‘ไอติม’ ซัด พปชร.-ส.ว. ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ มีสารพัดข้ออ้าง ท้า ปชป.-ภท. ต้องกล้าถอนตัวหากแก้ไม่ได้ หลังอ้างเป็นเงื่อนไขร่วมรัฐบาล

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2564 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ หรือไอติม ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ในฐานะแกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวถึงท่าทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในช่วงหลังสงกรานต์ ว่า ท่าทีรัฐบาลขยับขับเคลื่อนแก้รัฐธรรมนูญล่าช้ามาก สวนทางกับความตื่นตัวที่สูงขึ้นของประชาชน ตลอด 2 ปี ล่าช้าเพราะความไม่จริงใจ ถ้าวิเคราะห์ว่ารัฐบาลควรทำอย่างไร ต้องมองไปถึง 3 ส่วนนี้

คือ 1. ความจริงใจของกลุ่มส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และส.ว.มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ยื้อเวลาหลายครั้ง หยิบยกสารพัดข้ออ้างเช่นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ข้อ

2.อยากเห็นความกล้าหาญของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยที่พร้อมจะยืนยันว่ารัฐธรรมนูญต้องได้รับการแก้ไข และกล้าที่จะเอาการอยู่ต่อในรัฐบาลเป็นเดิมพันในการขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พูดเสมอว่าเป็นหนึ่งในเงื่อนไขร่วมรัฐบาล แต่พอมาถึงจุดสำคัญ ทั้งสองพรรคยังไม่เคยกล้าออกมาพูดชัดเจนว่า ถ้าไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ จะถอนตัวจากการเข้าร่วมรัฐบาล

3.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม จะเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ มักอ้างว่า เป็นเรื่องของสภาฯ แต่นายกฯ มักเข้าใจผิด เช่น เราอยู่ในระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี ดังนั้น ฝ่ายบริหาร กับนิติบัญญัติแยกออกจากกันไม่ได้อยู่แล้ว

“นายกฯ มีพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา บวกกับส.ว. ที่ตัวเองแต่งตั้งขึ้นมา จะบอกว่า ตัวเองขับเคลื่อนให้ไม่ได้ ผมว่ามันไม่จริงใจ แถมนายกฯเองเคยประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ไม่เห็นความพยายามในการเป็นผู้นำของนายกฯที่จะออกมาชี้แจงให้ชัดถึงไทม์ไลน์และกรอบเวลาในการแก้รัฐธรรมนูญ พอมีคนถาม นายกฯมักโบ้ยความรับผิดชอบ”

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า 3 ส่วนนี้ ต้องการความจริงใจ จากส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และส.ว. ต้องการเห็นความกล้าหาญของพรรคร่วมรัฐบาล และต้องการเห็นความรับผิดชอบของนายกฯ ในการเป็นผู้นำแก้รัฐธรรมนูญ หาก 3 สิ่งที่ตนเสนอยังไม่เกิดขึ้น แต่เกิดการยุบสภาฯ ก่อน โดยที่ยังไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ทางออก

ดังนั้น ต้องตัดทิ้งต้นตอปัญหาก่อนเพื่อให้เกิดกติกาที่เป็นธรรมให้ทุกพรรคได้เเข่งขันกันด้วยกติกาที่เป็นกลาง ทั้ง พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยและฝ่ายค้าน แข่งขันกันได้บนกติกาเดียวกัน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีส.ว.ในมือ หนุนหลังร่วมโหวตนายกฯได้ หรือมีส.ว.แต่งตั้งองค์กรอิสระได้ ตนจึงมองว่า การที่นายกฯจะลาออก หรือจะมีการยุบสภาฯ ไม่สามารถแก้วิกฤติได้ ถ้ายังไม่แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เป็นปัญหา

“สิ่งที่ต้องระวังคือความพยายามของพรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พยายามเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา 5 ประเด็น นอกจากไม่แตะต้นตอปัญหาเรื่องโครงสร้างที่มาอำนาจส.ว.แล้ว ยังมีของแถมแก้ระบบเลือกตั้งเพื่อให้ประโยชน์แก่พรรคตนเองด้วย ผมเกรงว่า ตรงนี้จะถูกใช้เป็นข้ออ้างว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราแล้ว” นายพริษฐ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน