เที่ยวชิมขนม เมืองสุโขทัย

คอลัมน์ ข่าวสดหรรษา

โดย สุนันทา บวบมี

เที่ยวชิมขนมเมืองสุโขทัยของกินมากมาย สมกับเป็นเมืองเที่ยวสายกิน เช้าวัน ต่อมายกคณะไปรีวิวเส้นทาง Ancient Sukhothai Dessert Hopping เพื่อตามกินอาหารพื้นบ้าน

โดยวันนี้ยังโดยสารรถคอกหมูคันเดิม แต่เปลี่ยนทิศออกไปนอกเมืองที่ ต.เมืองเก่า แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ในชุมชนยังคงอยู่ในวิถีโบราณ ครั้งนี้มีโอกาสได้ลงแรงทำอาหารกันเอง

ขนมสังขยาชาวนา

ตลอดเส้นทางการเดินไปตามหมู่บ้าน พบกับร้านขายของฝากสินค้าแฮนด์เมด ทั้งไม้ แกะสลัก เครื่องสังคโลกสุโขทัย และผ้าพิมพ์ลาดวาดมือลวดลายวิจิตรงดงาม

สินค้าของฝากท้องถิ่น

นับหนึ่งด้วยขนมสังขยาชาวนาแต่เดิมนั้นชาวสุโขทัยมักทำกินในช่วงที่เก็บเกี่ยวข้าว โดยเจ้าของข้าวจะนำมาเลี้ยง ให้กับคนที่มาช่วยงาน ในสมัยนั้นมีชื่อเรียกที่ตลกๆ ว่าสังขยาขี้ควายเพราะมีลักษณะเป็นน้ำข้นๆ เหมือนสังขยา กินกับข้าวเหนียวคลุกมะพร้าวขูด

ส่วนประกอบขนมสังขยาชาวนา

ต่อมาจึงตั้งชื่อให้ไพเราะขึ้นว่าสังขยาชาวนาส่วนวิธีการปรุงสังขยานั้นคล้ายการทำหน้ากระฉีก โดยนำหอมแดงซอยไปเจียวในน้ำมันพอเหลืองกรอบ ตักบางส่วนพักไว้เพื่อเก็บไว้โรยหน้าขนม ส่วนที่เหลือในกระทะ ใส่น้ำตาล ใส่ไข่ กวนให้เข้ากันดีจนเหนียวข้น วิธีการกินคือนำข้าวเหนียวที่มีรสเค็มมันไปจิ้มกับสังขยารสชาติหวานข้น

เคล็ดลับการนึ่งข้าวเหนียวของชาวเมืองเก่าให้อร่อยและหอมนุ่มนั้น จะใช้วิธีดงคือนำข้าวเหนียวที่แช่แล้วไปใส่ในหม้อแบบโบราณตั้งบนเตาถ่าน พอข้าวเริ่มสุกก็เทน้ำส่วนที่เหลือออก โดยใช้ไม้ขัดล็อกฝาไว้ อังไฟไปเรื่อยๆ จนข้าวสุก

ดงข้าวเหนียว

วิธีนี้ดูเหมือนง่าย แต่ความจริงแล้วต้องใช้ความชำนาญพอควร ไม่งั้นมีสิทธิ์ข้าวไหม้ติดหม้อจนเอาไปทำขนมไม่ได้

เดินถัดไปอีก 2 ซอย ไปแวะชิมขนม 4 ถ้วยขนมมงคลสำหรับประเพณีการแต่งงาน เป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษของ 2 ตระกูล ด้วยของเซ่นไหว้ 4 เตียบ เพื่อให้เป็นทองแผ่นเดียวกันโดยสมบูรณ์

เรียกประเพณีนี้ว่ากิน 4 ถ้วยประกอบด้วย ไข่กบ (เมล็ดแมงลักน้ำกะทิ) นกปล่อย (ลอดช่องน้ำกะทิ) มะลิลอย (ข้าวตอกน้ำกะทิ) หรือ นางลอย และ อ้ายตื้อ (ข้าวเหนียวดำน้ำกะทิ)

ขนม 4 ถ้วย

การกินขนมมงคล 4 อย่าง คือการกินรวมมิตรของคนโบราณ มีขั้นตอนการกินง่ายๆ คือหยิบ ข้าวเหนียวดำลงใส่ถ้วยตามด้วย ลอดช่อง เมล็ดแมงลัก แล้วราดด้วยน้ำกะทิผสมน้ำตาลโตนด โรยด้วยข้าวตอก จะเริ่มอมน้ำหวานเวลาเคี้ยวจะนุ่มลิ้น กลิ่นหอมของน้ำตาลโตนดเพิ่มรสชาติความอร่อย

ไม่นานก็ได้ตื่นเต้นกัน เมื่อคุณลุงเจ้าของบ้านตั้งกระทะบนเตาถ่าน ก่อนใส่ข้าวเหนียวที่ยังมีเปลือกลงไปประมาณ 1 กำมือ ใช้กิ่งไม้กวนไปมา พอเริ่มร้อนได้ที่ก็ปิดฝา ตั้งตารอฟังเสียงข้าวแตก ไม่นานเสียงข้าวที่โดนความร้อนจนแตกก็เด้งกระทบดังสนั่น รอจนเสียงสงบแล้วค่อยเปิดฝา ข้าวตอกร้อนๆ หอมๆ ออกมาสวยงามน่ากิน หยิบมากินเล่นเป็นสแน็กคล้ายป๊อปคอร์นแบบฝรั่งก็ได้เหมือนกัน

จบเส้นทางเที่ยวที่ 2 ด้วยการทำขนมขึ้นชื่ออย่างขนมแดกงาได้ยินชื่อแล้วทุกคนก็สะดุดกับคำว่าแดกไม่ค่อยสุภาพสักเท่าใดนัก ตัวขนมทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก นำไปตำในครกไม้จนเนื้อเนียนละเอียดเหมือนขนมโมจิของญี่ปุ่น

ขนมแดกงา

ไม่นานเราก็ร้องอ๋อ เมื่อป้าเจ้าของบ้านนำงาดำคั่วบดละเอียดมาใส่ พร้อมบอกว่านี่เรียกว่าการแดก คือค่อยๆ ใส่ส่วนผสมลงไป ระหว่างตำ มิใช่คำหยาบคายตามที่เข้าใจกัน

ลุงและป้าเจ้าของบ้านเริ่มสาธิตวิธีการทำให้ดู ระหว่างที่ป้านวดข้าวเหนียว ลุงถือสากไม้ยักษ์คอยตำสลับกัน ดูไปเสียวแทนป้าไป เพราะกลัวว่าลุงจะลงสากพลาดโดนมือป้า

คณะโพล่งถามไปตรงๆ ว่าเคยพลาดตำมือป้าไหม ความฮาครืนจึงบังเกิด แต่ป้าก็ตอบ นิ่งๆ กลับมาว่าต้องทำให้มีจังหวะสม่ำเสมอ และรู้ใจกันแต่หากลุงเกิดจงใจอันนั้นก็มีวิธีจัดการอีกแบบ

ตำขนมแดกงา

เมื่อบรรยากาศเริ่มอึมครึม ลุงที่อยู่ในหัวข้อสนทนาก็เปลี่ยนเรื่องไปอธิบายวิธีการทำขั้นต่อไป ถือว่าวันนี้รอดไป

เป็นเรื่องสนุกๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการ ท่องเที่ยว ที่วันหนึ่งจะกลายเป็นความทรงจำอยู่ในใจของเรา เด่นชัดกว่าภาพถ่าย เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านอาหาร และการกินอย่างแท้จริง

เพราะทุกอย่างที่อยู่ในวิถีชีวิตของชุมชนนั้น ผ่านการกลั่นกรองออกมาตามกาลเวลาแล้ว ทุกอย่างจึงสอดแทรกด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน