30 ปี รัฐประหาร รสช. การแย่งอำนาจที่นำไปสู่การนองเลือด "พฤษภาทมิฬ"
30 ปี รัฐประหาร รสช. การแย่งอำนาจที่นำไปสู่การนองเลือด “พฤษภาทมิฬ” – BBCไทย
เมื่อพูดถึงการยึดอำนาจการปกครองโดย รสช.หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ สิ่งที่ผู้เขียนนึกถึงเป็นอย่างแรก คือ “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งเป็นเหตุการณ์อันเป็นผลพวงต่อเนื่องกันที่เกิดขึ้นในปีต่อมา
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะ รสช. นำโดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ หรือ บิ๊กจ๊อด บิดาผู้ล่วงลับของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ตอนนั้นผู้เขียนเพิ่งเริ่มทำงานข่าวได้เพียง 2 ปีเศษ ถือเป็นเหตุการณ์รัฐประหารครั้งแรกในชีวิตการเป็นผู้สื่อข่าว
แน่นอนว่าการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ ทั้งตัวผู้กระทำเอง ผู้ถูกกระทำ สื่อมวลชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ย่อมจะอดรู้สึกตื่นเต้นและหวาดหวั่นไม่ได้

ในการออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง จะด้วยความไม่คุ้นชินหรือเพราะเหตุอื่น หลังจาก “บิ๊กจ๊อด” อ่านแถลงการณ์ไปได้เพียงไม่กี่ประโยคก็เริ่มอ่านผิดและมีท่าทีตะกุกตะกัก แต่คงจะเข้าใจว่าแถลงการณ์ที่กำลังอ่านอยู่นั้น เป็นการอัดเทปเพื่อนำไปออกอากาศภายหลัง หารู้ไม่ว่ากำลังถ่ายทอดสด ดังนั้นแทนที่จะแก้ไขคำพูดให้ถูกต้อง แล้วก็อ่านหรือพูดต่อ พล.อ.สุนทร กลับหยุดชะงักไปประมาณ 1 วินาที ก่อนเงยหน้ามองกล้อง แล้วเอ่ยคำพูดไม่ต่างจากการออกคำสั่งต่อทหารผู้ใต้บังคับบัญชา ว่า “เอาใหม่”
- 30 ปี รัฐประหารของ “บิ๊กจ๊อด” เทียบการยึดอำนาจ ไทย-เมียนมา
- รัฐประหาร รสช. โดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ เปิดบันทึกรัฐบาลอังกฤษหลังปิดลับ 27 ปี
- ครบรอบ 28 ปีรัฐประหาร 23 ก.พ. จากพ่อสู่ลูก “คงสมพงษ์” ที่ยืนยง “ปกป้องราชบัลลังก์”

คณะ รสช.ใช้ กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สวนรื่นฤดี เป็นฐานที่มั่น ในช่วงก่อนจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี บรรดาผู้สื่อข่าวต้องไปนั่งเฝ้ากันอยู่รอบรั้วสวนรื่นฯ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำเพื่อรอติดตามความเคลื่อนไหวของแกนนำ รสช. ซึ่งนอกจากพล.อ.สุนทร แล้ว ยังมี “สุ-เต้-ตุ๋ย” คือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก (ตำแหน่งขณะนั้น)
บิ๊กจ๊อด เจ้าของฉายา “ชายเสื้อคับ” มีคติพจน์ประจำตัวว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” หลังจากนำการรัฐประหารแล้ว ก็ดูเหมือนจะปล่อยให้ “สุ-เต้-ตุ๋ย” มีบทบาททางการเมืองมากกว่าตัวเอง
และแม้หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ รสช.อ้างเพื่อยึดอำนาจ คือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ที่รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ถูกขนานนามว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” แต่ในภายหลัง รสช.ก็ไม่ได้ตามล้างตามเช็ดเล่นงานเอาผิดบุคคลในรัฐบาลชุดเก่าอย่างจริงจัง ทั้งพล.อ. ชาติชาย และนักการเมืองหน้าเดิม ๆ ยังกลับมารับเลือกตั้ง และร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับแกนนำ รสช.อีก อุณหภูมิการเมืองในยุคนั้นจึงไม่ค่อยร้อนแรงนัก

ตรงกันข้าม หลังจากรัฐบาลนายอานันท์ ลงจากตำแหน่ง หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรมที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี นำมาซึ่งกระแสต่อต้านว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. และเริ่มมีการชุมนุมประท้วงต่อเนื่อง นำมาซึ่งเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ

พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำการชุมนุมประท้วง ถูกจับกุมกลางที่ชุมนุมบนถนนราชดำเนินกลาง จากนั้นสถานการณ์ที่คุกรุ่นอยู่แล้วยิ่งปะทุรุนแรงขึ้น กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มก่อจลาจล จุดไฟเผาสถานที่ต่าง ๆ ยึดรถเมล์พยายามขับฝ่าแนวปิดล้อมของทหาร มีการยิงปะทะกันเป็นระยะตลอดทั้งวัน
ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ใช่ช่องทางสื่อสารในไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เป็นของหายาก เครื่องมือสื่อสารที่นักข่าวแทบทุกคนในยุคนั้นมีติดตัว คือ เพจเจอร์ พอสั่นหรือดังปี๊บ ๆ ก็ต้องวิ่งหาโทรศัพท์สาธารณะหยอดเหรียญกันจ้าละหวั่น ผู้สื่อข่าวบางคนรวมทั้งผู้เขียนได้รับแจกวิทยุสื่อสารไว้ใช้พูดคุยติดต่อกันในระยะใกล้ ๆ ด้วยข้อความสั้น ๆ
กลางดึกคืนนั้น ผู้เขียนและเพื่อนนักข่าวกลุ่มเล็ก ๆ แอบหลบกันอยู่ท่ามกลางความมืดในอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งริมถนนราชดำเนิน ด้านนอกอาคารระงมไปด้วยเสียงปืน เสียงทุบทำลายขว้างปาสิ่งของ เสียงทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมสลายตัว ขณะที่กำลังทหารรุกคืบจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปถึงโรงแรมรัตนโกสินทร์ และอาคารกรมประชาสัมพันธ์เก่าที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม
ผู้เขียนกับเพื่อน ๆ รออยู่จนหลังเที่ยงคืนไม่กล้าออกมา จนมีเสียงเรียกผ่านวิทยุสื่อสารจากนักข่าวรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่า “มารับแล้ว ออกมาได้” จึงได้ออกมาขึ้นรถกลับสำนักงาน
คนที่ผ่านเหตุการณ์ช่วงนั้นคงยังจำกันได้ ถึงภาพถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ที่พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง หมอบเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และหลังจากนั้นพลเอกสุจินดา ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์บ้านเมืองจึงคลี่คลายลง
นอกจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬแล้ว ย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 มีอีกเพียงครั้งเดียวที่พระมหากษัตริย์ทรงเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจน คือทรงมีกระแสพระราชดำรัสเพื่อยุติเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516
หลังพฤษภาทมิฬ มีอีกภาพหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้ติดตา เป็นภาพถ่ายด้านหลังของทหารกลุ่มหนึ่งถือปืนเดินเรียงแถวมุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยท่ามกลางกลุ่มควันขมุกขมัว มีการนำภาพนี้ไปพิมพ์เป็นโปสเตอร์ และเสื้อยืด พร้อมข้อความว่า “No More Dictatorship in Thailand”
ผ่านมาเกือบ 30 ปี คำกล่าวนั้น ยังไม่มีทีท่าว่าจะเป็นความจริง
และถึงวันนี้ หากวังวนความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดอีก ยังนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะจบลงอย่างไร