เลือกตั้ง 2562 : นักวิเคราะห์ต่างชาติเตือนประยุทธ์ ระวังซ้ำรอย สุจินดา ถนอม-ประภาส – BBCไทย

คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ออกมาในช่วงปลายปีที่แล้วอนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองสร้างความฮือฮา ให้คนนอกประเทศ ที่มีภาพจำเกี่ยวกับการเมืองไทยว่ายังอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร หลังการยึดอำนาจเมื่อสี่ปีก่อน

คำสั่ง “ปลดล็อก” ทำให้คนในแวดวงได้ “เฮ” อยู่ได้เพียงไม่กี่วัน เพราะหลังจากนั้นรัฐบาลทหาร ออกมาระบุชัดเจนว่าไม่ต้องการให้องค์กรต่างประเทศ ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่นักสิทธิมนุษยชนเรียกว่าเป็นกระบวนการที่ “จัดขึ้นภายใต้ระบอบรัฐประหาร” ท่าทีเช่นนี้ของรัฐบาล คสช. ผลักตัวเองให้ต้องเป็นฝ่ายตอบคำถามเรื่องความโปร่งใส และเป็นธรรมของการเลือกตั้งในครั้งนี้โดยไม่จำเป็น

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ยืนยันว่ารัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสที่สุด และเมื่อได้รัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลทหารก็จะหมดอำนาจลง

แต่นั่นไม่อาจสร้างความมั่นใจให้ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยทั้งในและนอกประเทศ ทั้งในแง่ของความโปร่งใส และการ “ไม่สืบทอดอำนาจ” ของทหารที่ถึงวันนี้หลายคนแสดงท่าทีชาชินกับคำพูดปฏิเสธที่สวนทางกับการปฏิบัติ

ทหารไทยกับการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ?

แพทริก โจรี ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยแห่ง วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และปรัชญา (School of Historical and Philosophical Inquiry) มหาวิทยาลัย ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย เห็นว่าทหารไทยไม่อยู่ในวิสัยที่จะเข้าใจรูปแบบการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้ ดูจากความพยายามแทรกแซงผลการออกเสียงในการลงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 การที่กองทัพ และรัฐบาล คสช. ปฏิเสธไม่ยอมรับนักสังเกตการณ์ต่างชาติชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น ในเวลาเดียวกันจะเห็นว่าพรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่และเพื่อไทยต่างออกมาร้องเรียนเรื่องการถูกคุกคามจากกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐ

ด้าน ไมเคิล มอนเทซาโน นักวิจัยอาวุโส สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ISEAS-Yusof Ishak Institute) กลับเห็นว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ที่ยังไม่ตระหนักว่าการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม คือหนทางของการได้มาซึ่งรัฐบาลที่ชอบธรรมที่จะมาปกครองประเทศ คนในสังคมไทยไม่ให้ความสนใจต่อการปราบปราม (ผู้เห็นต่างจากรัฐบาล) ในภาคเหนือและอีสานในช่วงเดินหน้าสู่การเลือกตั้งนี้

เลือกตั้ง 2562 : นักวิเคราะห์ต่างชาติเตือนประยุทธ์
Getty Images

“การปราบปรามที่ยังดำเนินอยู่ในต่างจังหวัด บวกกับกฎเกณฑ์เลือกตั้งที่เข้มงวดชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้ง (ที่จะเกิดขึ้น) จะไม่เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม แผนการอันชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้ง และการจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งโดยพฤตินัยแล้วถือเป็นพรรครัฐบาลลงแข่งขันในการเลือกตั้งด้วยนั้น ชี้ให้เห็นความตั้งใจที่จะใช้การเลือกตั้งเป็นหนทางไปสู่การคงอยู่ของระบอบเผด็จการอย่างไร้ความชอบธรรม”

ที่ผ่านมาพรรคการเมือง 25 พรรค ลงนามในสัญญาว่าจะทำให้การเลือกตั้งจะเป็นไปโดยเสรี สุจริตและการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปตามความต้องการ ของประชาชน บนความคาดหวังว่าการทำสัญญาครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือลดความขัดแย้งทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งได้ แต่การลงนาม “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้กับประชาชน” นี้ไม่มีพรรคพลังประชารัฐที่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี และกำลังถูกหลายพรรคการเมืองเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเข้าไปตรวจสอบเรื่องการระดมทุนด้วยการขายโต๊ะจีน

แม้นทหารยังเป็นใหญ่ แต่มีเลือกตั้งดีกว่าไม่มี

หากมองในแง่ดีการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นห้วงเวลาแห่งความหวังของคนไทยที่หลีกหนีการอยู่ใต้อำนาจควบคุมเข้มงวดของของทหารที่ดำเนินมาเกือบห้าปี และก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบที่ดีกว่า ดังมุมมองของ ทิม ฟอร์ไซท์ แห่ง วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (The London School of Economics and Political Science) หรือที่รู้จักในชื่อย่อว่า แอลเอสอี

“ผมไม่ได้หมายถึงว่าความขัดแย้งจะยุติลง แต่การเมืองอย่างที่เคยเห็นกันว่ารัฐบาลเสื้อแดงถูกโค่นอำนาจโดยศาลหรือโดยกองทัพ จนนำไปสู่การออกมาประท้วงทั้งของฝ่ายเหลืองและแดงแบบที่เคยเป็นมานั้นคงจะเกิดขึ้นน้อยลง” ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนากล่าวกับบีบีซีไทย

อย่างไรก็ดี ฟอร์ไซท์ ชี้ว่าข้อสังเกตของเขานั้นเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่แม้นกำหนดให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี แต่กลับมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ และไม่เปิดกว้างอย่างที่ควร

“รัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบโดยกองทัพนั้น ออกแบบมาเพื่อยับยั้งการเกิดขึ้นของสภาผู้แทนราษฎรในรูปแบบที่กองทัพไม่ต้องการ ซึ่งอาจหมายถึงสถานการณ์ที่ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ และยังหมายถึงการที่พรรคการเมืองที่อยู่ฝ่าย ‘เสื้อแดง’ จะมีตัวแทนได้นั่งในสภาน้อยกว่า” เขาขยายความถึงที่มาของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส). และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

นักวิชาการแห่งแอลเอสอี ซึ่งคลุกคลีกับการทำงานในชนบทของไทยในหลายพื้นที่เห็นว่าจากประสบการณ์ของเขา แม้ชาวบ้านจะไม่พอใจนักกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ แต่ก็ยินดีที่รัฐบาลคงนโยบายที่นายทักษิณ ชินวัตร ริเริ่มไว้

เขาเห็นว่าพรรคที่สนับสนุนฝ่ายทหารจะเป็นพรรคที่ได้เปรียบด้วยเหตุผลหลายอย่าง ตั้งแต่การกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ รวมถึงการที่คนในชนบทต้องการเห็นการปฏิรูป เพราะคนเหล่านี้รู้สึกว่าไทยถูกปกครองโดยคนที่ไม่ใส่ใจคนชนบท และในเวลาเดียวกันก็มีคนอีกมากที่สนับสนุนระบอบของกองทัพ เพราะมองในเรื่องความมั่นคงของรัฐบาลในห้วงเวลาแห่งความวุ่นวายทางการเมือง

“ดังนั้นพลังประชารัฐจึงได้เปรียบเพราะเป็นพรรคที่มีอำนาจและนำมาซึ่งความมั่นคง และด้วยระบบการเมืองใหม่ ใต้รัฐธรรมนูญใหม่ พรรคนี้จะสามารถต่อรองกับสภาสูงได้”

กลับมาแตกแยกและประยุทธ์ล้มเหลว ?

ในหลายประเทศหลังผ่านพ้นการรัฐประหารและการตกอยู่ใต้การควบคุมของกองทัพ การเลือกตั้งน่าจะหมายถึงการกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่ โจรี แห่ง มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เห็นว่าไม่ใช่สำหรับไทย เพราะกองทัพและฝ่ายที่สนับสนุนพยายามทำให้แน่ใจว่าภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะยังคงเป็นฝ่ายกุมอำนาจอย่างเข้มงวดตามที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ทำได้ ดังนั้นหากกองทัพยังคงเข้ามามีบทบาทมากมายในทางการเมืองเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นความแตกแยกทางการเมืองอย่างที่เคยเห็นก่อนปี 2557

วันที่ 18 พฤษภาคม ทหารจับยืนเฝ้ากลุ่มผู้ประท้วงที่ถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้า
PONGSAK CHAIYANUWONG/ AFP/ Getty Images
18 พฤษภาคม 2535 ทหารยืนเฝ้ากลุ่มผู้ประท้วงที่ถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้า หลังจากรัฐบาลของพล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีสั่งให้ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างเด็ดขาด

โจรี เห็นว่าขณะนี้ทั้งกองทัพและตัว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นที่ชื่นชอบแม้แต่ในหมู่ผู้ที่เคยสนับสนุนการก่อรัฐประหารมาก่อน แม้กองทัพจะหนุนหลัง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จในเกมการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และหากดูจากประวัติศาสตร์แล้ว พรรคการเมืองที่ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพล้วนไม่เคยประสบความสำเร็จในทางการเมือง เช่นในยุคของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่จบลงในสภาพ “หายนะ”

โจรี ประเมินว่าพรรคเพื่อไทย นายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้รับความนิยมในหมู่ผู้สนับสนุน หากพรรคไม่ถูกยุบก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนการที่สมาชิกพรรคบางส่วนเข้าร่วมกับพลังประชารัฐนั้นเป็นเรื่องของการฉวยโอกาส “ย้ายพรรค” อย่างที่เห็นกันมาอยู่แล้วในการเมืองไทย หรืออาจสะท้อนให้เห็น “การตกลงอย่างไม่เปิดเผย” ระหว่างนายทักษิณ กับกองทัพก็เป็นได้

มอนเทซาโน เป็นนักเคราะห์อีกคนที่มองว่าการดึงผู้สมัครจากพรรคอื่นเข้าร่วมพรรคที่เป็นรัฐบาลโดยพฤตินัยและเป็นผู้จัดการเลือกตั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าเผด็จการทหารกำลังเผชิญกับสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ และมีความจำเป็นที่ต้องทำความตกลงทางการเมือง ซึ่งสิ่งนี้เป็นลักษณะพิเศษของรัฐสภาไทย และด้วยเหตุผลนี้การบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง 2562 จะยากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมานับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และ พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกันกับที่ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร เคยเผชิญมาแล้ว

ประชาธิปัตย์จะแพ้อีก

สำหรับพรรคการเมืองหลักอื่น ๆ ที่ลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ โจรี แห่งมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ชี้ชัดว่าความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ กับการมีหัวหน้าพรรคที่ไม่เป็นที่นิยม รวมทั้งความเกี่ยวโยงของพรรคกับการรัฐประหารเมื่อสี่ปีก่อนทำลายชื่อเสียงของพรรคอย่างหนัก ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสายอนุรักษ์นิยมที่เคยหนุนประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มจะไปลงคะแนนให้พลังประชารัฐ

“มันยากที่จะรู้ว่าจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นอยู่ที่ไหน”

สำหรับพรรคอนาคตใหม่นั้นท่าทีที่แน่ชัดในการต่อต้านพรรคทหาร การสัญญาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับความสนใจจากคนในเมือง และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหัวก้าวหน้า กับความเชี่ยวชาญในการใช้โซเซียลมีเดียอาจทำให้พรรคได้ที่นั่งมากกว่าที่หลายคนคิด บนเงื่อนไขว่าพรรคจะไม่ถูกตัดสิทธิ์จากการเลือกตั้งเสียก่อน

Fitch ชี้มีความเสี่ยงระยะสั้นทางการเมือง

Fitch Solutions Macro Research สำนักวิจัยร่วมเครือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings วิ เคราะห์ว่าศึกเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการขับเคี่ยวที่เข้มข้นระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนทหาร และ พรรคที่อยู่มาก่อน เช่น เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ซึ่งดูเหมือนว่า พรรคพลังประชารัฐจะได้เปรียบ ไม่ว่าฝ่ายใดชนะ หากผลการเลือกตั้งถูกตั้งคำถาม และท้าทาย ก็อาจเกิดความวุ่นวายบนท้องถนนอีก ทั้งจาก “ฝ่ายเสื้อเหลืองนิยมเจ้า” และ “เสื้อแดง”

Fitch Solutions ได้สะท้อนความเสี่ยงนี้ไว้ในตัวเลขคะแนนความเสี่ยงทางการเมืองระยะสั้นแล้ว ซึ่งอยู่ที่ 70.2 จาก 100 ซึ่งถ้าเกิดจริงจะมีผลลบผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในอัตรา 3.5%

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2562 ได้ที่หน้านี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน