สื่อออสเตรเลียเปิดคำพิพากษา ชี้ “ธรรมนัส” รับสารภาพค้ายา-ต้องโทษจำคุก 4 ปีจริง – BBCไทย

หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ (SMH) ของออสเตรเลีย เผยเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีอาญารัฐนิวเซาท์เวลส์ เมื่อปี 2538 ที่มีเนื้อหาชี้ชัดว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยรับโทษจำคุกในคดีลักลอบนำเข้าและค้ายาเสพติดเป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะถูกเนรเทศกลับไทย

เอกสารดังกล่าวอยู่ในบทความชื่อว่า “รัฐมนตรีอดีตนักโทษบิดเบือนเรื่องราวสมัยเคยต้องโทษจำคุกในนครซิดนีย์” (Ex-con cabinet minister changes story over Sydney jail time) โดยระบุว่าสาระสำคัญของคำพิพากษาที่มีขึ้นเมื่อ 24 ปีก่อน ขัดแย้งกับถ้อยแถลงของ ร.อ. ธรรมนัส ต่อสภาผู้แทนราษฎร และต่อสาธารณชนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งเขายืนกรานว่าเคยถูกทางการออสเตรเลียควบคุมตัวเพียง 8 เดือนในฐานะพยานเท่านั้น และได้อยู่ในสถานพักพิงที่รัฐเป็นผู้ดูแล โดยไม่ได้เป็นนักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ

ก่อนหน้านี้ ร.อ. ธรรมนัสบอกว่า เขาใช้ชีวิตตามปกติเหมือนคนทั่วไปหลังได้รับการปล่อยตัว โดยประกอบอาชีพเป็นผู้จัดการในบริษัทจำหน่ายกระดาษชำระแห่งหนึ่งในออสเตรเลียเป็นเวลา 4 ปีเต็ม ทั้งยืนยันว่าไม่เคยรับสารภาพต่อข้อหาลักลอบนำเข้าและค้ายาเสพติด แต่ได้เข้าสู่กระบวนการต่อรองก่อนพิจารณาคดีเพื่อกันตัวเป็นพยานแทนการรับโทษ

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีอาญารัฐนิวเซาท์เวลส์ เมื่อปี 2538 ที่ให้ยกคำร้องขอลดหย่อนโทษจากนายศรศาสตร์ เทียมทัศน์ และนายมนัส โบพรหม ซึ่งเป็นชื่อและนามสกุลที่ ร.อ. ธรรมนัส ใช้ในเวลานั้น ระบุชัดว่าทั้งสองมีส่วนพัวพันอย่างลึกซึ้งในคดีลักลอบนำเข้าและค้ายาเสพติดดังกล่าว โดยนายมนัสนั้นได้ช่วยเดินเรื่องทำวีซ่าและจัดหาตั๋วเครื่องบินให้แก่หญิงที่เป็นผู้รับขนยาเสพติด และเป็นผู้นำเฮโรอีนน้ำหนัก 3.2 กิโลกรัมจากโรงแรมพาร์กรอยัลในนครซิดนีย์ ไปให้กับลูกค้าที่หาดบอนไดด้วยตนเอง

บันทึกของศาลยังชี้ว่า หลังนายมนัสถูกจับกุมในปี 2536 เขาได้เผยรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับวงการธุรกิจใต้ดินของไทยแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจออสเตรเลีย ทั้งยังเอ่ยพาดพิงถึงบุคคลในกองทัพจำนวนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดด้วย

ก่อนที่จะมีการเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวในอดีตของ รมช. คนดัง ผู้สื่อข่าวของ SMH และ นสพ. ดิเอจได้สืบทราบมาว่า มีนักการเมืองฝ่ายค้านชาวไทยได้ยื่นขอข้อมูลประวัติอาชญากรรมของ ร.อ. ธรรมนัส จากสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ส่วนรัฐบาลไทยเองยอมรับว่าได้เคยขอข้อมูลประวัติของ ร.อ. ธรรมนัส จากทางการออสเตรเลียจริง ก่อนการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในเดือน ก.ค. แต่ไม่ได้ระบุว่ามีการแจ้งให้ทราบถึงประวัติอาชญากรรมของเขาหรือไม่

ด้านสำนักงานตำรวจกลางออสเตรเลีย (AFP) ไม่ปฏิเสธว่าได้ให้ข้อมูลประวัติการต้องโทษจำคุกของ ร.อ. ธรรมนัสแก่ตำรวจไทย ภายใต้ข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างสองประเทศที่ถือปฏิบัติกันเป็นประจำอยู่แล้ว โดยโฆษกของ AFP ระบุในแถลงการณ์ว่า “คำร้องทั้งหมดที่ระบุว่าต้องการข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ควรจะยื่นขอต่อทางการไทยโดยตรง”

ผู้สื่อข่าวของ SMH ยังได้สอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) และกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ถึงโอกาสในการได้รับวีซ่าเข้าประเทศของ ร.อ. ธรรมนัส แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดตอบกลับมาภายใน 24 ชั่วโมง

แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม จะบอกว่าการเปิดโปงประวัติอาชญากรรมของ ร.อ. ธรรมนัส นั้นเป็น “เรื่องเล็กน้อย” แต่เอกสารคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีอาญารัฐนิวเซาท์เวลส์กลับชี้ชัดว่า “มนัส” กับพี่ชายต่างมารดาคือนายศรศาสตร์ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2536 ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดกันลักลอบนำเข้าเฮโรอีนมูลค่า 86 ล้านบาท และเมื่อผู้พิพากษาบอกกับเขาในเดือน พ.ย. ของปีเดียวกันว่า เขาอาจต้องโทษจำคุกถึง 9 ปี “มนัส” จึงให้ความร่วมมือกับตำรวจและศาลเพื่อหวังลดโทษ โดยได้ยอมรับสารภาพในเดือนเดียวกัน

ศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์มีคำพิพากษาในวันที่ 31 มี.ค. 2537 ให้จำคุกคนทั้งสองเป็นเวลา 6 ปี โดยต้องรับโทษขั้นต่ำอย่างน้อย 4 ปี และไม่สามารถยื่นขอทำทัณฑ์บนได้เป็นเวลา 2 ปี

มนัสและศรศาสตร์ได้ยื่นคำร้องขอลดหย่อนผ่อนโทษลงอีก หลังนายมาริโอ คอนสแตนติโน ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งในคดีเดียวกัน ได้รับโทษจำคุกสถานเบาเพียงสองปีครึ่ง แต่ในวันที่ 10 มี.ค. 2538 ศาลอุทธรณ์คดีอาญารัฐนิวเซาท์เวลส์ได้ปฏิเสธคำร้องดังกล่าว ทำให้ทั้งสองต้องรับโทษจำคุกที่เรือนจำพาร์กลีต่อไปจนครบเวลา 4 ปี และถูกเนรเทศในวันที่ 14 เม.ย. 2540 ในที่สุด

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีอาญารัฐนิวเซาท์เวลส์ ขัดแย้งกับถ้อยแถลงของ ร.อ. ธรรมนัสต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมาอย่างชัดเจน โดยคณะผู้พิพากษาระบุว่า “ผู้ยื่นคำร้องขอบรรเทาโทษทั้งสองคน ต่างให้การรับสารภาพว่าจงใจมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเฮโรอีนในปริมาณเพื่อการค้า”

บทความของ SMH ยังชี้ว่า มีแนวโน้มว่าประวัติอาชญากรรมของ ร.อ. ธรรมนัส จะทำให้เขาไม่ได้รับการอนุมัติวีซ่าเข้าประเทศออสเตรเลียในอนาคต หากไม่มีการแทรกแซงช่วยเหลือโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียเอง โดยเว็บไซต์ของทางกระทรวงระบุว่า ผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าจะไม่ผ่านการทดสอบลักษณะนิสัย หากเคยมีประวัติต้องโทษจำคุก 12 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติวีซ่าไปโดยปริยาย

บทความดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดโปงประวัติอาชญากรรมของ ร.อ.ธรรมนัส ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อทางการทูตซึ่งเสี่ยงต่อความขัดแย้งกับรัฐบาลไทยอีกครั้ง อันเป็นสถานการณ์ไม่พึงประสงค์สำหรับออสเตรเลียอย่างยิ่ง หลังจากเกิดกรณีที่ออสเตรเลียและประชาคมโลกเรียกร้องกดดันให้ไทยส่งตัวนายฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่ออสเตรเลีย เมื่อช่วงต้นปีนี้

ผู้สื่อข่าว SMH กล่าวสรุปในบทความว่า การที่สื่อออสเตรเลียเปิดโปงประวัติอาชญากรรมของบุคคลสำคัญในรัฐบาลไทย ผู้ใช้อิทธิพลสร้างความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลมาโดยตลอด อาจทำให้เกิดผลกระทบทางการเมืองอย่างรุนแรง เพราะบุคคลที่มีคำพิพากษาให้ต้องโทษจำคุกในคดียาเสพติด ไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แม้จะเคยมีนักกฎหมายชาวไทยอ้างว่าคำพิพากษาดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจของศาลไทยก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน