คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

เรื่องราวของคนยากจนที่ขโมยขนมปัง จะเอาไปให้ลูกกิน บรรเทาความหิวโหย แต่ต้องถูกจับกุมดำเนินคดีติดคุกติดตะราง ซึ่งปรากฏในวรรณกรรมระดับโลก บอกเล่าถึงสภาพสังคมที่มีปัญหาความต่างทางชนชั้น คนส่วนใหญ่อดอยากยากแค้น และเกิดปมประเด็นความอยุติธรรม

พร้อมกับสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนกระทำผิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดี เพราะบ้านเมืองจำเป็นต้องมีกฎกติกา

แต่ต้องมองให้ลึกลงไปว่า คนที่ละเมิดกฎหมายนั้น เขาทำเพื่ออะไร และทำไมต้องทำ!?

บางครั้งการลงโทษผู้คนด้วยหลักกฎหมาย ที่เรียกกันว่ากระบวนการยุติธรรม กลับทำให้ผู้คนในสังคมเกิดคำถามขึ้นอย่างอื้ออึง

ถ้าหากกฎหมายนั้น มีลักษณะเลือกปฏิบัติ ผู้คนพูดกันแต่คำว่า 2 มาตรฐาน

ที่สำคัญ ถ้ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายผู้กุมมีอำนาจ เพื่อจัดการเฉพาะกับคนที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม

กฎหมายนั้นก็จะเริ่มขาดความศักดิ์สิทธิ์ ไม่เป็นที่ยอมรับจากสมาชิกสังคมมากขึ้นๆ

ประเด็นสำคัญจึงขึ้นอยู่กับว่า สังคมนั้นมีสภาพสมบูรณ์ มีความเป็นปกติ มีความเสมอภาค หรือไม่

ดังเช่น พ่อที่ขโมยขนมปังเพื่อไม่ให้ลูกอดตาย มีพื้นฐานมาจากสังคมนั้น เอารัดเอาเปรียบกันมากเกินไป คนจนอยู่ในสภาพไม่มีจะกิน

เมื่อกฎหมายลงโทษคนที่ขโมยขนมปัง

จึงตอกย้ำสภาพความอยุติธรรม ทำให้คนไม่ยอมรับกฎกติกา เมื่ออยุติธรรมกันบ่อยๆ ก็นำไปสู่การลุกฮือ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

หรือในปัญหาความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง ถ้าคนฝ่ายหนึ่งต้องเดินเข้าคุกเข้าตะราง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ไม่แค่คดีใหญ่ แต่คดีเล็กๆ ก็ไม่รอด!!!

แต่คนอีกขั้วก่อคดีร้ายแรง ระดับคนตายนับร้อย ระดับละเมิดกฎหมายนานาชาติ จนทั่วโลกเฝ้าจับตามอง กลับไม่เคยต้องเดินเข้าตะรางแม้แต่วันเดียว

นี่เป็นข้อเปรียบเทียบที่น่าเป็นห่วง

เพราะถ้าปล่อยให้มีข้อเปรียบเทียบของการบังคับ ใช้กฎหมาย เกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง

จะเป็นอารมณ์คับแค้นที่สั่งสมไปเรื่อยๆ

จนอาจจะถึงจุดที่ปะทุเป็นความรุนแรงได้ ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ถึงจุดนั้น!

ทุกสังคม ต้องมีกฎกติกา ต้องเคารพในกฎหมาย

แต่ถ้าใช้กันอย่างหยาบๆ และใช้กันอย่างไม่เสมอภาค ใช้กับคนฝ่ายหนึ่ง แต่คนอีกฝ่ายไม่เคยใช้

มันก็คือความอยุติธรรม!!

สภาพเช่นนี้เกิดในบ้านเมืองไหน ก็น่าห่วงใยทั้งสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน