องค์กรสิทธิมนุษยชน ยื่นผลักดันร่างพ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ ให้ผ่านวาระ 1 เพื่อไทย-ก้าวไกล ยันให้ความสำคัญ แทนคำขอโทษผู้สูญเสียทุกราย

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 ที่รัฐสภา ตัวแทนองค์กรสิทธิ์มนุษยชนภาคประชาชน ยื่นหนังสือผ่านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ

เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหาย และกำหนดให้ทั้ง 2 ข้อหานี้มีความผิดทางอาญา รวมถึงนำผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่มีส่วนสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว

ตัวแทนองค์กรฯ กล่าวว่า เรามีประสบการณ์ด้านการทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานและการอุ้มหาย เช่น กรณีที่จ.ปราจีนบุรี เป็นเวลา 12 ปีที่ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ทั้งยังต้องฟ้องร้องคดีเองและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการนำเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาสู่กระบวนการมีความยากลำบาก

ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดฐานความผิดที่ชัดเจนมากขึ้น สามารถสอบสวนสืบสวนได้อย่างอิสระ และเป็นมาตรการป้องกันสำคัญว่า การทรมานและการบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญาของไทย และบอกกับประชาคมระหว่างประเทศได้ว่า เราให้คำมั่นสัญญากับองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) และประเทศต่างๆ

ความผิดนี้เป็นความผิดอาญาสากล จึงมีความสำคัญที่ไทยจะต้องสร้างมาตรฐานกฎหมาย จึงอยากให้ส.ส.อภิปรายสนับสนุนและลงมติให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านวาระที่ 1 เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณารายมาตราและปรับปรุง นำร่างของส.ส.รวมกับร่างของกระทรวงยุติธรรมที่นายกฯ ได้เร่งรัดเข้ามาตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. โดยอยากให้ผ่านกฎหมายโดยเร็วและเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชนทุกคน

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยินดีให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งเป็นแนวทางที่ พท.ต่อสู้มาตลอด โดยเฉพาะการกระทำที่เกินกว่าเหตุในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากตราเป็นกฎหมายแล้ว อนุสนธิสัญญาระหว่างประเทศอีกหลายองค์กรยังให้ความสำคัญด้วย หลังจากอภิปรายในสภาแล้ว ในชั้นกมธ. จะทำความเข้าใจกับส.ส.พรรคให้ตรงกับความต้องการของประชาชน และให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด

ขณะที่นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เราต้องย้ำว่าการพิจารณาของสภา เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับที่ 3 ของวันนี้ ถือเป็นความคืบหน้าระดับหนึ่งบนพื้นฐานที่ว่า หากไม่เกิดกรณีที่ จ.นครสวรรค์ การกดดันของประชาชน รวมถึงการให้ข่าวของสถานทูตและตัวแทนประชาคมระหว่างประเทศ วันนี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่ยังมีคำถามอยู่ว่า พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ จะผ่านสภาหรือไม่

กฎมายฉบับนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 ร่าง คือ 1.ร่างของครม. 2.ร่างของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ 3.ร่างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) และ 4.ร่างของสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้กำชับส.ส.ทุกคนต้องเข้าที่ประชุมสภา และลงมติรับหลักการ เบื้องต้นพรรคก้าวไกลจะรับทั้ง 4 ร่าง แต่ในรายละเอียดพบว่ามีบางร่างที่ไม่ตอบโจทย์ที่จะนำไปสู่ความเป็นอิสระหรือกระบวนการตรวจสอบการทรมานที่เป็นจริง โดยพรรคก้าวไกลจะผลักดันให้ร่างของนายสิระ เป็นร่างหลัก แต่จะให้เป็นร่างหลักอย่างไรนั้น ต้องพูดคุยกันอีกครั้ง พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เราต้องการเสียงสนับสนุนของ ส.ส.ทุกคนในการรับหลักการและเร่งพิจารณา เราต้องการให้กฎหมายฉบับนี้แทนคำขอโทษต่อผู้สูญเสียทุกรายในอดีตที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน