผุพังไปตามกาลเวลา แต่ยังเห็นความงามของตัวอาคารที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองในอดีตได้ชัดเจน และศุลกสถานยังกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตของการถ่ายภาพ รวมถึงเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง In the Mood for Love ของหว่อง กาไวผู้กำกับหนังชื่อดังชาวจีน อีกด้วย

ยํ่าถิ่นเจริญกรุง

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

ยํ่าถิ่นเจริญกรุง

ภายในพิพิธภัณฑ์

จากบรรยากาศโอ่อ่าแบบโรมันคลาสสิค สู่บรรยากาศชุมชนชาวมุสลิมเก่าแก่ เดินเท้าสบายๆ ไปสุสานมัสยิดฮารูณจากเรื่องราวของบุคคลสำคัญในสุสาน อาทิท่านต่วน สุวรรณศาสตร์อดีตจุฬาราชมนตรี และเรื่องราวของชาวมุสลิมที่ร่วมรบในสงครามป้องกันสยามประเทศ

พร้อมชมมัสยิดฮารูณ ศูนย์รวมใจของชาวมุสลิมย่านบางรัก อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวศาสนสถานกลางของชุมชนที่ยั่งยืนมากว่า ร้อยปี

นางกรแก้ว มิตรภักดี ชาวบ้านชุมชน ฮารูณ กล่าวว่าเราอยู่ร่วมกับชุมชนอื่นรอบๆ มาร้อยกว่าปี อยู่ร่วมกันเหมือนญาติมิตร จนเกิดเป็นสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น ทั้งคนในชุมชนเอง แล้วก็ชุมชนภายนอก เพราะเราเข้าใจความเชื่อความศรัทธาของกันและกัน ไม่ก้าวก่ายกัน แต่ยังไปมาหาสู่กันได้ เพราะเข้าใจและมองว่ามันคือวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง

สังคมที่ผสานความเชื่อความศรัทธาจีน พุทธ มุสลิม จนกลายเป็นเสน่ห์ของย่านบางรัก เรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ไม่จางหายไปตามกระแสโลกาภิวัตน์

สถาปัตยกรรมมากมายในชุมชน สะท้อนความเป็นอยู่ด้วยการผสมผสานวัฒนธรรมเข้าด้วยกันได้อย่างมีเอกลักษณ์ และเกิดเป็นความผูกพันสืบทอดกันมาในย่านบางรักและถนนเจริญกรุง

นิชานันท์ นิวาศะบุตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน