ภายใต้บทบาทภารกิจร่วมขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยมากว่า 44 ปี ‘สยามคูโบต้า’ ไม่เพียงเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีคุณภาพระดับแถวหน้า แต่ยังพัฒนาองค์ความรู้การทำเกษตรครบวงจร ‘KAS’ (KUBOTA Agri Solutions) ที่เข้ามามีบทบาทการทำเกษตรในแต่ละขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยผสมผสานการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าด้วยกันเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สยามคูโบต้าดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดและต่อยอดองค์ความรู้ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการทำอาชีพเกษตรยุคดิจิทัลแบบ ‘เกษตรแม่นยำและยั่งยืน’ สยามคูโบต้า จึงเดินหน้าปั้นเด็กไทยหัวใจเกษตรเป็นรุ่นที่ 8 ในกิจกรรม ‘KUBOTA Smart Farmer Camp 2022’ ในตอน ‘Fun Time Farm Tech’ ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2565 ที่คูโบต้าฟาร์ม อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ซึ่งตลอดกิจกรรมได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างดี นับเป็นการปูทางและสร้างแรงบันดาลใจสู่การเป็นเกษตรกรยุคใหม่ได้อีกทางหนึ่ง

บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชน ต่อยอดการเกษตรยุคดิจิทัล

ที่มาและความสำคัญของโครงการดังกล่าว นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เริ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรและทักษะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแก่เยาวชนตั้งแต่ปี 2543 ใช้ชื่อว่า ‘โครงการยุวเกษตร’ ก่อนเปลี่ยนมาเป็น ‘KUBOTA Smart Farmer Camp’

“คนรุ่นใหม่มีศักยภาพในการเรียนรู้เทคโนโลยีที่นำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในภาคการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการทำ Smart Farming หรือเกษตรอัจฉริยะ จากการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อเข้าอุปกรณ์ต่างๆ (IoT-Internet of Things) ซึ่งสามารถไปต่อยอดอาชีพด้านการเกษตรได้ คูโบต้าจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อคัดเลือกเยาวชนอายุ 18-22 ปี จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยปีนี้สมัครเข้ามาถึง 762 คน และทำการคัดเลือกน้องๆ ที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์จำนวน 100 คน มาเปิดโลกประสบการณ์จริงในการทำการเกษตรยุคใหม่”

‘KUBOTA Smart Farmer Camp 2022’ ในรูปแบบแคมป์เกษตรที่ผสมผสานทั้งการมอบองค์ความรู้ และเปิดโอกาสให้ลงมือทำจริง ตั้งแต่เรื่องนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ และการทำเกษตรกรรมหรือธุรกิจทางการเกษตร เพราะหลังจากปลูกและเก็บเกี่ยวแล้ว ยังต้องมีการแปรรูปผลผลิต การหาช่องทางจัดจำหน่ายซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการตลาดด้วยเช่นกัน รวมถึงมีการจัดกิจกรรมกลุ่ม เพื่อสร้างเครือข่ายตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ของภาคการเกษตร

“คูโบต้าดีใจและภูมิใจที่ได้มีโอกาสต้อนรับน้องๆ สู่แคมป์เกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนพื้นที่ 220 ไร่ ได้ความรู้ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเทคนิคต่างๆ การใช้เครื่องมือและแอปพลิเคชันเพื่อการเพาะปลูก มั่นใจว่าทุกคนกลับออกไปเป็นเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรง และช่วยกันต่อยอดภาคการเกษตรของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

ตะลุย 5 ฐานกิจกรรม ห้องเรียนที่อยู่นอกห้องเรียน

ตลอด 4 วัน 3 คืน เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ‘KUBOTA Smart Farmer Camp 2022’ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผสมผสานองค์ความรู้ KAS ด้วยการใช้เทคนิคการเพาะปลูกกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ผ่าน 10 โซนภายในคูโบต้าฟาร์ม อาทิ

โซนปรึกษาเกษตรครบวงจร’ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำเกษตร องค์ความรู้การออกแบบฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ ปัจจัยสภาพของดิน ความต้องการน้ำ และสภาพภูมิอากาศ

‘โซนเกษตรแม่นยำข้าวและพืชหลังนา’ ประกอบไปด้วยโซลูชั่นปลอดนาหว่าน, GNSS ระบบควบคุมทิศทางอัตโนมัติ, โดรนฉีดพ่นทางการเกษตร, แอปพลิเคชันปฏิทินการเพาะปลูก และการบริหารเครื่องจักรฯ ด้วยคูโบต้านวัตกรรมอัจฉริยะ KUBOTA Intelligence Solutions (KIS) สามารถระบุพิกัดและติดตามสถานะการทำงานของเครื่องจักรฯ แบบเรียลไทม์ และดึงข้อมูลรายงานออกมาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำเกษตร

‘โซนเกษตรทฤษฎีใหม่’ พื้นที่จำลองการเพาะปลูกที่น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

‘โซนวิจัยเกษตรครบวงจร’ วิจัยและพัฒนาด้วยนวัตกรรมเกษตรครบวงจร รวมถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพดิน

และโซนใหม่ล่าสุด ‘โซนนวัตกรรมพืชสวน’ เป็นการต่อยอดเรื่องการทำพืชผักสวนครัว และผลไม้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพและมูลค่าของผลผลิต

และที่เป็นไฮไลต์ เปรียบเหมือนการเรียนที่อยู่นอกห้องเรียน ก็คือ การได้ลงมือจริงผ่าน 5 ฐานกิจกรรมของ 10 โซน ได้แก่ โซนเกษตรแม่นยำข้าวและพืชหลังนา’ เรียนรู้การทำถาดเพาะกล้าด้วยมือ รวมถึงเทคนิคการบังคับโดรนการเกษตร และการฝึกใช้รถดำนาแบบนั่งขับ โซนเกษตรทฤษฎีใหม่’ การจัดสรรพื้นที่ คัดเลือกพืชเข้ามาปลูกเพื่อสร้างรายได้อย่างสูงสุด รวมถึงการนำ IoT เข้ามาช่วยบริหารจัดการดูแลการเพาะปลูก เช่น เครื่องตรวจวัดความชื้นในดิน มีการเสริมสร้างองค์ความรู้โดยการทำปุ๋ยหมักสูตรแม่โจ้ โซนเกษตรสมัยใหม่พืชไร่’ เรียนรู้การใช้เครื่องจักรฯ ติดอุปกรณ์ต่อพ่วง เครื่องปลูกอ้อย เพื่อลดแรงงานในการจ้างคน และเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตลอดจนแนะนำวิธีการและนวัตกรรมเกษตรต่างๆ ที่เหมาะสมเพื่อลดการเผาหลังจากเก็บเกี่ยว โซนนวัตกรรมการเกษตร’ เรียนรู้การใช้เครื่องจักรฯ ต่างๆ โดยลงมือขับจริง อาทิ แทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว รถขุด เป็นต้น

และ โซนเกษตรพืชสวน’ ได้สัมผัสกับเครื่องวัดความหวานของผลไม้ รวมถึงทดลองขับรถปลูกผักที่หลายคนบอกอย่างตื่นเต้นว่า เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก หลังจากที่ยกร่องแล้ว ก็ปลูกผักต่อได้ทันที ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยย่นระยะเวลาได้มาก เนื้อที่เพียง 1 ไร่ใช้เวลาเพียงไม่นาน อีกทั้งสะดวกง่ายดาย มีโปรแกรมตั้งระยะความห่างในการปลูกได้ นอกจากการลงพื้นที่ตามฐานกิจกรรมต่างๆ แล้ว ในห้องเรียนยังมีพี่ๆ วิทยากรมาให้ความรู้กันอย่างเต็มอิ่ม ไม่ว่าจะเป็นด้าน Agritech กับ ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง เจ้าของจันทร์เรืองฟาร์ม ผู้ผันตัวจากวิศวกรเคมีสู่การเป็นเกษตรกรสืบทอดมรดกสวนผลไม้ที่บ้านเกิด ยกระดับการทำเกษตรยุค 5G ด้วยเทคโนโลยี IoT ควบคุมได้ด้วยสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว ภญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์ หรือ พี่โซอี้ เจ้าของฉายานางฟ้าการตลาดดิจิทัล มาบอกเล่าประสบการณ์การทำตลาดออนไลน์ และเรื่องเทรนด์นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ‘Plant-based meat’ เนื้อสัตว์จำแลงที่ผลิตจากพืช โดย วิภู เลิศสุรพิบูล ซีอีโอ Meat Avatar

‘Fun Time Farm Tech’ ได้ความรู้คู่ความสนุก

ณัฐณิชา หนูจันทึก นักศึกษาคณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าอย่างตื่นเต้นว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการ ได้ค้นข้อมูลย้อนหลังแล้วได้เห็นกิจกรรมที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ก็รู้สึกสนใจ โดยเฉพาะหัวข้ออบรม เช่น การให้ความรู้เบื้องต้นเทคโนโลยีการเกษตร เนื่องจากวิชาที่เรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาหาร จึงต้องการเรียนรู้ด้านอื่นบ้าง

“เห็นว่ามีหัวข้อที่เกี่ยวกับ raw material ทั้งต้นทางและวิธีจัดการกับวัตถุดิบ มีเวิร์กชอปเกี่ยวกับธุรกิจ สอนแผนการตลาด ก็ยิ่งเพิ่มความสนใจ เพราะอาหารกับเกษตรอยู่ในหมวดใกล้เคียง สามารถนำไปปรับใช้ด้วยกันได้ จึงตัดสินใจได้ทันทีว่าจะเข้าร่วมโครงการนี้

“เมื่อมาแล้วก็ไม่ผิดหวัง ก่อนมาได้ฟังเรื่องของเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาการเกษตร และได้เห็นของจริงที่คูโบต้าฟาร์ม ตรงกับอาจารย์สอนในห้องเรียน การที่สยามคูโบต้าจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา จึงเป็นการให้ความรู้นอกห้องเรียน ทำให้ได้จับต้องของจริง รู้สึกประทับใจ สนุกทุกกิจกรรม ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่น่ารักๆ อาหารก็อร่อยด้วย”

ว่าที่บัณฑิตคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต เอกราช กระแสร์ลาภ เล่าว่า กำลังศึกษาชั้นปีที่ 5 และกำลังทำวิจัยเรื่องเทคโนโลยีการเกษตร รู้จัก ‘KUBOTA Smart Farmer Camp 2022’ จากอาจารย์ที่ปรึกษาเล่าให้ฟัง แล้วก็มีพี่ๆ คูโบต้าไปโรดโชว์ที่มหาวิทยาลัยด้วย

“เมื่อได้มาแล้ว ตรงกับที่คิดไว้ก่อนมามั้ย ต้องบอกว่าดีกว่าที่คิดไว้มาก ตั้งแต่บรรยากาศสบายๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ เป็นกันเองมากๆ ส่วนหัวข้อที่สนใจอยากมาสัมผัสของจริงก็คือ IoT ซึ่งเรียนจากมหาวิทยาลัย เมื่อมาคูโบต้าฟาร์ม ก็ได้เห็นว่า มีพื้นที่ให้ทดลองใช้จริงๆ แล้วก็ได้รับความรู้จากพี่วิทยากรของเจียไต๋ สอนวิธีการทำโรงเรือน การจัดการระบบต่างๆ แนะนำการปลูกพืชที่ได้ผลผลิตเร็ว เก็บเกี่ยวได้เร็ว จริงๆแล้วก็สนใจทุกหัวข้อ โดยเฉพาะการได้ไปตามฐานกิจกรรมต่างๆ”

บ้านเกิดของเอกราชอยู่ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนเขาเกิด คุณตาทำนาเอง แต่เลิกทำเพราะเหนื่อย เนื่องจากสมัยนั้นการทำนาไม่มีเครื่องทุ่นแรงเหมือนยุคหลังๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ปลูกและเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น

ความฝันของว่าที่บัณฑิตนวัตกรรมเกษตร หลังเรียนจบแล้วจะกลับบ้านเพื่อนำเทคโนโลยีไปพัฒนาในรูปแบบฟาร์มอัจฉริยะ พร้อมกับเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เกษตรกรคนอื่นๆ ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา

“ขอบคุณสยามคูโบต้าที่ทำให้นักศึกษาทั่วประเทศได้มาเรียนรู้การทำงานของจริงในฟาร์ม ได้ลงมือทำจริงๆ ทำให้ได้มีประสบการณ์ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมควบคู่ไปกับการจบการศึกษาในปีนี้ด้วย”

ขณะที่หนุ่มน้อยนักศึกษาปี 2 คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต จักรพงศ์ เลาหบุตร พกความตั้งใจเต็มร้อยมาเข้าแคมป์เกษตร เขาบอกว่า ทราบข่าวการจัดงานจากอาจารย์ที่คณะว่า
คูโบต้าจัดกิจกรรมเกี่
วกับการเกษตรยุคใหม่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ชวนเพื่อนๆ สมัครกันมา แต่ท้ายสุดเป็นเขาที่ได้รับคัดเลือกเพียงคนเดียว

“หลังจากมาแล้วก็ดีกว่าที่คิด ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ จากทั่วประเทศที่มีแนวคิดและสนใจทำธุรกิจเกษตรกรรมเหมือนกัน พี่วิทยากรให้ความรู้โดยแทรกความสนุกสนานทำให้ฟังแล้วไม่เบื่อ โดยเฉพาะเรื่องการขาย สอนว่ามีวิธีขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ แนะนำความสำคัญของโซเชียล รวมทั้งเรื่องขั้นตอนการติดต่อขอเงินลงทุนจากสถาบันการเงินว่าจะต้องเขียนอย่างไร เพื่อให้ได้รับการพิจารณา”

จักรพงศ์ได้มีโอกาสขับรถในฐานกิจกรรม ซึ่งมีครบสำหรับคนที่สนใจทำการเกษตรยุคใหม่จะต้องศึกษาเรียนรู้ เช่น รถขุด ได้ฝึกปลูกมันสำปะหลัง พร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิต และการขับรถดำนา

“ปกติถ้าเราดำนาเอง เวลาโยนเมล็ดพันธุ์ข้าวจะไม่ตรง ถ้ามากเกินก็จะแย่งสารอาหารกัน เมื่อก่อนเคยคิดว่าทำเกษตรเป็นอาชีพที่ลงทุนสูง เหนื่อย แต่สยามคูโบต้าทำให้รู้ว่าก็สะดวกสบายได้ มีเทคโนโลยีสำหรับควบคุมทุกอย่างเหมือนกับเราเป็นซีอีโอ ถ้ามีเงินลงทุนกับนวัตกรรมใหม่ๆ จะช่วยให้ประหยัดค่าจ้างแรงงาน จาก 10 คนอาจเหลือเพียงจ้างคนเดียวก็ได้

“ที่ผมเลือกเรียนคณะนี้เพราะชอบ ถึงแม้ว่าไม่ได้มาจากครอบครัวเกษตรกร แต่มีความคิดว่าการเกษตรปลูกต้นไม้น่าสนใจ เพราะความต้องการมีอยู่ตลอด ขอบคุณสยามคูโบต้าที่ดูแลดีมาก การเข้าค่ายอบรมเป็นเรื่องสนุกเหมือนได้เที่ยวด้วย”

ถึงจะเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ สุริยา นัดทะยาย ก็มุ่งมั่นมาเข้าร่วมกิจกรรม ‘KUBOTA Smart Farmer Camp 2022’ เพราะที่บ้านทำนาได้เพียงพอกินในครอบครัว เนื่องจากปัญหาน้ำมีน้อย จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย เขาต้องการนำความรู้จากคูโบต้าฟาร์ม ไปพัฒนานาข้าวที่บ้าน มั่นใจว่าจะช่วยให้เพิ่มผลผลิตได้

“หลังจากเข้าอบรม ได้เห็นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำนา ทำการเกษตร มีการวางแผน เก็บข้อมูลว่าต้องจัดการอย่างไร เริ่มจากตรงไหน เป็นขั้นตอน ทำให้เห็นปัญหาและวิธีแก้ไขแต่ละจุด เมื่อได้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย เหมือนกับจุดประกายให้คิดอยากกลับไปทำธุรกิจการเกษตรที่บ้าน

“การมาเข้าแคมป์ได้อะไรมากกว่าที่คิด ขอบคุณสยามคูโบต้าที่จัดกิจกรรมแบบนี้ ดีมากๆ ให้ความรู้ แชร์เทคนิคการทำเกษตร มีพี่ๆ มาให้คำแนะนำ แนะแนว เปิดโลกมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น”

สาวสวนยางพารา หัทยา มีสุขศรี นักศึกษาปี 4 คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เลือกเรียนเกษตรเพราะต้องการต่อยอดสวนยางพาราที่บ้านจังหวัดสงขลา

“รู้จักโครงการนี้จากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย สมัครเพราะอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีให้เราได้มา แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะได้เห็นนวัตกรรมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างรถปลูกผัก และรถที่สามารถโรยเมล็ดข้าวได้เอง เปรียบเทียบได้ว่าการทำนาแบบหว่านจะต้องใช้พันธุ์ข้าวกว่า 30 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าใช้รถที่เป็นเครื่องจักรจะใช้เพียง 6-8 กิโลกรัมเท่านั้น ช่วยลดต้นทุนได้มาก ได้เห็นเพื่อนบังคับรถเกี่ยวนวดข้าว ไม่ต้องใช้แรงคนเลย

“ข้อดีของเทคโนโลยีเครื่องจักรคือช่วยลดแรงงานคนได้มาก เพียง 1-2 คนก็สามารถควบคุมการทำงานได้หลายไร่ ทำให้ช่วยประหยัดค่าแรง ประหยัดเวลา ตามมาด้วยรายได้เพิ่มขึ้น”

สวนของหัทยามีเนื้อที่กว่า 10 ไร่ แต่ละวันกรีดน้ำยางสดได้ประมาณ 40-50 กิโลกรัม เธอตั้งใจว่าเรียนจบแล้วจะทำงานหาประสบการณ์ พร้อมกับเก็บเงินกลับมาทำสวนเกษตรผสมผสาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสวนยางพารา เนื่องจากสภาพภูมิอากาศภาคใต้เหมาะสมกับการปลูกยางพาราและปาล์ม และอาจจะมีร้านกาแฟเล็กๆ ในสวน

“โครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp 2022 ดีมากๆ ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้เจอเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัย จะกลับไปบอกเล่าประสบการณ์ให้รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน”

ทั้งหมดคือเสียงตอบรับจากเยาวชนส่วนหนึ่ง สะท้อนถึงความสำเร็จในการเปิดโลกเทคโนโลยีด้านการเกษตร ยุคดิจิทัลนอกห้องเรียน น้องๆ ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานตามแบบ ‘Fun Time Farm Tech’ นับเป็นการปิดฉากภารกิจปั้นเด็กไทยหัวใจเกษตร ‘KUBOTA Smart Farmer Camp 2022’ ได้อย่างประทับใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน