SACICT นำครูศิลป์ สัมผัสวัฒนธรรมตุรกี

SACICT นำครูศิลป์ สัมผัสวัฒนธรรมตุรกี – การเปิดโลกกว้างเพื่อศึกษาเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและการสร้างงานฝีมือในต่างแดนถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดี นำมาซึ่งการพัฒนา ต่อยอด ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ดียิ่งๆ ขึ้น

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT โดยนางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ SACICT นำคณะครูศิลป์ของแผ่นดินครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เดินทางไปประเทศตุรกี เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ งานฝีมือ องค์ความรู้ภูมิปัญญา ทักษะและเทคนิคในงานศิลปหัตถกรรม

SACICT นำครูศิลป์ สัมผัสวัฒนธรรมตุรกี

เริ่มต้นที่หมู่บ้านเอทริม แหล่ง “ทอพรม” พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของตุรกี เป็นแหล่ง “ทอพรมด้วยมือ” แบบโบราณที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่ละครอบครัวทอพรมมาอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่นกว่า 100 ปี ผู้ทอพรมมักจะเป็นผู้หญิง โดยหลังจากทำงานบ้านหรืองานประจำเสร็จแล้วจะนั่งทอพรมตลอดทั้งวัน ถือเป็นวิถีชีวิตประจำวันของผู้หญิงในหมู่บ้านแห่งนี้ ส่วนผู้ชายหรือสามีจะทำหน้าที่นำพรมไปขาย

วัตถุดิบที่ใช้ทอพรมจะใช้เส้นใยจากขนสัตว์ เส้นใยฝ้าย และเส้นใยไหม หรืออาจจะผสมผสานเส้นใย 2 ชนิดเข้าด้วยกัน เช่น เส้นใยขนสัตว์กับเส้นใยฝ้าย เส้นใยฝ้ายกับเส้นใยไหม ส่วนสีย้อมเส้นใยจะย้อมด้วยสีธรรมชาติจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ต้นลาเวนเดอร์ป่า รากหญ้า ต้นหญ้า เปลือกวอลนัต สีที่ได้จึงเป็นโทนพาสเทลแต่สดใส ไม่ฉูดฉาด ที่สำคัญ สีจะติดคงทน ไม่ตก ไม่ซีด ส่วนลวดลายบนผืนพรมมักเป็นลวดลายพืชพรรณ ดอกไม้ ใบไม้ หรือเรขาคณิต อาจมีลายสัตว์อยู่บ้าง เช่น ลายนก หรือลายแมงป่อง กล่าวคือมักเป็นลวดลายที่พบเห็นในชีวิตประจำวันหรือลายตามจินตนาการ

SACICT นำครูศิลป์ สัมผัสวัฒนธรรมตุรกี

ลวดลายการทอพรมของหมู่บ้านแห่งนี้นอกจากความสวยงามแล้วยังสอดแทรกความหมายของวิถีชิวิตชาวพื้นเมือง หรือคติความเชื่อ เช่น การทอเป็นลายกิ่งไม้ หมายถึงตัวแทนของต้นไม้แห่งชีวิต การทอเป็นลายแมงป่องถือเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจ และเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองเพราะแมงป่องจะกระดกหางชูสูงขึ้นตลอดเวลา การทอเป็นลายมัดข้าวสาลีหมายถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ หรืออาจทอเป็นลวดลายดวงตาปีศาจตามความเชื่อที่ว่าจะป้องกันและขจัดความชั่วร้าย

SACICT นำครูศิลป์ สัมผัสวัฒนธรรมตุรกี

การทอพรมที่หมู่บ้านเอทริมนี้จะใช้ “เทคนิค ดับเบิ้ล นอต” (double knots) พรมแต่ละผืนต้องใช้ทั้งเวลาและความชำนาญ ผู้หญิงทอพรมที่หมู่บ้านแห่งนี้สามารถทอลวดลายด้วยทักษะ และความชำนาญสูงโดยไม่ต้องมีแบบร่างลายใดๆ มาใช้ประกอบ ทุกลายออกมาจากความจำ จินตนาการและทักษะความชำนาญ แต่ละผืนจะมีลวดลายไม่ซ้ำกัน ใช้เวลาทอ 2-8 เดือน แต่หากมีลวดลายเล็กละเอียดและมีขนาดใหญ่อาจใช้เวลา 3-5 ปี หมู่บ้านแห่งนี้ทอพรมแทบทั้งหมู่บ้านมีระบบการจัดจำหน่ายในรูปแบบสหกรณ์ เมื่อมีรายได้จากการจำหน่ายก็จะคืนกลับสู่ผู้ทอ

SACICT นำครูศิลป์ สัมผัสวัฒนธรรมตุรกี

SACICT ยังนำคณะไปชมพิพิธภัณฑ์กระเบื้อง เมืองคอนย่า เพื่อศึกษาเรียนรู้เทคนิคและศิลปะลวดลายงานเซรามิกและกระเบื้องเคลือบที่มีอายุนับ 1,000 ปี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 800 ปีที่แล้ว โดยนายเซลจุก อิหม่ามหรือผู้นำศาสนาซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองคอนย่าในขณะนั้น ภายในพิพิธภัณฑ์มีงานศิลปหัตถกรรมที่สำคัญอายุนับพันกว่าปี เช่น กระเบื้องเซรามิกเขียนลาย งานผ้าปัก งานถ้วยชามโบราณเขียนลาย เป็นต้น

ส่วนสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะตกแต่งผนังด้านในอย่างงดงามด้วยกระเบื้องเซรามิกในโทนสีน้ำเงิน ฟ้า ขาว ที่มีลวดลายเชิงศิลปะสะท้อนถึงเอกลักษณ์ศิลปะอิสลาม และบางส่วนนำคำสอนจากพระคัมภีร์อัลกุรอานมาเขียนเป็นลวดลายประดับตกแต่งอย่างงดงาม พร้อมจัดแสดงเซรามิกโบราณจากแหล่งโบราณคดีนับพันปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน