การเมือง : สภายื้อแก้รธน.-โหมไฟม็อบต้าน?

สภายื้อแก้รธน.-โหมไฟม็อบต้าน? : ให้หลังรัฐสภามีมติตั้งกมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญก่อนรับหลักการ ด้วยเสียง 432 ต่อ 256

ทำให้ผู้ชุมนุมประกาศยกระดับการเคลื่อนไหว พร้อมนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งเดือนต.ค.

การดำเนินการของรัฐบาลและส.ว. เจตนาเพื่ออะไร จะยิ่งทำให้บานปลายไปอย่างไร

มีมุมมองจากนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์บ้านเมือง ดังนี้

ยุทธพร อิสรชัย

รัฐศาสตร์ มสธ.

การตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาร่างแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นการดึงเกม เมื่อปิดสมัยประชุมไปแล้วกลไกของสภาไม่สามารถดำเนินการได้ จนกว่าจะเปิดสมัยประชุมหน้า เรื่องจะถูกดึงไปสู่เดือนพ.ย. อีกทางหนึ่งคือการเปิดประชุมสมัยวิสามัญพิเศษ ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ยากมากเพราะต้องมีเงื่อนไข ขั้นตอนความจำเป็นต่างๆ

แต่ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าการดึงเกมไปถึงพ.ย. อาจไปโหวตคว่ำทั้ง 6 ญัตติ หรืออาจรวมไปถึงญัตติของไอลอว์ ที่เป็นญัตติที่ 7 และเมื่อโหวตคว่ำแล้วสมัยหน้าอีก 8-9 เดือนจะไม่สามารถเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อีก สุดท้ายแล้วอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้นจริง

เรื่องตั้งกมธ.ศึกษา เชื่อมีการเตรียมการไว้พอสมควร เพราะมีเรื่องการเสนอญัตติแล้วลงมติที่ค่อนข้างเป็นเอกภาพ ที่น่าสนใจคือฝ่ายไม่เห็นด้วยหักเสียงส.ส.ฝ่ายค้าน 211 เสียง อีก 40 กว่าเสียงนั้นมาจากไหน เท่าที่ทราบมาจากพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่ง ฟากส.ว.อีกเล็กน้อย จุดสนใจคือฝ่ายรัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.นี้ทั้งหมด

การทำหน้าที่ของคนในสภาจะแยกส่วนกับการทำหน้าที่ของคนนอกสภาไม่ได้ โดยหลักการส.ส. หรือส.ว.ต้องเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แล้วจะมาบอกว่าไม่ให้ความสนใจหรือความสำคัญกับข้อเรียกร้องของคนนอกสภานั้นไม่ถูกต้อง

และที่คนในสภาไม่มองถึงปรากฏการณ์นอกสภาร่วมด้วยอาจนำไปสู่สภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และจะนำไปสู่ปรากฏการณ์มวลชนประชาธิปไตย เมื่อมวลชนต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยตนเอง ไปกำหนดชะตากรรมต่างๆของเขาเอง ซึ่งจะทำให้การเมืองระบบรัฐสภาไม่ได้รับการยอมรับ และการเดินลงบนท้องถนนก็จะกลับมา

และยิ่งกลไกของรัฐสภาตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้เพราะปิดสมัยประชุม แต่การชุมนุมยังเดินต่อในเดือนต.ค.นี้ ก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นการชุมนุมขยายฐานมวลชน เพราะลำพังกลุ่มนักศึกษา ประชาชนปลดแอก
ส่วนกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มไอลอว์ นักเรียนเลว และกลุ่มอื่นๆก็จะไปชุมนุมกันแน่นอน

และยังมีประชาชนทั่วไปที่อาจไม่ได้ร่วมอุดมการณ์ทางเดียวกันกับกลุ่มนักศึกษา เพียงแต่เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ จะมีคนกลุ่มนี้ไปร่วมชุมนุมครั้งหน้าก็เป็นไปได้
โอกาสที่จะนำไปสู่ความรุนแรงก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่าลืมว่าการตั้งกมธ.ศึกษาฯครั้งนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับจาก ทุกฝ่าย ดังนั้นถ้ายังไม่ตกผลึกร่วมกันได้ในสภาก็เป็นปัญหา

ถ้ามองภาพใหญ่จะเห็นการอภิปรายช่วง 2 วันที่ผ่านมา กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในบรรยากาศความขัดแย้งบดบังเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ เห็นจาก 2-3 คู่ขัดแย้งในสภา สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องความขัดแย้ง โดยเฉพาะด้านทัศนคติ ค่านิยมความเชื่อของช่วงชั้นวัยที่ต่างกัน และยังสะท้อนความขัดแย้งนอกสภาถูกถ่ายทอดเข้าไปยังสภา รวมถึงความขัดแย้งในสภาออกสู่นอกสภา

การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การมีกฎหมายอยู่ในกระดาษ 1 ฉบับ แต่หมายถึงการจัดวางความสัมพันธ์อำนาจให้ลงตัวในสังคม เมื่ออำนาจไม่ลงตัวก็มีโอกาสนำไปสู่การจะแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เสถียรภาพของรัฐบาลหลังจากนี้จุดที่น่าสนใจคือจะแก้ปัญหามวลชนได้มากแค่ไหน และเอกภาพภายในพรรคพวกเองจะแก้ปัญหาไหม เพราะมีพรรคจากฝ่ายร่วมรัฐบาลบางส่วนที่โหวตไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.ศึกษาฯ

สิ่งที่รัฐบาลต้องเผชิญคือ การเมืองทั้งนอกและในสภา

ธเนศวร์ เจริญเมือง

รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช.

เจตนารัฐบาลและส.ว.สะท้อนถึงการไม่เห็นถึงปัญหา ข้อเรียกร้องและประโยชน์ที่ประชาชนอยากได้ ทั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่ากี่ร่างหรือเป็นร่างของใคร โดยเฉพาะร่างที่เป็นของประชาชน ล่าชื่อเป็นหมื่นเป็นแสนหวังจะเห็น การแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แต่พอเสนอรัฐบาลกลับอ้างขอเวลาศึกษา ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการศึกษามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ประเด็นคือศึกษาอะไรอีก ญัตตินี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ มายื่นวันนี้แล้วตกใจกันทั้งสภา แต่รู้กันมาก่อนหน้าแล้ว รู้ดีด้วยซ้ำ โดยเฉพาะวาทกรรมของประธานสภา ที่บอกว่าไม่ต้องสนใจเสียงภายนอก ไม่เห็นหรือว่าประชาชนเขาสู้กันมากี่เดือนแล้ว ยิ่งเป็นการจุดประเด็นความไม่พอใจของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก

เป็นการยื้อเวลาอย่างเคยชินของรัฐบาลเพื่อหวังให้พลังกดดันอ่อนล้าลงแล้วลืมกันไป ฝ่ายผู้มีอำนาจก็อยู่บนเก้าอี้ ต่อไป และหวังว่าอนาคตคงจะสะสางปัญหาเหล่านี้ไปได้ แม้มีบางฝ่ายที่คาดว่ารัฐบาลทำเช่นนี้เพื่อจุดกระแสม็อบให้เข้มข้นขึ้น จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเพื่ออ้างกฎหมายควบคุมอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นความคิดที่เลวร้ายมาก

วันนี้ประชาชนมีการศึกษามากขึ้น มีรูปแบบเทคโนโลยีข่าวสารที่รวดเร็วมากขึ้น คนเรียนรู้มากกว่าอดีต เพราะต่างมีสมาร์ตโฟน อินเตอร์เน็ต นักเรียน นักศึกษากลายเป็นกลุ่มปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ลุกขึ้นมาต่อต้านผู้มีอำนาจอย่างเข้มแข็ง

นักเรียนมัธยมฯอ่านหนังสือที่นักศึกษาปรัชญาและรัฐศาสตร์ต้องศึกษากันในปี 2 ปี 3 แต่ตอนนี้เด็กมัธยมฯนำมาอ่านกันเอง บวกกับ 1.ข้อเท็จจริงในความล้าหลังของการเมืองไทย 2.โลกที่พัฒนามากขึ้น และ 3.ข่าวสารในระบบดิจิตอล

สามอย่างรวมกันกลายเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว แต่สิ่งที่คนเฒ่าคนแก่ในรัฐบาลตอบกลับมากลับเป็นการยืดเวลา ไม่คุยและไม่มีคำตอบให้ สุดท้ายความรุนแรงจะกลายเป็นบทสรุปอย่างนั้นหรือ

มนุษย์มีการเรียนรู้ สรุปบทเรียนเพื่อป้องกันตัวเอง นักเรียน ประชาชนที่เรียกร้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยก็ต้องหาทางทำให้สำเร็จ เขามีสิทธิ์จะทำด้วยซ้ำ เรียกร้องมาเป็นเดือนแล้ว ล่ารายชื่อมาแสน เหนื่อยขนาดไหน แล้วมาตอบแทนเขาแบบนี้ พูดก็ไม่พูด คุยก็ไม่คุย อธิบายก็ไม่มี หนีหน้าแล้วท้าทายอีกว่าอย่าไปฟัง ก็ไม่แปลกที่ประชาชนต้องเพิ่มระดับการชุมนุมให้เข้มข้นและอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคตได้

คนที่ควรจะมารับผิดชอบปัญหากลับไม่มาแก้ปัญหามาทำแค่ปัดๆ ออกไป ก็เตรียมใจด้วยว่าจะยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น นี่คือสิ่งที่รัฐบาลเลือก ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนเลือก ประชาชนพยายามเจรจาอย่างสันติมาตลอด

ทุกครั้งรัฐบาลบอกแต่ว่าอยากให้ทุกคนอยู่ในความสงบ อย่ามากีดกันปล่อยให้รัฐบาลทำงาน แต่เมื่อประชาชนมาช่วยชี้ว่าคุณต้องแก้ไขปัญหานี้ ก็ฟังแล้วแก้ แต่นอกจากไม่แก้ยังดึงดันว่าตัวเองถูก ถามว่าจะเอาสมาธิที่ไหนมาทำงานในเมื่อประชาชนไม่เอาด้วยกับคุณ เขาไม่ร่วมมือ แล้วมาบอกว่าม็อบมาอีกแล้วสร้างความเดือดร้อน เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขก็อย่าหวังว่าจะได้ทำงานอย่างสงบสุข

ประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องของทุกสังคมบนโลกใบนี้เป็นเรื่องปกติมาก หากความยุติธรรมไม่ดำรงอยู่ การแก้ปัญหายังไม่เกิด เพื่อให้เกิดทางรอดของสังคม รัฐบาลต้องสนใจฟัง รับและมานั่งคุยกันได้

สงสัยว่าทำไมท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย อาทิ นายชวน หลีกภัย ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก น่าจะฟังเสียงประชาชนได้ ท่านยังมีเวลาคิดหรือเชิญใครมาคุยเพื่อหาทางออก ไม่อย่างนั้นก็มีอย่างเดียวคือความรุนแรงที่ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

การที่รัฐบาลและส.ว.มีมติร่วมกันตั้งกมธ.ก่อนโหวตรับหลักการ เท่ากับติดชนวนการต่อต้านให้ลุกลามต่อไป และเท่ากับโหมไฟ ทำให้การเรียกร้องเพิ่มดีกรีไปเรื่อยๆ ทำให้ขบวนการต่อต้านใหญ่ขึ้น และการชุมนุมในเดือนต.ค.ก็จะดึงคนไปเพิ่มขึ้น

ส่วนแผนที่ออกมาจะเป็นการวางแผนลวงกันหรือไม่นั้นไม่รู้ รู้แต่คนอย่างนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็บอกว่าถ้าคิดว่าถูกหลอก ผมก็ถูกหลอกด้วย

การตั้งกมธ.สะท้อนว่ารัฐบาลให้ราคากับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมน้อยไป เรียกว่าไม่ทำอะไรเลย อีกฝ่าย ก็พยายามไปเรื่อยๆ ดังนั้นอย่าพูดเรื่องความรุนแรงเพราะไม่เชื่อว่าผู้ชุมนุมอยากสร้างความรุนแรง

แต่การชุมนุมจะขยายตัวทำให้คนกังวลและมองเห็นว่ารัฐบาลสร้างปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหา ทำให้การชุมนุมลุกลามเพิ่มขึ้น และข้อเรียกร้องจะ 20 ข้อหรือกี่ข้อ รัฐบาลก็ไม่สนใจสักข้อ และไม่บอกว่าข้อไหนทำได้ไม่ได้ แต่กลับบอกว่าชุมนุมได้ก็ชุมนุมไป ระวังโควิดระบาด

ที่ม็อบประกาศยกระดับการชุมนุมเดือนต.ค.และอาจยืดเยื้อ คิดว่าสถานการณ์จากนี้เมื่อถึงมือเด็ก ถึงนักเรียนแล้ว ถ้าขวางอีกกลุ่มเกษตรกรอาจเข้าร่วมด้วย รวมถึงพวกที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ จะทำให้การชุมนุมขยาย ไปอีก ก็อยากรู้ว่ารัฐบาลจะรับมือได้หรือไม่

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการตั้งกมธ. รัฐบาลเล่นแง่ ไม่จริงใจแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่อยากแก้เขาไม่เชื่อแล้ว เพราะไม่รู้จะไปได้แค่ไหน

แต่ต้องไม่ลืมว่าคะแนนไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ. 256 เสียง ซึ่งมีเสียงที่เป็นส.ส. 253 ถือว่าเสียงสภาล่างเกินครึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แสดงว่ารัฐบาลไม่ใช่เสียงข้างมาก ถือเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะจะพึ่งส.ว.อย่างเดียวไม่ได้

ตราบใดที่นายกฯไม่ขยับท่าที ก็จะเข้าเนื้อไปเรื่อยๆ หมายถึงผู้สนับสนุนก็จะลดลง เพราะเรื่องนี้เหมือนหลอกกัน ตอนแรกคาดว่าจะให้รับญัตติไปก่อนแล้วไปล้มวาระ3 ปรากฎว่าออกมารูปนี้คือตั้งกมธ. เท่ากับให้ไปลงมติในสมัยประชุมหน้า หากญัตติตกก็เท่ากับญัตติอื่นตกไปด้วย

แผนตั้งกมธ.เขาอาจนึกได้กะทันหัน แต่ทั้งที่รู้ว่าแผน อย่างนี้คนรับไม่ได้ยังกล้าทำอีก เป็นภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า ไม่เห็นศีรษะกันเลยหรือ

ตราบใดที่ฝ่ายต่อต้านไม่ใช้ความรุนแรงสถานการณ์ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย แต่จะทำให้คนวิตกกังวลตลอดว่าแต่ละวันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง รัฐบาลจะทำอย่างไรให้คนมีความหวังกับบ้านเมือง

เสถียรภาพรัฐบาลง่อนแง่นตั้งแต่ตอนตั้งแล้วจนต้องเอาหลายพรรคมาร่วม แต่จากนี้ก็จะลดลงเรื่อยๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน