สปสช. เผยเจอโกงเงินบัตรทอง ล็อต 3 อีกจำนวน 106 แห่ง รวมทั้งหมด 188 แห่ง แจ้งความเรียกค่าเสียหายคืนทั้งหมด

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าว “สปสช.แจงยกเลิกสัญญา 64 คลินิก-รพ.เอกชนด้วยเหตุทุจริต” โดยนายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเอบริการสาธารณสุขเกินจริง

โดยระบุว่า จากการตรวจสอบคลินิกชุมชนอบอุ่น และ รพ.เอกชนพื้นที่ กทม. ที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช. ในการเบิกจ่าย เบื้องต้นพบว่ามีการนำสิทธิประชาชนมาแอบอ้างเบิกค่าใช้จ่ายโดยประชาชนไม่ได้เข้าใช้บริการจริง เป็นการจงใจสร้างหลักฐานเท็จ ถือว่าเป็นการทุจริต เป็นความผิดอาญา ซึ่งก่อนหน้านี้ตรวจพบและแจ้งความไปแล้ว 2 ล็อต คือ ล็อตแรก 18 แห่ง ล็อตที่ 2 อีก 64 แห่ง ล่าสุด ให้ สปสช.แจ้งความกับกองปราบปรามล็อตที่ 3 เพิ่มอีก 106 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 188 แห่ง และจะเรียกค่าเสียหายคืนทั้งหมด หากไม่คืนจะฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อ

นายจิรวุสฐ์ กล่าวว่า สปสช.มีความจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการที่พบการทุจริตทั้ง 188 แห่ง เนื่องจากในสัญญามีการเขียนไว้ชัดเจนว่า ถ้ามีการเบิกเท็จหรือไม่ถูกต้อง สปสช.มีอำนาจเลิกสัญญา เพราะฉะนั้น สปสช.ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ หากไม่ดำเนินการก็จะเข้าข่ายละเว้นไม่ปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ตาม การทุจริตที่ตรวจสอบพบยังเป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพียง 1 รายการ คือ รายการของกลุ่มโรคเมตาบอลิก จากที่มีทั้งหมด 18 รายการ และเป็นการตรวจสอบเฉพาะการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2562 ส่วนอีก 17 รายการจะทยอยตรวจสอบหลังจากตรวจสอบรายการที่ 1 เสร็จ อีกทั้งจะเสนอบอร์ด สปสช.ขยายการตรวจสอบการเบิกจ่ายโครงการนี้ย้อนหลังไปถึงปีงบประมาณที่เริ่มต้นโครงการ จะทำให้บอกได้ว่ามีการทุจริตเบิกจ่ายโครงการนี้ไปเท่าไร

“การดำเนินการทั้งหมดไม่ได้กลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติ แต่เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนและรัฐ เพราะจากการตรวจสอบพบรูปแบบการทุจริตที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน เช่น อ้างชื่อคนเพื่อเบิกเงินทั้งที่บุคคลนั้นไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือสร้างชื่อพนักงานบริษัทขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อมาเบิกจ่าย แต่พบว่ารายชื่อนั้นไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัท เป็นต้น นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบคลินิกทันตกรรมให้การรักษาบริการไม่ถูกต้องอีก 7 แห่งด้วย อยู่ระหว่างการตรวจสอบทั้งระบบเช่นกัน”

นายจิรวุสฐ์ กล่าวต่อว่า อนุกรรมการฯ ได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด เพื่อให้ข้อเสนอแนะ สปสช.ในการป้องกันปัญหาในอนาคต คือ 1.คณะทำงานดูความเสี่ยงทั้งหมดของระบบเบิกจ่ายเงิน และ 2.คณะทำงานดูระบบบริการทั้งหมด รวมถึงการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการต่างๆ และการเลือกคลินิกที่มีความมั่นใจ

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การตรวจสอบพบทุจริตในล็อตที่ 3 จำนวน 106 แห่ง มีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบอีกราว 9 แสน – 1 ล้านคน อยู่ระหว่างการประสานและดำเนินการเพื่อหาหน่วยบริการรองรับ ส่วนมูลค่าความเสียหายรวมทั้ง 3 ล็อตเป็นเงิน 195 ล้านบาท โดยทั้ง 188 แห่ง สปสช.ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาที่กองปราบปรามฯ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว

โดยแยกรายละเอียดเป็นรายหน่วยบริการ ฟ้องร้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายคืน ยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการ แจ้งสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และแจ้งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เข้าตรวจสอบตามกฎหมายสถานพยาบาล รวมทั้งจะขยายผลตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2561 ในช่วงที่ดำเนินโครงการนี้ด้วย สำหรับการดูแลผู้อยู่ในสิทธิบัตรทองที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น ล็อตที่ 1 ยกเลิกสัญญา 18 แห่ง กระทบราว 2 แสนคน ได้จัดหาให้เข้าสู่หน่วยบริการแล้ว

ล็อตที่ 2 ยกเลิกสัญญา 64 แห่ง กระทบราว 8 แสนคน ดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ 1. โรคที่ต้องอาศัย รพ.ในการดูแล เช่น ผ่าตัด คลอดบุตร ล้างไต มีรพ.ถูกยกเลิกสัญญา 6 แห่ง สปสช.ได้ประสานผู้ป่วยเพื่อแจ้งสถานพยาบาลที่จะได้รับบริการให้ทราบแล้ว โทร.สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 090-197-5271 หากยังมีข้อสงสัย

2. กลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ได้ประสานสำนักอนามัย กทม.ดูแลผู้ป่วยในระยะสั้นก่อน โดยเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น สปสช.ได้ส่งข้อมูลประวัติผู้ป่วยให้ศูนย์ในพื้นที่แล้ว

และ 3. โรคทั่วๆ ไป อาการเจ็บป่วยที่ไม่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เข้ารับบริการผู้ป่วยนอก จะถือเป็นสิทธิว่าง ได้รับวีซ่าพิเศษหากเจ็บป่วยสามารถเข้าหน่วยบริการบัตรทองได้ทั้งของรัฐและเอกชนที่ใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะหน่วยบริการจะเบิกมายังสปสช.เอง โดยส่งหนังสือถึงหน่วยบริการต่างๆ ทราบแล้ว

“การตรวจสอบพบทุจริตและยกเลิกสัญญาเฉพาะในพื้นที่ กทม. อีก 76 จังหวัดไม่ต้องกังวลยังใช้บริการ มีสิทธิบัตรทองของประชาชนอยู่ครบเหมือนเดิมและจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นตามสิทธิประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้น กรณีผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ใน กทม.หากได้รับการจัดหน่วยบริการใหม่ให้แล้วพบว่าไม่เหมาะสม สามารถเปลี่ยนเป็นหน่วยบริการที่ใกล้ได้ ขณะนี้สปสช.อยู่ระหว่างการเปิดรับหน่วยบริการรองรับในพื้นที่กทม.เพิ่มเติม” นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบในล็อตที่ 2 จำนวนราว 8 แสนคนนั้น 70% ไม่ได้เจ็บป่วย ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ส่วนอีก 30% ต้องมีมาตรการรองรับ เพื่อเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง จะเร่งดำเนินการจัดหาหน่วยบริการรองรับในพื้นที่กทม. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการดูแลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาต่อเนื่องแล้ว

แยกเป็น 1.ผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องรับยาต่อเนื่อง 2,166 คน ประสานเข้ารับบริการได้ที่สำนักงานบริการสาธารณสุข 37 แห่ง สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. 8 แห่ง รพ.ภาครัฐ รพ.มงกุฎวัฒนะ และรพ.แพทย์ปัญญา 2.ผู้ป่วยไต 295 คน กระทบจริงไม่เท่าไร 3.ผ่าตัดที่มีนัดล่วงหน้า 132 คน โทร.ประสานผู้ป่วยแจ้งสถานพยาบาลที่ให้เข้ารับการผ่าตัด

4.โรคเรื้อรัง เปิดให้เข้ารับยาต่อเนื่องได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยนำยาเดิมไปด้วย 5.ฝากครรภ์กว่า 5,000 ราย กำลังประสานหน่วยบริการในกทม.ว่ามีคลินิกฝากครรภ์วันไหนที่ไหนและประกาศให้ทราบ เพื่อให้ไปรับบริการได้ ส่วนการคลอดหากมีนัดผ่าตัดอยู่แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ประสานไป ส่วนกรณีคลอดฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการฉุกเฉินได้ทั้งหน่วยบริการบัตรทองภาครัฐและเอกชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน