พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

วสวัณณ์ รองเดช

พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’ – เรียนรู้กันไม่รู้จบ เมื่อเด็กๆ เกาะยาวน้อยมีนกเงือกเป็นเพื่อน จากที่เคยเห็นนกเล็กๆ วางไข่ในรัง เห็นทั้งรังเห็นทั้งไข่นกกันได้ง่ายๆ อาจจะเป็นรังใบไม้ รังกิ่งไม้สานกันหรือเศษหญ้าเศษฟางสานกันเป็นถ้วย กกไข่จนฟักเป็นลูกนก แต่เรื่องราวของนกเงือกกกไข่เป็นอย่างไรยังไม่เคยรู้

พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’

นกเงือกเป็นนกเพียงชนิดเดียวที่ทำรัง กกไข่ เลี้ยงลูกโดยการปิดปากโพรง ปิดจนเกือบจะสนิท เว้นไว้เพียงช่องแคบๆ ช่องเดียว นกแก๊กซึ่งเป็นนกเงือกขนาดเล็กก็ทำอย่างนั้น มันขังตัวเองไว้ในโพรงไม้ทำไม เป็นเรื่องราวที่เด็กๆ และชาวบ้านที่เกาะยาวน้อยกำลังค่อยๆ สังเกตเรียนรู้

พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’

เกาะนกแก๊ก

การปิดโพรงรังจะเกิดขึ้นเมื่อนกแก๊กตัวเมียตกลงยินยอมจะใช้โพรงรังที่คู่ของมันนำเสนอ ตัวเมียใส่ใจในความพร้อมและความเหมาะสมของโพรงรังมาก เข้าไปสำรวจตรวจตรา จนกว่าจะมั่นใจในความปลอดภัยเพราะต้องใช้ชีวิตต่อไปอีกนานหลายเดือนในโพรงรังนั้น เมื่อเลือกแล้วตัวเมียจะปิดปากโพรงด้วยตัวเอง ตัวผู้ทำหน้าที่เพียงช่วยคาบดินมาให้ตัวเมียปิดปากโพรงกับคอยดูแลอยู่ภายนอก หาอาหารมาป้อนระหว่างที่ตัวเมียขะมักเขม้นทำงานจนเสร็จ

พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’

ตัวผู้คาบดินมาให้ ตัวเมียใช้ปากแปะดินจากภายในโพรง

บรรจง ศรีสมุทร หรือ บังฮอน เป็นคนหนึ่งที่นกแก๊ก มาทำรังที่ต้นไม้ข้างบ้าน เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของคู่นกเงือกหน้าใหม่ตลอดฤดูการทำรัง บังฮอนเล่าว่ามีเรื่องให้ลุ้นกันตลอด เช่น ตัวเมียปิดปากโพรงจนสำเร็จแล้ว ยังเจาะปากโพรงทิ้ง บินออกมาอีก สงสัยว่าเป็นเพราะอะไร หลังจากออกมาแล้วก็เกือบเข้าไปอีก ไม่ได้ ลุ้นกันทุกวัน

นกแก๊กใช้ดินเป็นส่วนประกอบหลักในการปิดปากโพรง ผสมกับเศษอาหารและมูลของมัน ป้ายไปบนผนังข้างปากโพรงทีละนิดๆ ใช้ด้านข้างของปากตีๆ ตบๆ ให้ดินแบน ราบเรียบติดกันเป็นเนื้อเดียว ทำอย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนปากโพรงแคบลงทีละน้อย อาจใช้เวลาราว 3-7 วัน หลังจากนั้นตัวเมีย จะเข้าไปอยู่ภายในโพรง ใช้ปากโพรงแคบๆ รับอาหารจากคู่ผู้ซื่อสัตย์เพื่อเลี้ยงตัวเองและลูกน้อยในนั้นต่อไป

พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’

ตัวเมียแปะดินจนปากเลอะเทอะ

น่าเห็นใจและต้องให้กำลังใจนกเงือกตัวเมียมากๆ ในฤดูทำรัง เพราะนกเงือกตัวเมียจะต้องขังตัวเองอยู่ในโพรงไม้นาน 3-4 เดือน มันจะต้องเชื่อมั่นต่อตัวผู้มากแค่ไหนว่าจะหาอาหารมาเลี้ยงตัวเองและลูกๆ ได้ นกแก๊กใช้เวลาอยู่ในโพรงเพื่อเลี้ยงลูกถึง 3 เดือนในโพรงไม้ที่มันเลือกแล้วอย่างพิถีพิถันและมักจะใช้รังเดิมซ้ำทุกปี

ชีวิตในโพรงรังดูลึกลับ มีโอกาสเห็นเพียงพ่อนกบินไปบินกลับมาที่รังวันละหลายๆ รอบ ครั้งแล้วครั้งเล่ามันคาบอาหารมาป้อนตัวเมียในรัง มากบ้างน้อยบ้างอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พ่อนกรับภาระหนักในการ เลี้ยงดูครอบครัวที่เฝ้ารออยู่ในโพรงรัง คงจะเป็นภาระหนักที่เต็มใจรับไว้ด้วยความรัก

น้องมิสทีน ด.ญ.สริญญา เบ็นอ้าหมาด เอาใจช่วยทั้งพ่อนกและแม่นก “ตอนปิดรังแม่นกเหนื่อยที่สุด แต่ตัวผู้ก็เหนื่อยมากเหมือนกันตอนหาอาหารมาเลี้ยงทุกตัวที่อยู่ในรัง”

พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’

น้องไอซ์และน้องเฟาซี

ส่วน น้องไอซ์ ด.ญ.จิรญาภา ชัยทัศ ประทับใจพ่อนกที่ขยันหาเลี้ยงลูกเมีย “พ่อนกน่าจะบินไกลแล้วก็บินวันละหลายๆ รอบ ทุกครั้งจะได้อาหารมาเต็มคอ เอามาป้อนแม่นกและลูก เหมือนพ่อแม่เราที่เลี้ยงดูเราอย่างดี”

พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’

ลูกสำโรงอาหารนกมีทั่วเกาะ

พ่อนกแก๊กหาอาหารประเภทไหนมาป้อนตัวเมียบ้าง เด็กๆ พบว่ามันกินผลไม้หลากหลายชนิดที่มีบนเกาะ ทั้งผลไม้ป่าและผลไม้บ้าน ลูกไทรหลายชนิด ค่างเต้น สำโรง ตาเสือ ตะขบ หว้า เต่าร้าง หมากแดง ลูกปาล์มน้ำมัน แม้แต่กล้วย เงาะ และมะละกอที่ชาวบ้านปลูกไว้ ทั้งหมดทั้งมวลมันเลือกกินเฉพาะผลไม้สุกเต็มที่เท่านั้น

นอกจากกินผลไม้แล้ว พ่อนกแก๊กมีอาหารโปรตีนพวกแมลงและสัตว์เลื้อยคลานมาบริการคู่ของมันไม่เคยขาด บางวันเสิร์ฟเมนูพิเศษอย่างปูเปี้ยวก็มี ยิ่งกว่าปูเปี้ยวมันยังกินหอยที่ชายหาดด้วย เป็นนกแก๊กอยู่เกาะจะกินธรรมดาได้ที่ไหนกัน

พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’

ป้อนผลไม้ปากต่อปาก

เวลาพ่อนกนำอาหารที่หาได้มาป้อน ถ้าเป็นผลไม้มันจะขย้อนออกมาทีละลูก ทีละลูก แต่ละลูกอยู่ในสภาพพร้อมรับประทานไม่เละเทะ ถ้าเป็นแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ก็จะคาบมาป้อนทั้งตัว ครบทุกส่วน ไม่บุบสลายขาดวิ่นเป็นชิ้นส่วน

น้องนาย ด.ช.นพรัตน์ เล่งฉิ้น เมื่อได้เห็นอาหารโปรตีนที่พ่อนกหามาป้อนก็ตาโต “มันเก่งมากครับ กิ้งก่า จิ้งเหลนก็ไปเอามาได้ แต่ที่ทึ่งมากคือจิ้งจก มันไปหามาจากไหน ยังไง”

ส่วน เฟาซี ด.ช.วีรภาพ ชำนินา บอกว่า “ชอบตอนมันจีบกัน ตอนปิดโพรงก็ยังกุ๊กกิ๊กกันอีก โรแมนติกมากครับ”

พ่อป้อนแม่สร้าง รังน้อย‘นกแก๊ก’

ซ้ายนกแก๊กตัวผู้ ขวาตัวเมีย

ยังมีเรื่องราวของนกแก๊กอีกมากที่รอเด็กๆ เรียนรู้ค้นหา วันเวลาเคลื่อนผ่าน วงจรชีวิตของนกแก๊กก็เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลและธรรมชาติ เปิดโอกาสให้เราเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น

พบเรื่องราวน่ารักน่าลุ้นจากเกาะยาวน้อย ชีวิตนกแก๊กในฤดูกาลทำรัง วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2562 ในทุ่งแสงตะวัน ตอน เกาะนกแก๊ก 2 ช่อง 3 และช่อง 33 เวลา 06.25 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน