ก้าวไกล ชวนยูเอ็น ลงพื้นที่บางกลอย ฟ้องโลก กะเหรี่ยงถูกรังแก ชาวบ้านแฉ โดนจับรุนแรง ทั้งกดคอ ทั้งลากไปกับพื้น ส.ส.ชาติพันธุ์ ขนข้าวช่วย-มัดมือให้กำลังใจ

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 8 มี.ค. 64 พรรคก้าวไกล นำโดย นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะตัวแทนกรรมการบริหารและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อสัดส่วนชาติพันธุ์ ได้แก่ นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.ชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.ชาติพันธุ์ม้ง นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนภาคอีสาน นายทวีศักดิ์ ทักษิณ กรรมาธิการแรงงาน ส.ส.บัญชี่รายชื่อสัดส่วนแรงงาน รวมถึง นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้พิการ พรรคก้าวไกล เดินทางไปให้กำลังใจพี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงบางกลอย 30 คน ที่ถูกจับกุมและนำออกมาจากพื้นที่ป่า ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งชุมชนตนเองด้วยข้อหาคดีรุกป่าภายใต้ ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’

นายอภิชาติ กล่าวว่า วันนี้มาหาพี่น้องด้วยความห่วงใย ตั้งแต่ทราบข่าวว่ามีการจับกุมชาวบ้านเกิดขึ้นเราก็ประชุมกันเพื่อเตรียมการช่วยเหลือทันที โดยในตอนแรกทราบว่ามีผู้ถูกจับกุม 22 คน จึงมีการมอบหมายให้ ส.ส. 6 คนเตรียมใช้ตำแหน่งประกันตัว แต่เมื่อเย็นวานนี้ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวออกมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกคนได้รับอิสรภาพกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม พวกเราจำเป็นต้องมาเพื่อให้กำลังใจ และหากมีการคุกคามหรือควบคุมตัวอีก เราก็เตรียมพร้อมยืนเคียงข้างประชาชนเสมอเพราะพวกเรามาจากประชาชน

ประธานคณะกรรมาธิการที่ดินฯ กล่าวต่อไปว่า การใช้คดีความไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการจัดการปัญหากรณีนี้ สิ่งที่รัฐควรทำคือการใช้หลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนเผ่ามาแก้ไข ต้องใช้หลักเหตุผลและการมีส่วนร่วมไม่ใช่การใช้กฎหมายเฉพาะที่เป็นลบกับประชาชนหรือใช้ตรรกะของรัฐเองฝ่ายเดียวมาบังคับใช้แต่ต้องใช้กฎหมายที่เป็นบวกด้วย ซึ่งการใช้ความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่เป็นผลดีต่อทั้งประชาชนและตัวรัฐเอง

“นี่คือที่ที่พี่น้องอยู่มาแต่ดั้งเดิม สิทธิดั้งเดิมคือสิ่งที่ติดตัวพี่น้องมาตลอด ถ้าที่นี่คือลมหายใจของพี่น้องบางกลอย ก็จะถือเป็นลมหายใจของพรรคก้าวไกลด้วย เราพร้อมที่จะเคียงข้างพี่น้องจนกว่าปัญหาจะคลี่คลาย นอกจากนี้ เราทราบว่าได้มีการทำบันทึกข้อตกลงหรือ MOU ระหว่างชาวบางกลอยกับรัฐมนตรีมาแล้ว นี่คือการใช้หลักเหตุผลและเป็นทางออกเพราะเป็นการหาพื้นที่ตรงกลางในการพูดคุยกัน โดยให้มีคณะทำงานไปหาข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะต่างๆ ดังนั้นจึงควรปล่อยให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นได้ทำงานก่อน

แต่รัฐกลับเลือกที่จะฉีกทิ้งไป หากรัฐใช้วิธีการแบบนี้ก็ไม่มีทางที่ปัญหาจะถูกแก้ไขแน่ ซึ่งหากมองในด้านกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ก็ได้ให้การรับรองสิทธิตรงนี้ไว้ หรือ ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ มาตรา 64 ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พิสูจน์ว่าหากอยู่มาก่อนก็ต้องวัดแนวเขตให้ประชาชนให้ชัดเจนซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่รัฐควรต้องทำให้เกิดการพิสูจน์ พรรคก้าวไกลจึงเห็นด้วยกับแนวทาง MOU และการนำกกฎหมายที่เป็นคุณกับประชาชนมาใช้ ไม่ใช่การนำกฎหมายที่เป็นโทษ เพราะจะเป็นการสร้างบาดแผลและความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน”

ก้าวไกล เชิญ ยูเอ็น ลงพื้นที่บางกลอย

นายอภิชาติ ยังกล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่เป็นประธาน กมธ.ที่ดินฯ จึงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่กรรมาธิการ โดยในวันที่ 10 -11 มี.ค. จะมีการลงพื้นที่บ้านบางกลอยเพื่อหาข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายไม่ว่ารัฐหรือชาวบ้าน นอกจากนี้ยังได้เชิญตัวแทนจากสหประชาชาติ (UN)และสื่อมวลชน มาร่วมลงพื้นที่ด้วย เพื่อสื่อสารถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กับพี่น้องต่อชาวโลก เนื่องจากเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ทั่วโลกยอมรับว่าสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้และเพื่อยืนยันว่าวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยไม่ได้ทำลายป่า รวมถึงการกีดกันสิทธิพื้นฐานของประชาชนก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

ด้าน นายมานพ ได้กล่าวเป็นภาษาปกาเกอะญอซึ่งเป็นภาษาเดียวกับชาวบางกลอยก่อนจะแปลเป็นภาษาไทยอีกครั้ง สรุปความได้ว่า ในฐานะที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกันแม้ตนจะอยู่ทางเหนือ ก็อยากขอบคุณไปยังเครือข่าย #saveบางกลอย ชาวบ้านหนองหญ้าปล้องเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือกันทันที รวมถึงทีมทนายทุกคน ตอนนี้พี่น้องปกาเกอะญอทางเหนือตั้งแต่แม่ฮ่องสอนมาถึงเชียงใหม่ได้รวมข้าวสารได้กว่า 5,000 กิโลกรัม เตรียมที่จะนำมาช่วยเหลือชาวบางกลอยในวันที่ 11 มี.ค. เพราะเรารู้ดีว่าข้าวคือวิถีชีวิต ถ้าทำไร่ไม่ได้ก็ไม่มีข้าว เราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ แต่มีอะไรเราต้องแบ่งกันและให้กำลังใจกันก่อน และหลังจากนี้เราจะนำประเด็นต่างๆไปผลักดันต่อผ่านสภา

ทั้งประเทศมีชุมชนอยู่ในเขตอุทยานกว่า 4,000 ชุมชน บ้านผมก็อยู่ในเขตอุทยาน ชุมชนก็มีมาก่อนแล้วแต่ทำไมชุมชนแห่งนี้ต้องถูกกันออกมา ไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนเร้นหรือไม่ จึงต้องทำขนาดนี้” มานพตั้งข้อสังเกต

ขณะที่ นายณัฐพล กล่าวว่า กรณีนี้อาจเป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาส เป็นโอกาสที่พวกเราซึ่งอยู่ในท้องถิ่นดั้งเดิมจะได้กลับมาพูดเรื่องชาติพันธุ์และทวงสิ่งนี้กับรัฐบาลไทยที่บรรจุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 และได้ไปลงนามรับรองไว้ในปฏิญญาต่างๆกับสหประชาชาติว่าพี่น้องมีสิทธิในที่อยู่อาศัยในที่ดินชุมชนดั้งเดิม จึงต้องตั้งคำถามว่าการเข้ามาจับกุมชาวบางกลอยในครั้งนี้ได้คิดถึงประเด็นเหล่านี้หรือไม่ พวกเขาไม่ได้ทำลายป่าแต่แค่กลับบ้านไปทำกินตามวิถีดั้งเดิม ซึ่งรัฐต่างหากที่ต้องเป็นผู้ออกกฎหมายคุ้มครอง ในฐานะ ส.ส.ชาติพันธุ์ ของพรรคก้าวไกล พวกเรากำลังยกร่างกฎหมายชาติพันธุ์ขึ้นและจะเสนอต่อสภาเร็วๆนี้ หากรัฐสามารถออกเขตเศรษฐกิจพิเศษได้มากมาย พื้นที่พิเศษสำหรับพี่น้องชาติพันธุ์ก็ต้องมีได้เพื่อให้การกลับไปอยู่กับธรรมชาติเป็นเรื่องที่ทำได้

ชาวบ้านแฉ โดนจับรุนแรง ทั้งกดคอ กระชากไปตามพื้น

ในระหว่างการพูดคุย พี่น้องชาวบางกลอยยังได้เล่าเหตุการณ์วันที่มีการจับกุมชาวบ้านลำเลียงลงมาด้วยเฮลิคอปเตอร์ให้ฟังว่า เป็นการจับกุมด้วยความรุนแรง บางคนถูกมัดมือด้วยสายรัด หากอยู่เป็นกลุ่มก็จะถูกแยกออกมาคุมตัวเดี่ยวจนกว่าจะถูกลำเลียงออกมาหมด ซึ่งระหว่างนั้นมีทั้งกดคอ กระชาก ลากไปตามพื้น และภายหลังโดนคุมตัวพบว่าผู้ชายส่วนหนึ่งถูกโกนผมเกรียนด้วย

ต่อมา นายณัฐพล ในฐานะตัวแทนชาติพันธุ์ในประเทศ ระบุว่า ขอใช้พิธีกรรมแบบม้งในการผูกข้อมือ เพราะเวลาที่มีสิ่งเลวร้าย ชาวม้งจะจุดธูปเรียกเทวดา ฟ้า ดินธรรมชาติ ต้นไม้ และน้ำ ให้มาร่วมกันเรียกขวัญกำลังใจกลับมาให้แก่พี่น้องทุกคนและสาปแช่งกลับไปยังผู้ที่กระทำสิ่งชั่วร้ายด้วย

หลังจากนั้น ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ร่วมขบวนนำพี่น้องบางกลอยไปส่งที่ด่านป่าไม้เพื่อเข้าพื้นที่เนื่องจากการเข้าออกของชาวบางกลอยไม่สามารถทำได้ปกติ บางครั้งอาจต้องประสานหลายขั้นตอน ทาง ส.ส.จึงอาสาร่วมทางไปด้วยเพื่อส่งให้พี่น้องบางกลอยที่เพิ่งออกมาจากเรือนจำสามารถกลับเข้าหมู่บ้านบางกลอยล่างได้โดยสะดวก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน