FootNote : แผนสมคบคิด พลังประชารัฐ ประสานร่วมมือกับ 250 ส.ว.

เหมือนกับการร่วมมือกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว.ในการเสนอจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการ”ศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็น “ทางออก”

ก่อนจะลงมติไปในทางหนึ่งทางใดต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้ง 6 ฉบับที่อยู่ในรัฐสภา

กระนั้น สิ่งที่เรียกว่า “ทางออก”ก็มี “ปัญหา”ตามมา

ไม่เพียงแต่จะถูกมองจากสังคมว่า หนทางออกอย่างที่พรรคพลังประชารัฐสมคบคิดร่วมกับ 250 ส.ว.เช่นนี้ดำเนินไปภายใต้กลยุทธ์ เตะถ่วง หน่วงและซื้อเวลา

หากที่ล่อแหลมเป็นอย่างยิ่งก็คือ 1 ใน 6 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เป็นร่างอันได้ชื่อว่าเสนอโดยรัฐบาล อันเป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน

คำถามก็คือ การปฏิเสธต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมอันเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล ถือได้ว่ามากด้วยความอ่อนไหวในทางการเมือง

เพราะเท่ากับเป็นการปฏิเสธร่างของตนเองโดยอัตโนมัติ

ยิ่งกว่านั้น ท่าทีอันสำแดงออกเมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน ของพรรคพลังประชารัฐกับของ 250 ส.ว.สะท้อนให้เห็นเครือข่ายและความสัมพันธ์อันซับซ้อนยิ่งในทางการเมือง

เนื่องจาก 1 รากที่มาของ 250 ส.ว.มีความสัมพันธ์กับอำนาจของ คสช.อย่างแนบแน่น

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง

ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของพรรคพลังประชารัฐ ก็มิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคไปได้

ท่าทีที่สัมผัสได้จากการลงมติของส.ส.พรรคพลังประชารัฐและ 250 ส.ว.เมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมของ 2 คนนี้

นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ 250 ส.ว. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือ พรรคพลังประชารัฐ

ความรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงเป็นความรับผิดชอบที่มีความต่อเนื่องและยาวนาน

ต่อเนื่องไปถึงอนาคตของรัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องไปถึงชะตากรรมของรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน