ชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต่อยอดงานผ้าไหมสู่‘ท่องเที่ยว’

ชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต่อยอดงานผ้าไหมสู่‘ท่องเที่ยว’ – การทอผ้าถือเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของคนภาคอีสานที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยทอผ้าเป็นด้วยการเริ่มต้นจากช่วยพ่อแม่เลี้ยงไหมมาก่อน แล้วค่อยขยับมาทำหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสาวไหม ฟอกย้อม รวมถึงทอผ้า ซึ่งปัจจุบันหลายหมู่บ้านใช่จะทอผ้าอย่างเดียว

แต่ยังเปิดหมู่บ้านให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาที่ยึดการเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่แม่บ้านก็ใช้เวลาว่างมาทำอาชีพเสริมอย่างการทอผ้า กระทั่งหลายครอบครัวมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอุดหนุนตลอด อีกทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้วย

ชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต่อยอดงานผ้าไหมสู่‘ท่องเที่ยว’

สะพานไม้ไผ่จุดชมวิว

อย่างเช่นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต.พรหมสวัสดิ์ อ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความโดดเด่นในการทอ ผ้าไหม ที่สำคัญทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเลย เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอและการขาย

โดยมี “นางทองคำ กาญจนหงส์” นั่งเป็นประธานกลุ่ม และเมื่อปี 2561 หมู่บ้านแห่งนี้ก็ได้งบประมาณจากรัฐบาลมาทำหมู่บ้านโอท็อปท่องเที่ยวนวัตวิถีด้วย ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวจะเข้ามาดูกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการทอผ้าแบบครบวงจรแล้ว ยังมีโอกาสนั่งรถอีแต๋นไปชมวิวทิวทัศน์สวยงามในหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยนาข้าวสีเขียวขจี

ชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต่อยอดงานผ้าไหมสู่‘ท่องเที่ยว’

ทองคำ กาญจนหงส์

นางทองคำเล่าว่า มีสมาชิกในกลุ่มที่เป็นผู้หญิง 100 กว่าคน มีคนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 105 คน ตั้งกลุ่มเมื่อปี 2539 โดยกลุ่มทำตั้งแต่การเลี้ยงไหมวัยอ่อน ขายรังไหม ขายเส้นไหม และขายผ้า ซึ่งผ้าก็มีทุกชนิด ทั้งผ้ามัดหมี่ ผ้าลายลูกแก้ว ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ทำผ้าพื้น และผ้าโสร่ง ลูกค้ารายไหนสั่งอะไรก็จะขายตามที่ต้องการ

ส่วนผ้าไหมจะไปขายตามงานที่ทางราชการจัดให้ไป และก็มีขายอยู่ในหมู่บ้านด้วย โดยจะนำผ้าของสมาชิกที่กระจัดกระจายอยู่ตามบ้านมาขายรวมกัน

ย้อนกลับไปในอดีต เดิมนั้นบ้านโนนสามัคคี ชื่อบ้านโนนสว่าง อยู่ ต.พรหมสวัสดิ์ อ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ ต่อมาได้แยกตัวออกมาเป็นบ้านโนนสามัคคี สภาพพื้นที่ของหมู่บ้านนี้เป็นที่ราบสลับทุ่งนา ห้วย หนอง คลอง ต่างๆ แต่มีปัญหาไม่สามารถเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปี สภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี โดยชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนสืบทอดวิถีชีวิตอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต่อยอดงานผ้าไหมสู่‘ท่องเที่ยว’

ตัวดักแด้เป็นๆ

ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวบ้านที่นี่จะมีความรู้ความสามารถในเรื่องการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า เรียกว่าเชี่ยวชาญตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำเลยทีเดียว ซึ่งก็มีหลาย หน่วยงานของรัฐมาให้การสนับสนุน

นางทองคำแจกแจงถึงขั้นตอนการเลี้ยงไหมว่า สมาชิกจะเลี้ยงไหมกันทุกบ้าน รวมถึงปลูกต้นหม่อนด้วย ซึ่งตัวไหมมี 2 ประเภทคือไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ไหมพันธุ์ไทยลูกผสม พันธุ์ไทยลูกผสมจะมี 2 อย่าง คือพันธุ์เหลืองสระบุรี และดอกบัวจากอุบลราชธานี ที่เลี้ยงแบบเดียวกัน แต่เส้นไหมแตกต่างกัน ไหมไทย พื้นบ้านดีกว่า เส้นไหมจะไม่แตก และเส้นไหมจะเหนียว และสวยกว่า ถ้าเป็นไหม 2 กิโลกรัม (ก.ก.) จะได้ผ้าประมาณ 10 ผืน

ชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต่อยอดงานผ้าไหมสู่‘ท่องเที่ยว’

ทอผ้าไหม

ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนสามัคคีพูดถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่นี่ว่า อยู่ที่การย้อมผ้าสีธรรมชาติ และยังมีผ้าหมักโคลนด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ใส่ได้สบาย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในส่วนของการย้อมสีธรรมชาตินั้น ถ้าเป็นสีดำจะใช้มะเกลือ และเปลือกสมอ ส่วนสีชมพูจะใช้ครั่ง หรือใช้เปลือกมะพร้าวแห้งที่หาได้ง่ายที่สุดใช้ทำผ้าลายลูกแก้ว

สำหรับเทคนิคการย้อมสีธรรมชาติให้ติดคงทนนั้น นางทองคำสาธยายให้ฟังว่า ถ้าเป็นครั่งจะใช้มะขามเปียก ใส่ตอนต้มน้ำให้เดือดแล้วใส่สารส้มเข้าไปด้วย พอน้ำเดือดจะใส่น้ำมะขามเปียกเข้าไป พร้อมคนให้เข้ากัน จากนั้นนำไหมลง สารส้มจะช่วยให้สีเข้มขึ้น

ชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต่อยอดงานผ้าไหมสู่‘ท่องเที่ยว’

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม

ผ้าไหมของกลุ่มนี้แม้จะราคาแพงกว่าผ้าไหมที่อื่นๆ แต่ก็เป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบผ้าไหม เนื่องจากเป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพ อย่างที่นางทองคำให้ข้อมูลว่า จุดเด่นของกลุ่มอยู่ตรงที่ใช้ไหม ถ้าใช้ไหมอย่างไหนจะบอกลูกค้าตามนั้น อย่างเช่น ไหมที่สาวจากเส้นไหมน้อย จะบอกว่าเป็นเส้นไหมน้อย ถ้าจากเส้นไหมไทยลูกผสม พันธุ์ไทยลูกผสม จะบอกว่าพันธุ์ไทยลูกผสม และถ้าเส้นยืนมาจากเส้นไหมจุลโรงงาน จะบอกว่าอันนี้คือไหมจุลโรงงาน

ส่วนผ้ามัดหมี่จะใช้เส้นยืนเป็นไหมจุลโรงงาน แล้วไหมเป็นมัดหมี่ ถ้าลูกค้ารับได้พอใจก็ซื้อ ถ้าอยากได้ไหมแท้ 100% จะพาไปดู ไปซื้อกับสมาชิกที่ทำ

ชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต่อยอดงานผ้าไหมสู่‘ท่องเที่ยว’

ต้มตัวไหม

ชุมชนบ้านโนนสามัคคี ต่อยอดงานผ้าไหมสู่‘ท่องเที่ยว’

ดักเด้คั่วเกลือ

ขั้นตอนก่อนทอผ้าไหมนั้น เมื่อต้มตัวดักแด้หรือตัวไหมเสร็จ และได้รังไหมแล้วขายดักแด้ได้อีกก.ก.ละ 120 บาท ถือเป็นผลพลอยได้ บางวันขายได้ถึง 4 ก.ก. (สนใจสั่งซื้อที่โทร. 06-4694-8306)

ผู้มาเยือนมักจะได้ลิ้มลองเมนูที่ทำจากดักแด้หลากหลายเมนู ซึ่งเมนูเด็ดก็คือผัดเผ็ดดักแด้ แค่คิดก็เปรี้ยวปากแล้ว โดยใช้สูตรเดียวกับการทำผัดเผ็ดทั่วไป แต่อร่อยตรงที่ตัวดักแด้มีความมันอยู่ในตัว วันที่ไปนั้นมีเมนูดักแด้คั่วเกลือให้ชิม ปกติ ไม่เคยกินดักแด้มาก่อน แต่เมื่อชิมแล้วก็ติดใจต้องกินซ้ำอีกหลายรอบ

ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนสามัคคีบอกด้วยว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของสมาชิก และการทอผ้า เป็นอาชีพเสริมหลังจากทำนา โดยในเดือนๆ หนึ่ง กลุ่มมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประมาณ 5 หมื่นบาท และนำ รายได้มาแบ่งกัน

นอกจากที่บ้านตัวประธานกลุ่มจะมีผ้าวางขายและเป็นจุดสาธิตการทอผ้าไหมแล้ว แต่ละบ้านก็ยังนำผ้าทอของตัวเองมาตั้งโชว์อยู่ใต้ถุนบ้านด้วย บางบ้านก็นำผลผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว และทางกลุ่มยังได้นำผลิตภัณฑ์ไปขายในงานโอท็อปทั้งที่กทม.และต่างจังหวัด

นับเป็นหมู่บ้านตัวอย่างอีกแห่งที่คนในชุมชนมีอาชีพมั่นคง และมีรายได้ตลอดทั้งปี พร้อมกันนั้นยังต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวด้วย

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน