ศบค.เผยขออย่าตื่นโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 สามารถตรวจด้วย ATK และ RT- PCR ได้ กิจกรรมรวมกลุ่ม-กินอาหารร่วมกัน ยังเป็นสาเหตุแพร่เชื้อ

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 28 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า หลายท่านมีความตื่นตระหนกกับโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ทางกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำยังไม่มีรายงานชัดเจนที่น่าเป็นห่วง

และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ติดตามสถานการณ์โลก ติดตามผู้ติดเชื้อในประเทศอย่างใกล้ชิด แม้จะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในไทยเกิน 14 ราย แต่ในเบื้องต้นยังไม่พบความแตกต่างทางพันธุ์กรรมมากมายจากโอมิครอนเดิม แม้ต่างชาติจะระบุตรวจหาเชื้อดังกล่าวได้ยาก แต่กรมวิทยฯยืนยันว่า ยังสามารถตรวจสายพันธุ์ดังกล่าวได้จาก ATK และ RT-PCR ซึ่งเป็นมาตรฐานสาธารณสุขของไทยได้ตามปกติ

โดยเราจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและนำมารายงานให้ทราบโดยตลอด สำหรับพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวกันนี้ 8,450 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,191 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,153 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 38 ราย มาจากเรือนจำ 48 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 211 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,484 ราย อยู่ระหว่างรักษา 83,698 ราย อาการหนัก 528 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 102 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 28 ราย

โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย 17 ราย หญิง 11 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 23 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,415,472 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,309,648 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,126 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 366,694,287 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,656,642 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า สำหรับยอดการฉีดวัคซีนวันที่ 27 ม.ค.เพิ่มขึ้น 465,154 โดส ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 114,087,421 โดส โดยเป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 สะสมเพียงร้อยละ 19.3 ของจำนวนประชากร จึงอยากเชิญชวนเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อป้องกันโอมิครอน และเมื่อดูจากข้อมูลมีถึง 7 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนประชาชนทั่วไปไม่ถึง 60% ของจำนวนประชากร ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน ตาก ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และมี 3 จังหวัดที่ฉีดผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ได้ไม่ถึง 60% ของจำนวนประชากร ได้แก่ ปัตตานี ราชบุรี และกาญจนบุรี

อย่างไรก็ตาม ทางศบค.เน้นย้ำประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีน หากประชาชนคนไหนไม่สะดวกเดินทางไปฉีดที่สถานที่ฉีดวัคซีน ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาอำนวยความสะดวกสำหรับการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนด้วย

ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,292 ราย สมุทรปราการ 743 ราย นนทบุรี 499 ราย ชลบุรี 446 ราย ภูเก็ต 379 ราย ปทุมธานี 245 ราย ราชบุรี 239 ราย นครราชสีมา 192 ศรีสะเกษ 182 ราย ลพบุรี 168 ราย

ส่วนคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังยังเป็นเหมือนเดิมคือคลัสเตอร์ร้านอาหาร โรงเรียน ตลาด โรงงาน สถานประกอบการ พิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งในส่วนของพิธีกรรมทางศาสนานั้นไม่ได้ติดเชื้อจากการร่วมพิธีกรรม แต่เป็นการติดเชื้อภายหลังพิธีกรรมที่มีการทานอาหารร่วมกัน มีการเล่นการพนัน จึงฝากผู้ว่าราชการจังหวัดเข้มงวดในการรวมกลุ่มคนด้วย

ขณะที่คลัสเตอร์โรงเรียนมีการพบในหลายจังหวัด ประกอบด้วย ราชบุรี, น่าน, เพชรบุรี, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ร้อยเอ็ด, สมุทรปราการ, หนองคาย, ยโสธร, เลย, ศรีสะเกษ และจากการตรวจสอบทุกโรงเรียนเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และบุคคลากรในโรงเรียนก็ได้รับการฉีดวัคซีน แต่สาเหตุที่มีการแพร่ระบาดมาจากกิจกรรม เช่น การแข่งกีฬา การปัจฉิมนิเทศที่ทานอาหารร่วมกัน

และจากการวิเคราะห์โรงเรียนแห่งหนึ่งที่จ.ราชบุรี ที่เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน มีนักเรียน 570 คน อนุญาตให้กลับบ้านช่วงปีใหม่และให้กลับมาเรียนช่วงวันที่ 14-16 ม.ค. ตรวจ ATK ครั้งแรกผลเป็นลบหมด แต่เมื่อตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 23 ม.ค. พบเป็นบวก 120 ราย ทางจังหวัดจึงส่งทีมควบคุมโรคแยกผู้สัมผัสเสี่ยงสูงออกมา ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 311 ราย รักษาที่โรงพยาบาล 26 ราย รักษาโรงพยาบาลสนาม 285 ราย

จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อมาจากกิจกรรมรวมกลุ่ม ทาง ศปก.ศบค.อยากให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุด จึงต้องเน้นย้ำมาตรการป้องกันโควิดในสถานศึกษาตามที่กำหนดไป และอาจให้นำมาตรการสมอลบับเบิลเหมือนที่โรงงานต่างๆแยกการรวมกลุ่มของพนักงานเป็นแผนกๆมาปรับใช้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน