อาจารย์วาลุกา พลายงาม
วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต

เมื่อโลกของเทคโนโลยี ก้าวไปไม่หยุดนิ่ง และเข้ามามีบทบาทในชีวิต ไลฟ์สไตล์ของเรา จึงเปลี่ยนแปลงไป เพราะปัจจุบันอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือที่แปลงร่างเป็นสมาร์ทโฟน กลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน สังคม ความบันเทิง หรือแม้กระทั่งการซื้อขายสินค้า และการใช้บริการต่างๆ แต่หลายคนมักลืมไปว่า การใช้สายตาจ้องมองหน้าจอจากอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นเวลานานๆ จะส่งผลเสียต่อดวงตาโดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการติดจอ ในระยะยาวจะเร่งการเสื่อมของดวงตา เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของโรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration หรือ AMD) และยิ่งถ้าร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินไม่เพียงพอด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้สุขภาพดวงตาเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้มีอาการตาแห้ง มองภาพเบลอ ปวดกระบอกตา ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจ เพราะตาเสียแล้วเรียกกลับคืนมาไม่ได้

จอประสาทตา เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการรับภาพของดวงตา โรคจอประสาทตาเสื่อม เกิดจากเซลล์ที่จอประสาทเกิดความเสื่อมหรือถูกทำลาย มีผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง มองภาพไม่ชัด และเป็นไปอย่างช้าๆ เห็นภาพบิดเบี้ยวไป หรือเห็นเหมือนมีจุดดำบังตรงกลางภาพ จนถึงขั้นทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ โดยส่วนใหญ่มักจะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่จากพฤติกรรมการติดจอในปัจจุบัน ทำให้ได้รับแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดความเสื่อมเป็นสาเหตุให้จอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน แสงแดด การกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ และกรรมพันธุ์ เป็นต้น

การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมในปัจจุบัน ไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่เสียไปกลับคืนมา หรือรักษาโรคให้หายขาดได้ ทำได้เพียงแค่คงสภาพการมองเห็นให้เหลือไว้ได้มากที่สุดเท่านั้น ฉะนั้นเราควรเริ่มดูแลและถนอมสายตาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนสายเกินแก้ โดยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ เพราะดวงตาก็ต้องการสารอาหารที่มีคุณค่าไม่ต่างไปจากร่างกาย โดยเฉพาะผักและผลไม้ เช่น ฟักทอง แครอท มะละกอสุก ที่ให้วิตามิน เอ และเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยในการมองเห็น และยังมี วิตามินซีและอี ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระปกป้องเซลล์ที่จอประสาทตา ปัจจุบันเราพบว่าอาหารจำพวกผักใบเขียว รวมไปถึงอาหารที่ให้กรดไขมันโอเมก้า-3 และ 6 ก็เป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพดวงตา นอกจากนี้สารพฤษเคมี เช่น แอนโธไซยานินและฟาโวนอยด์ ที่พบได้ในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สามารถช่วยปกป้องดวงตาและช่วยในการลดความเสื่อมของเซลล์ที่จอประสาทตาได้

image01

จากผลการวิจัยในหลายๆ ประเทศพบว่า สารแอนโธไซยานิน ซึ่งมักจะพบได้ในผลไม้สีม่วงแดง จำพวกผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น บิลเบอร์รี่ แบลคเคอร์แรนท์ อะซาอิเบอร์รี่ สตอเบอร์รี่ ฯลฯ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง เมื่อเทียบกับผักผลไม้ชนิดอื่นๆ และมีฤทธิ์ที่ทำงานตรงต่อดวงตา ช่วยชะลอความเสื่อมของจอประสาทตา ช่วยป้องกันอนุมูลอิสระที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยแสง นอกจากนี้แอนโธไซยานินยังมีผลช่วยลดความเสี่ยงของภาวะต้อกระจก ช่วยให้ตารับภาพในเวลากลางคืนได้ชัดเจนมากขึ้น และช่วยคลายความเหนื่อยล้าของดวงตาในกลุ่มที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เนื่องจากช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเลือดฝอยและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอยที่ตา ทำให้ดวงตาได้รับสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากสารอาหารดังกล่าวแล้ว หากคุณต้องใช้สายตาอ่านหนังสือ จ้องจอคอมพิวเตอร์ หรือหากเมื่อใดก็ตามที่เราใช้ดวงตานานๆ จนรู้สึกไม่สบายตา ตาล้า ตาเบลอ ปวดเบ้าตา ฯลฯ ควรมีการหยุดพักเป็นระยะๆ ปล่อยให้ดวงตาของคุณได้มีเวลาผ่อนคลายบ้าง โดยการหยุดพักการมองระยะใกล้ แล้วมองออกไปนอกหน้าต่างไกลๆ ดูธรรมชาติ ดอกไม้ ต้นไม้ เพราะสีเขียวจะช่วยทำให้ดวงตาของคุณคลายความเครียด ถ้าพอมีเวลาลองออกกำลังกายดวงตาง่ายๆ เริ่มจากกลอกตาซ้าย-ขวา บน-ล่าง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบดวงตาลดความเมื่อยล้าของดวงตาได้ หากมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับดวงตาให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

หากชีวิตมีความจำเป็นที่ต้องใช้ชีวิตติดจอ คุณควรจะหันมาดูแลและบำรุงดวงตาคู่เดียวของคุณ หมั่นเสริมเกราะป้องกันความเสื่อมด้วยผักผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่มีแอนโธไซยานิน เพื่อการมีสุขภาพดวงตาที่ดี ให้ดวงตาอยู่คู่เราไปอีกนาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน