วัดต้าม่อนฟื้นตำนานโมนาลิซ่าแห่งเมืองไทย : ข่าวสดหลาก&หลาย

วัดต้าม่อนหมู่ 3 บ้านม่อน ต.เวียงต้า อ.ลอง จ.แพร่ ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดจิตรกรรมเวียงต้าและภาพวาดอินายสีเวย แม่หญิงคนงามแห่งตำนานเมืองแพร่ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นโมนาลิซ่าเมืองไทย

สำหรับภาพจิตรกรรมเมืองต้าดั้งเดิมได้ผาติกรรมให้กับไร่ แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ.2532

ส่วนภาพจิตรกรรมจำลองฉบับสมบูรณ์ ที่วาดขึ้นในภายหลังได้จัดแสดงให้ชมที่พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ

วัดต้าม่อน

อาคารประกอบในวัดต้าม่อน

 

วัดต้าม่อน

ภายในวัดต้าม่อน

 

ปัจจุบัน จ.แพร่ ได้ให้จิตรกรชื่อดังของ จ.แพร่ วาดภาพจิตรกรรมอีกชุด จำนวน 20 ภาพ และทยอยนำมาติดไว้ในหอคำ หรือวิหารหลังใหม่ของวัดต้าม่อน ให้นักท่องเที่ยวได้ชม

วิหารหลังใหม่ของวัด ต้าม่อน เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของไทใหญ่ที่งดงาม และปัจจุบันมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ อาคารประกอบ ในบริเวณวัดกว่า 6 ไร่ ด้วยงบประมาณซึ่งรวมถึงการวาดภาพจิตรกรรมทั้งสิ้น 11 ล้านบาท

ทำให้วัดต้าม่อน กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวเป็น จำนวนมาก

วัดต้าม่อน

อ.พิทักษ์ ปัญญาฉลาด-พระครูประโชติวีรธรรม

 

วัดต้าม่อน

ภายในวิหารหลังใหม่

 

วัดต้าม่อน

สถาปัตยกรรมสวยงาม

 

พระครูประโชติวีรธรรม เจ้าอาวาสวัดต้าม่อน และ อาจารย์พิทักษ์ ปัญญาฉลาด อดีตครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านเหล่ารัฐราษฎร์บำรุง ต.เวียงต้า ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเวียงต้า ซึ่งถือเป็นลูกหลานของชาวตำบลเวียงต้าและใกล้ชิดกับเครือญาติ ผู้ปกครองตำบลเวียงต้า ได้นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมภายในวิหาร และบริเวณโดยรอบที่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ใกล้แล้วเสร็จ

สําหรับตำนานวัดต้าม่อน จากการบอกเล่าของครูบาคำเขื่อนแก้ว วัดต้าม่อน เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2547 สรุปคร่าวๆได้ว่า

วัดต้าม่อน

อินายสีเวย

 

เมื่อเจ้าฮ้อยหลวง เจ้าฟ้าเชียงตุงชาวไทใหญ่ (เงี้ยว) จากเมือง เชียงตุง นำข้าทาสบริวารอพยพเข้าสู่เมืองต้าเพื่อทำไม้สัก ส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ช้างกว่าร้อยเชือก พร้อมคนงานเข้ามาตั้งปางไม้ จนเป็นชุมชนใหญ่เรียกว่า “เมืองป่า” หรือ “เมืองต้า” คุ้มของท่านตั้งอยู่บริเวณบ้านของนางสังวาล ยอดคำในปัจจุบันขณะนั้นเป็นบริวารของเมืองลำปาง แต่ก็สามารถติดต่อสัมพันธ์กับเมืองแพร่และเมืองน่าน เพราะมีเขตแดน ติดต่อกัน

ส่วนเจ้าคำป้อ เจ้าหญิงแสนสวยของเมืองน่าน ความสวย ของนางเป็นที่หลงใหลของเจ้าเมืองแพร่ จึงได้จัดขบวนขันหมากไปสู่ขอเป็นพระชายา แต่เจ้าหญิงคำป้อมิได้รักและประสงค์เป็น พระชายาเจ้าเมืองแพร่ จึงหนีจากเมืองน่านโดยมีน้าชายคือเจ้าวงศ์เป็นผู้พานางหลบหนีสมรสจากเมืองแพร่มาซ่อนตัวอยู่วัดทุ่งกวาวแต่เห็นว่าไม่ปลอดภัย เจ้าวงศ์จึงพาเจ้าคำป้อเข้ามาหลบที่เมืองต้าซึ่งปลอดภัยกว่า

 

วัดต้าม่อน

ชมภายในวิหาร

 

วัดต้าม่อน

ลำเลียงภาพจิตรกรรมเข้าหอคำ

 

และที่นี่ เจ้าคำป้อก็ได้พบกับ เจ้าฮ้อยหลวง คอยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ และเกิดเป็นความรักกันในที่สุด ได้สมรสกันและพำนักอยู่ ณ เมืองต้า จวบจนสิ้นอายุขัย

ช่วงที่ยังมีชีวิต เจ้าฮ้อยหลวงได้สร้างวัดต้าม่อน สร้างวิหารไม้สักทอง และจิตรกรรมฝาผนัง รวมถึงภาพอินายสีเวย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “โมนาลิซ่า” แห่งเมืองไทย

เจ้าฮ้อยหลวง หาช่างฝีมือดี มาจากเชียงตุง เพื่อสร้างวัดต้าม่อน ภายในวิหารด้านข้าง ทั้ง 2 ด้าน ได้ให้ช่างวาดภาพพุทธประวัติและนิทานธรรมะเรื่อง “เจ้าก่ำกาดำ” ไว้อย่างสวยสดงดงาม

การก่อสร้างดำเนินไปเกือบจะแล้วเสร็จ แต่ต้องหยุดชะงักลง ด้วยเหตุผลน่าเศร้าสลดคือ วันนั้นสล่าเก๊า(หัวหน้าช่าง) ได้ปีนขึ้นไปบนนั่งร้านเพื่อตกแต่งประดับหลังคาให้สวยงาม ซึ่งจะสำเร็จเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์

ขณะที่กำลังปฏิบัติงานอยู่นั้น เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อนั่งร้านที่คาดไว้อย่างแน่นหนา เชือกได้ขาดลง ทำให้หัวหน้าช่างร่วงลงสู่พื้น จากความสูงกว่า 10 เมตร ร่างลอยละลิ่วลงกระแทกพื้นอย่างแรงเสียชีวิตทันที เจ้าฮ้อยหลวงจึงสั่งหยุดการก่อสร้าง ด้วยความเสียใจในอุบัติเหตุครั้งนี้

จากการสอบสวนจึงรู้สาเหตุว่า เพราะมีการกระทำผิดครูเก๊า(บรมครู) เนื่องจากมีเด็กของวัดต้าม่อนแอบไปขโมยกินมะพร้าวอ่อนที่เป็นเครื่องเซ่นบูชาครูไว้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

วัดต้าม่อน

ภาพจิตรกรรมฝีมือจิตรกรเมืองแพร่

 

วัดต้าม่อน

ฝีมือล้ำเลิศ

 

จิตรกรรมฝาผนังวัดต้าม่อนและวัดภูมินทร์ เมืองน่าน เป็นฝีมือช่างชุดเดียวกันคือ “หนานบัวผัน” ส่วนพระพุทธรูปหวายวัดต้าม่อนกับวัดจอมสวรรค์ จ.แพร่ สร้างขึ้นพร้อมกัน

หลังจากที่ช่างได้วาดภาพที่ฝาผนังวัดต้าม่อนเสร็จแล้ว แต่ที่วัดไม่มีวิหารไม้แล้ว เนื่องจากเกิดการชำรุดทรุดโทรม ไม่มีงบประมาณซ่อมแซม ชาวบ้านจึงได้ผาติกรรมภาพจิตรกรรมให้กับไร่แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ.2532 และทางไร่แม่ฟ้าหลวงได้นำภาพจิตรกรรมเวียงต้าของดั้งเดิมเก็บไว้ที่หอคำน้อย

ส่วนภาพจิตรกรรมจำลองฉบับสมบูรณ์อีกชุด ได้จัดแสดงให้ชมที่พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ โดยมีอาจารย์โกมล พานิชพันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง คอยให้ความรู้ ตั้งอยู่ที่หน้าโรงเรียนลองวิทยา ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่

สำหรับภาพจิตรกรรม 20 ภาพ ที่จ.แพร่ ได้ให้จิตรกรชื่อดังของจังหวัดวาดอยู่นั้น เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะนำมาติดไว้ในวิหารหลังใหม่ของวัดต้าม่อน เมื่อมีการเปิดใช้วิหารอย่างเป็นทางการคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมจำนวนมาก

แหล่งน้ำซับบ้านม่อน

 

มาชมน้ำซับบ้านม่อนกันนะคะ

 

ในอนาคตทางวัดต้าม่อนร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลเวียงต้า จะมีกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ ท่านใดที่ยังไม่เคยมาวัดต้าม่อนก็ขอเชิญชวนเข้าไปเยี่ยมชมกันได้

เมื่อมาวัดต้าม่อนแล้ว ใกล้กันยังมีแหล่งน้ำซับบ้านม่อน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สวยงาม เกิดจากตาน้ำใต้ดิน และโขดหิน เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ความลึกประมาณ 2 เมตร มีน้ำตลอดปี

ตรงกลางเป็นเกาะ ชาวบ้านจึงได้สร้างสะพานเข้าไปเป็นสถานที่พักผ่อน เป็นหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี มีต้นไม้ร่มรื่นเย็นสบาย

แหล่งน้ำซับบ้านม่อนนี้ ชาวบ้านยังได้อาศัยน้ำใส่นา จึงถือเป็นที่เก็บน้ำที่ทำให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี

หากได้มาชมจะเห็นน้ำซับงามตา สมกับคำขวัญของบ้านม่อนเลยทีเดียว

สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน