อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งช่วยด.ช.ชาวบางกลอย วัย 3 เดือน พิการแต่กำเนิด เข้ารักษาที่รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี เดินหน้าแก้ปัญหา ‘คนกับป่า’ ครอบคลุมทั่วถึง

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเดือดร้อนของชาวบางกลอย ซึ่งเป็นเด็กวัย 3 เดือน พิการมาตั้งแต่กำเนิด ไม่สามารถกินนมได้ ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลมาโดยตลอด ไม่อยู่กับแม่เนื่องจากร่างกายแม่ไม่แข็งแรงนั้น

จากการตรวจสอบเด็กตามข่าว คือ ด.ช.เด็กชายยศกร บุญมี วัย 3 เดือน พ่อและแม่ของเด็ก คือ นายเซาะเคาพอ บุญมี เลขประจำตัวประชาชน 576080000xxxx และน.ส.ที้โอะมื่อ ลาเดาะ เลขประจำตัวประชาชน 576080000xxxx อยู่บ้านเลขที่ 48 บ้านโป่งลึก ม. 2 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ทั้งนี้ พ่อและแม่ของด.ช.ยศกร เป็นญาติกับเจ้าหน้าที่ อช.แก่งกระจาน ชื่อน.ส.กรรวีศศิร์ ลาเดาะ มีฐานะเป็นน้าของเด็กชายยศกร และทั้งหมดพักอาศัยอยู่ในบ้านพักของน.ส.กรรวีศศิร์ เจ้าหน้าที่ อช.แก่งกระจาน มาตั้งแต่ก่อนคลอดบุตรจนถึงปัจจุบัน นายเซาะเคาพอ บุญมี มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และถือครองที่ดินที่ได้รับการสำรวจถือครอง ตามมาตรา 64 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 11.39 ไร่ ส่วนน.ส.ที้โอะมื่อ ลาเดาะ เป็นแม่บ้านคอยดูแลลูกซึ่งมีจำนวนหลายคน ขณะนี้ด.ช.ยศกร บุญมี ได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี โดยใช้สิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐในเรื่องค่ารักษาพยาบาล

 

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแก่งกระจาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 7 สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เข้าไปดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

“ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหา “คนกับป่า” อย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยคำนึงถึงด้านความมั่นคงของชีวิต ในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ตาม มาตรา 64 แห่ง ด้านการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 65 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 นับตั้งแต่มีปัญหาพิพาท เมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่เคยมีมาตรการปิดกั้นความช่วยเหลือต่อชาวบ้านบางกลอย มีหน่วยงาน/องค์กร/ภาคประชาชน เข้ามาประสานให้ความช่วยเหลือในหลายด้านทั้งการบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องใช้ การพัฒนาพื้นที่เกษตร น้ำดื่ม น้ำใช้ การสาธารณสุข การป้องกันโรคระบาด (โควิด 19) หรือแม้กระทั่ง การช่วยเหลือทางกฎหมาย วิชาการ ข่าวสารสื่อแขนงต่าง ๆ รวมถึงการพึงพิงทรัพยากรธรรมชาติ เก็บหาของป่า เป็นต้น” นายธัญญา กล่าวและว่า

สำหรับเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง จะต้องตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ หากราษฎรต้องการความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การละเว้นหรือกระทำผิดกฎหมาย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยินดีให้ความร่วมมือและช่วยเหลือตลอดเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน