โอมิครอนครองในไทยแล้ว 80 % คาดสิ้นม.ค.แทนเดลตา คนติดเชื้อซ้ำ-เป็นโอมิครอน 100% สะท้อนภูมิเก่ากันไม่ได้ กลุ่มอาการรุนแรงและเสียชีวิตยังเจอเดลตาสูงถึง 2 เท่า

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในไทย ว่า ขณะนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบเชื้อโอมิครอนแล้ว หรือพบทุกพื้นที่แล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 – 20 ม.ค. 2565 พบโอมิครอนสะสม 10,721 ราย จังหวัดที่พบโอมิครอนสูงสุด 10 จังหวัด คือ กทม. 4,178 ราย , ชลบุรี 837 ราย , ภูเก็ต 434 ราย , ร้อยเอ็ด 355 ราย , สมุทรปราการ 329 ราย , สุราษฎร์ธานี 319 ราย , กาฬสินธุ์ 301 ราย , อุดรธานี217 ราย , เชียงใหม่ 214 ราย และขอนแก่น 214 ราย โดยสมุทรปราการและเชียงใหม่ถือว่าพบเพิ่มขึ้น ภาพรวมแนวโน้มถือว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ช่วงแรกสัดส่วนอาจไม่เป็นตามความเป็นจริง เพราะเน้นการตรวจผู้ที่มาจากต่างประเทศ และในประเทศตรวจในกลุ่มที่สัมผัสเสี่ยงสูงคนติดเชื้อจากต่างประเทศ

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เราจึงมีการสุ่มตรวจให้สะท้อนความเป็นจริง โดยแต่ละเขตสุขภาพจะตรวจผู้เดินทางจากต่างประเทศและเดินทางผ่านชายแดนที่นำเชื้อเข้ามาทุกราย ส่วนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศเราสุ่มจากผู้มีผลบวกในแต่ละวันเพื่อสะท้อนภาพรวมประเทศ คลัสเตอร์การระบาด กลุ่มที่ได้วัคซีนครบแล้วป่วย กลุ่มที่มีอาการเสียชีวิต บุคลากรการแพทย์ และคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น รวม 140 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ ซึ่งเรามีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ตรวจแห่งละ 140 ตัวอย่าง และส่งมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวครึ่งหนึ่ง โดยข้อมูลช่วงวันที่ 11-17 ม.ค. จำนวน 3,711 ตัวอย่าง ภาพรวมพบโอมิครอน 86.8% เมื่อแยกดูตามกลุ่ม พบว่าเฉพาะคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,437 ตัวอย่าง พบโอมิครอน 96.9% ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ในประเทศตรวจ 2,274 ตัวอย่าง พบเป็นโอมิครอน 80.4% เดลตา 19.6% ถือเป็นสัดส่วนที่น่าจะใกล้ความเป็นจริงในภาพรวมของประเทศ

หากดูตามสัดส่วนจะพบว่า กลุ่มตัวอย่างเพื่อสะท้อนภาพรวมทั้งประเทศ 727 ตัวอย่าง พบโอมิครอน 83.77% เดลตา 16.2% , คลัสเตอร์ใหม่ 700 ตัวอย่าง พบโอมิครอน 84.86% เดลตา 15.1% , กลุ่มที่มีอาการรุนแรงเสียชีวิตทุกราย 61 ตัวอย่าง พบโอมิครอน 67.21% เดลตา 32.8% , กลุ่มที่รับวัคซีนตามเกณฑ์ครบ 358 ตัวอย่าง พบโอมิครอน 72.35% เดลตา 27.7% , บุคลากรทางการแพทย์ 59 ตัวอย่าง พบโอมิครอน 74.58% เดลตา 25.4% , ลักษณะอื่นๆ ที่สงสัยไวรัสพันธุ์ใหม่ เช่น CT ต่ำกว่าปกติ 361 ตัวอย่าง พบโอมิครอน 75.9% เดลตา 24.1% และกลุ่มที่เคยติดเชื้อมาก่อนหรือติดซ้ำ 8 ตัวอย่าง พบ 100%

“ภาพรวมของการสุ่มในคนทั่วไปที่ติดเชื้อเราพบเดลตาเหลือ 15% แต่มีบางกลุ่มที่สัดส่วนเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น กลุ่มรุนแรงหรือเสียชีวิตพบเดลตา 33% หรือ 2 เท่าของกลุ่มแรก อันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตาชัดเจน บุคลากรทางการแพทย์ยังเจอเดลตา 25% อาจเพราะรับวัคซีนเข็ม 3-4 ทำให้โอมิครอนที่อาจหลบได้ หลบได้ยากขึ้น ส่วนคนติดเชื้อซ้ำ 8 รายเป็นโอมิครอน 100% ทั้งนี้ คนติดเชื้อเดลตาเดิมมักไม่ป่วยเดลตาซ้ำ เพราะภุมิค่อนข้างสูงต่อสายพันธุ์ที่ติดเชื้อ แต่ยังติดซ้ำด้วยโอมิครอนได้ หมายความว่าภูมิจากเชื้อเดิมๆ กันโอมิครอนไม่ได้” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ในเชิงพื้นที่ตามเขตสุขภาพต่างๆ หลายเขตสุขภาพพบโอมิครอนขึ้นไปถึง 70-80% ที่เพิ่มเยอะคือเขตสุขภาพที่ 4 , 6 , 7 พบเกือบ 90% และเขต 13 กทม. 86% ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน ที่เหลือลดลงไป ส่วนเขต 12 หรือชายแดนใต้ ครึ่งหนึ่งเป็นเดลตา ดังนั้นพื้นที่นี้มีลักษณะชุมชนแตกต่างจากที่อื่นๆ เช่น ไม่มีสถานบันเทิงมากนัก และไม่มีการรั่วมาจากมาเลเซีย คนมาจากต่างประเทศก็ไม่ได้ไปในพื้นที่มากมาย ทำให้เป็นเดลตาค่อนข้างมากครึ่งหนึ่ง แต่ในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยโอมิครอนอยู่ดี

“ข้อสรุปการเฝ้าระวังโอมิครอนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การระบาดสายพันะนี้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็ว คนที่มาจากต่างประเทศสูงถึง 97% เป็นโอมิครอน ใครมาจากต่างประเทศอาจไม่ต้องตรวจแล้ว สันนิษฐานเป็นโอมิครอน ส่วนในไทยพบประมาณ 80% อาการรุนแรงและเสียชีวิตเกิดจากเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นอย่าสันนิษฐานว่าติดเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง แต่อาจเจอเดลตาแทนได้ กลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำเกิดจากโอมิครอน เพราะฉะนั้นจะเห็นข้อมูลออกมาเรื่อยๆ อย่างข่าวนักการเมืองใหญ่บอกฉีดวัคซีนแล้ว เคยติดเชื้อแล้ว ยังเป็นโอมิครอนซ้ำได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโอมิครอนหลบวัคซีนได้ วัคซีน 2 เข็มก็อาจจะไม่เพียงพอกันการติดเชื้อ และคาดว่าสิ้นเดือน ม.ค. ภายในประเทศโอมิครอนอาจขึ้นไปเท่ากับคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และเดลตาจะหายไปในที่สุด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวยังดำเนินการต่อไป แต่อาจลดลเพราะรู้ว่ายังเป็นโอมิครอนเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังทำอยู่เพื่อดูว่าโอมิครอนในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ อาจจะมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม คนเดินทางมาจากต่างประเทศก็ต้องทำเพื่อเฝ้าระวังป้องกัน อาจเจอสายพันธุ์อื่นๆ และในประเทศแม้แต่เดลตาเดิม เราก็พบเดลตาที่มีปัญหามากขึ้นเช่นกันจึงต้องเฝ้าระวังต่อไป นอกจากนี้ เรายังต้องอยู่กับโอมิครอนถ้าเขาไม่มีความรุนแรงมากนัก ทุกอย่างอาจจะง่ายขึ้นในการดำเนินการ และยังสนับสนุนฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไม่ว่าสูตรไหนจะลดการระบาดของเชื้อโอมิครอน ลดอาการหนักและเสียชีวิตได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน