คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ผลการประชุมโครงการความร่วมมือรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมาครั้งล่าสุด ระบุว่าจะนำโครงการเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในเดือนมิถุนายนนี้

จากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยจะเปิดประมูลการก่อสร้าง ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 ก.ม. สถานีกลางดง-ปางอโศก ให้มีการลงนามในสัญญางานออกแบบได้ในเดือนกรกฎาคม และได้ตัวผู้รับเหมาในเดือนสิงหาคม

การหาแหล่งเงินทุนของการก่อสร้าง จะหารือสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ หรือใช้วงเงินงบประมาณจากรัฐบาล จากนั้นจึงเป็นเรื่องพิจารณากู้เงินจากจีนสำหรับจัดซื้อตัวรถและระบบอาณัติสัญญาณ

เป็นความคืบหน้าของโครงการไฮสปีดที่รอมานาน

ระยะทางการสร้างเส้นทางเฟสแรก 3.5 ก.ม.นั้น มีความยาวเท่ากับโครงการเชื่อมเส้นทางการก่อสร้างเส้นทางไฮสปีดจากจีนเข้าเวียงจันทน์ในช่วงเริ่มต้นของลาว 3.5 ก.ม. ซึ่งผู้นำสปป.ลาวเคยขอแรงสนับสนุนจากไทยและจีนเพื่อจะเชื่อมต่อทางรถไฟ ไม่เช่นนั้นจะเป็นรถไฟกุด

มาถึงวันนี้โครงการดังกล่าวมีแนวโน้มไม่กุดแล้ว เมื่อผู้นำจีนเอ่ยถึงเส้นทางไฮสปีดเชื่อมลาวอย่างชัดเจนในการประชุมโรดแอนด์เบลต์

ส่วนของไทยก็มีแผนก่อสร้างเฟส 2 เฟส 3 เฟส 4 ระยะทางรวม 252.5 ก.ม. เพื่อแสดงให้เห็นว่ารถไฟจะไม่กุด

เพียงแต่การเดินหน้าโครงการแต่ละขั้นตอนนั้นยังไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับแผนงานตามร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านที่ถูกสลายไปในอดีต

การผลักดันเส้นทางรถไฟความเร็วสูงขณะนี้จึงดูเหมือนต้องพึ่งแรงส่งจากนอกประเทศ โดยเฉพาะจากจีน

สังเกตได้จากเงื่อนไขในการก่อสร้าง ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก อำนวยความสะดวกให้กับวิศวกรและสถาปนิกจากจีนสอบผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรของไทย

ก่อให้เกิดคำถามในทางกฎหมายว่า กรอบของการอำนวยความสะดวกนี้จะส่งผลกระทบต่อวิศวกรและสถาปนิกชาวไทยมากน้อยอย่างไร และจะเป็นต้นแบบของการก่อสร้างอื่นๆ ที่เป็นความร่วมมือกับต่างประเทศด้วยหรือไม่

และการแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้รถไฟกุดนี้จะคุ้มค่าประการใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน